เลือดข้น “คนชินวัตร” 10 คดี เข้าข่ายทุจริต เส้นทางสู่ศาล-ราชทัณฑ์ ?

“ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี รอดคดีไปอีก 1 คดี หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกฟ้องในคดีที่ร่วมทุจริตอนุมัติให้ธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อให้แก่บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานคร จำนวน 9 พันล้านบาท ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย

โดยคำพิพากษาศาลฎีกาฯ ระบุตอนหนึ่งว่า “พยานหลักฐานของโจทก์ (อัยการสูงสุด) ที่ไต่สวนมา ยังไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 (ทักษิณ) สั่งการผ่านจำเลยที่ 2-4 ให้อนุมัติสินเชื่อให้จำเลยที่ 19 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1”

คดีปล่อยกู้กรุงไทย เป็น 1 ใน 4 คดี ที่อัยการสูงสุดฟื้นคดีให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิจารณาลับหลังจำเลยได้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง 2560

โดยคดีที่ศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว 3 คดี ประกอบด้วย

1.คดีทุจริตปล่อยกู้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยให้กับรัฐบาลเมียนมา วงเงิน 4,000 ล้านบาท ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุก 3 ปี

2.คดี ป.ป.ช.ยื่นฟ้องกล่าวหาร่วมทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา

3.คือคดีปล่อยกู้กรุงไทย ให้กฤษฎามหานคร 9 พันล้าน ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง

ส่วนคดีที่ 4 “ทักษิณ” ยังรอลุ้นชะตากรรมจากคำพิพากษาอยู่คือ กรณีที่ถูกกล่าวหาว่าออกกฎหมายแก้ไขสัมปทานโทรศัพท์มือถือ-ดาวเทียมเป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อธุรกิจบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท

แต่สำหรับคดีในเครือญาติ-เครือข่าย “ทักษิณ” ยังไม่พ้นเคราะห์ ยังมีอีกหลายคดี ที่หน่วยงานเจ้าของเรื่อง ยังเดินหน้าเอาผิด เพื่อส่งศาลพิพากษา

ในส่วนคดีปล่อยกู้กรุงไทยฯ แม้ว่า “ทักษิณ” จะพ้นวิบากกรรม เพราะศาลฎีกาฯตัดสินยกฟ้อง แต่คดีของบุตรชาย “พานทองแท้ ชินวัตร” ยังไม่ถึงตอนจบ เพราะยังต้องต่อสู้คดีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เรื่องคดีความผิดฐานฟอกเงิน

อันสืบเนื่องจากคดีทุจริตปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้แก่กลุ่มกฤษดามหานคร เนื่องจากปรากฏชื่อเป็นผู้รับเช็คจาก นายวิชัย กฤษดาธานนท์ อดีตผู้บริหารเครือกฤษดามหานครซึ่งศาลได้กำหนดวันนัดสืบพยานคู่ความคือ ฝ่ายอัยการและฝ่าย”พานทองแท้” ในฐานะจำเลย ในวันที่ 24-26 ก.ย.ที่จะถึงนี้ และ “นัดอ่านคำพิพากษา” 25 พ.ย. เวลา 10.00 น.

หันมาที่คดีซึ่งอยู่ในการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ซึ่ง น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ออกมาเปิดเผยความคืบหน้า คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ลอตสอง อยู่ระหว่างไต่สวน กันบุคคลไว้เป็นพยานและแจ้งข้อกล่าวหา

เปิดชื่อผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาที่จำแนกเป็น 5 กลุ่ม โฟกัสที่กลุ่มนักการเมือง มี 5 ราย ได้แก่ 1.นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ 2.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 3.นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ส.ส.

4.พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขานุการ รมว.พาณิชย์ 5.นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

มีชื่อ “ยิ่งลักษณ์-เยาวภา” ต่างเป็น “น้องร่วมสายเลือด” “ทักษิณ” เข้าข่ายทุจริต

“ยิ่งลักษณ์” ยังมี 6 คดีสำคัญใน ป.ป.ช. นอกเหนือจำนำข้าวลอต 2

คือ 1.กรณีจ่ายเงินเยียวยาผู้ชุมนุมทางการเมืองระหว่างปี 2548-2553 โดยไม่มีกฎหมายรองรับของรัฐบาล ซึ่ง ป.ป.ช.ได้แจ้งข้อหาผู้ที่เข้าข่ายเกี่ยวข้อง และอยู่ระหว่างสรุปสำนวน

2.คดีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติโดยมิชอบ

3.คดีละเว้นไม่ลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชา กรณีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย กับพวกปราศรัยแบ่งแยกประเทศ

4.คดีปล่อยให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงาน “มวยมาเก๊า” ผ่านช่อง 11

5.คดีร่ำรวยผิดปกติ กรณีครอบครองนาฬิกาเรือนละ 2.5 ล้านบาท

6.คดีร่ำรวยผิดปกติกรณีเกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำข้าว

รวม 10 คดี ของ “ทักษิณ” เครือญาติยังคงตามหลอน “ชินวัตร” ต่อไป