2 ทศวรรษ โทษประหาร “ยุบพรรค” 5 พรรคชะตาขาด อนาคตใหม่จ่อคิว ?

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติ 5 ต่อ 2 ส่งศาลรัฐธรรมนูญ “ยุบ” พรรคอนาคตใหม่ จากกรณีเงินกู้ 191 ล้านบาทเป็นเหตุ

แต่นั่น…เป็นเพียงแค่ “ยกแรก” เพราะศาลรัฐธรรมนูญยังต้องรับคำร้อง และลุ้นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะ “เปิดไต่สวน” หรือไม่

แม้ข่าวลือหนาหูว่า “อนาคตใหม่” จะสิ้นชีพถูกยุบไม่เกินกลางเดือน ม.ค. 2563 ก่อนผลัดใบให้ 5 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเซตใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างรับรองชั้นวุฒิสภา เข้ามาประจำการ

อนาคตใหม่…ยังต้องรออนาคตชอตแรก เรื่องการเปิดไต่สวนชึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ 9 ตุลาการ

แต่ถ้าย้อนอดีตสถิติการยุบพรรคในรอบ 2 ทศวรรษ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 สถาปนาอำนาจ “ยุบพรรค” ให้ศาลรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่า ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคใหญ่ที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประจำการในสภาแล้ว 5 พรรค

1.พรรคไทยรักไทย ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 9 ต่อ 0 ยุบพรรค เมื่อ 30 พ.ค. 2550 พร้อมกับให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารมีกำหนด 5 ปี จากข้อกล่าวหาการจ้างวานพรรคเล็ก พรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย และพรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย ลงสมัครรับเลือกตั้งช่วยเหลือพรรคไทยรักไทยหนีเกณฑ์ 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในที่มีผู้สมัครคนเดียว

2.พรรคพลังประชาชน 3.พรรคมัชฌิมาธิปไตย และ 4.พรรคชาติไทย ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรค ในวันที่ 2 ธ.ค. 2551 จากกรรมการบริหารพรรคถูกใบแดงกรณีทุจริตเลือกตั้ง (ในกรณีพลังประชาชน และมัชฌิมาธิปไตย ศาลมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ขณะที่ชาติไทย ศาลมีมติ 8 ต่อ 1 ให้ยุบพรรค)

5.พรรคไทยรักษาชาติ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 9 ต่อ 0 ให้ยุบพรรค เนื่องจากเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค(แม้ไม่มี ส.ส.ในสภา แต่ถือเป็นพรรคหลักในการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 62)

และไม่ยุบ 7 พรรคที่ถูกชงขึ้นศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย

พรรคประชาธิปัตย์ถูกชงให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคถึง 3 ครั้ง แต่ไม่ถูกยุบ เหตุการณ์ยุบพรรคครั้งแรก เกิดขึ้น 30 พ.ค. 2550 วันเดียวกับการยุบพรรคไทยรักไทย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 9 ต่อ 0 ไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์
พ้นผิด 4 ข้อหาที่อัยการสูงสุดยื่นให้ยุบพรรค 1.ร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยล้มล้างรัฐบาล 2.จ้างบุคคลไปสมัครเข้าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าเพื่อให้ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตพื้นที่ จ.ตรัง เพื่อใส่ร้ายพรรคไทยรักไทย 3.ขัดขวางการลงสมัครรับเลือกตั้งใน จ.สงขลา และ 4.จ้างพรรคชีวิตที่ดีกว่าใส่ร้ายพรรคไทยรักไทย

พรรคประชาธิปัตย์เข้าสู่โซนยุบพรรคครั้งสอง ปี 2553 จาก 2 กรณี 1.ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 4 ต่อ 2 ไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ 29 พ.ย. 2553 กรณีใช้เงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง 29 ล้านบาท ผิดวัตถุประสงค์ เนื่องจาก กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลเกินกว่าเวลาที่กฎหมายกำหนดภายใน 15 วัน นับจากที่ กกต.มีมติ กระบวนการยื่นยุบพรรคจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

2.ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 4 ต่อ 3 เมื่อ 9 ธ.ค. 2553 ไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ จากกรณีพรรคประชาธิปัตย์รับเงินบริจาคจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) 258 ล้านบาท ช่วงการเลือกตั้งปี 2548 โดยไม่แจ้งต่อ กกต.

แต่เนื่องจากนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่ทำความเห็นยุบพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนให้อัยการสูงสุดยื่นยุบพรรค ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติยกคำร้อง เพราะศาลเห็นว่าการยื่นยุบพรรคข้ามขั้นตอนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ไม่ชอบด้วยวิธีปฏิบัติ

ส่วนการยุบพรรค พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล พรรคมหาชน และพรรคประชาธิปไตยใหม่ ถูกกลุ่ม 40 ส.ว.ยื่นยุบพรรคพร้อมกันจากกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เรื่องแก้ไขที่มา ส.ว.เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ในมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ 2559 โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเข้าข่ายการกระทำดังกล่าว แต่ไม่ยุบทั้ง 6 พรรค

2 ทศวรรษที่ศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นมีเพียง 5 พรรคที่ชะตาขาด อนาคตใหม่อาจกลายเป็นพรรคที่ 6