“บิ๊กตู่”ฮึ่ม! ทุจริต9101โทษหนัก เกษตร-มท.ปูพรมสอบเข้ม9จังหวัด

“บิ๊กตู่” ขู่ลงโทษหนัก หากทุจริตโครงการ 9101 สั่ง “บิ๊กฉัตร” ก.เกษตรฯ สนธิกำลังมหาดไทย เร่งสอบสวน หลังพบ 9 จังหวัดส่อไม่โปร่งใส ลักลั่นเบิกจ่าย เงินล่องหนเข้าบัญชีไม่รู้ตัว ดึง “นิด้า-เกษตรศาสตร์” ตรวจสอบความโปร่งใส

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงความคืบหน้าการตรวจสอบทุจริตโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน 2.28 หมื่นล้านบาท ว่า ยังต้องสอบหลายประเด็น เช่น บางพื้นที่มีความพร้อมหรือไม่ เพราะรัฐบาลได้กำหนดกลุ่มความต้องการงบประมาณ 8 กลุ่ม และให้ประชาชนสมัครใจเข้ามา บางคนอาจเข้าร่วมโครงการไม่ได้ เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์หรือไม่ หรือความพร้อมของส่วนราชการ เมื่อไม่พร้อมจะแก้ปัญหาถูกหรือผิดอย่างไร แต่เจตนาทุจริตตนยังไม่เชื่อ เพราะโครงการนี้เป็นโครงการที่ทำถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ถ้าใครจะโกงก็ต้องลงโทษสถานหนัก ซึ่งต้องสอบสวน

อย่างไรก็ตาม ได้ให้ คสช. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ลงไปตรวจสอบและจะสรุปผลสอบขึ้นมาให้ทราบ ผิดก็ว่าไปตามผิด ถูกว่าไปตามถูก ทุกอย่างมีกลไกตรวจสอบอยู่แล้ว

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ ปัจจุบันสามารถทำให้เกิดกิจกรรม 24,760 กิจกรรม วงเงิน 20,054.62 ล้านบาท ประกอบด้วย สมาชิกกลุ่มที่ได้รับงบประมาณให้ดำเนินโครงการ 1.56 ล้านราย และเกษตรกรที่คาดว่าได้รับประโยชน์จากโครงการทั้งประเทศ 7.78 ล้านราย และล่าสุด ครม.อนุมัติเพิ่ม 2.2 พันล้านบาท เพื่อฟื้นฟูพื้นที่อุทกภัย โดยใช้หลักการคล้ายคลึง 9101 ทั้งนี้ การมีกระแสข่าวว่าไม่โปร่งใส รู้สึกเสียใจ หากมีข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้องต้องจัดการ และได้สั่งการอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรว่า ตนจะประเมินเอง และหาหน่วยงานอิสระมาตรวจสอบ

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่ข่าวว่ามีการทุจริตที่มาที่ไปงบประมาณโครงการ 9101 และมีการร้องเรียนปัญหาเข้ามา 9 จังหวัด 9 โครงการ จาก 2.4 หมื่นโครงการ คิดเป็น 0.036% ที่มีการร้องเรียนว่าเบิกจ่ายเร็วนั้น จากการตรวจสอบ 3 จังหวัด ไม่พบปัญหาตามที่ร้องเรียน คือ จ.สมุทรปราการ จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.อุตรดิตถ์ นอกจากนี้ มี อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี พบว่า ผู้นำไม่ได้เจตนาทุจริต แต่มีผู้ร่วมโครงการ 38 คน อยู่ ๆ มีเงินโอนเข้าบัญชี โดยไม่ทราบว่ามาได้อย่างไร เบื้องต้นได้แจ้งความและตรวจสอบพบว่า ผู้นำชุมชนต้องการเบิกเงินให้ได้ครึ่งหนึ่งตามเป้าหมาย เนื่องจากรัฐบาลระบุว่าต้องเบิกให้เสร็จภายในสิงหาคม และจึงให้ 38 คนคืนเงินกลับมา

ส่วนอีก 3 จังหวัด คือ สุรินทร์ สระแก้ว แพร่ อยู่ระหว่างตรวจสอบ ส่วนใหญ่ขัดแย้งกันในชุมชน บางจังหวัดไม่ได้โครงการก็ร้องเรียนเข้ามา เมื่อไปตรวจสอบก็ไม่พบ ดังนั้นหากต้องการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ ต้องแจ้งข้อมูลที่ครบถ้วนจึงจะมีผลต่อการดำเนินการ

“เงินโครงการไม่ได้รั่วไหลไปไหน เมื่อรัฐไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง ราษฎรทำกันเอง เป็นการขัดแย้งกันเอง หากหลายฝ่ายจับตา เนื่องจากงบประมาณมหาศาลนั้นยืนยันว่า งบฯโครงการ 9101 เดิมไม่ได้เกี่ยวข้องกับงบประมาณที่ขอใหม่ 2 พันล้านบาท เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะเรื่อง การฟื้นฟูอาชีพน้ำท่วม เพียงแต่ใช้หลักการเดียวกัน และรัฐมนตรีว่าการมั่นใจว่า โครงการนี้ไม่เข้าข่ายทุจริต จึงให้ 2 องค์กรอิสระเข้ามาตรวจสอบ คือ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (สพบ.) หรือนิด้า และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” นายสมชายกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จังหวัดที่มีการรายงานปัญหา และตรวจสอบแล้วพบมี 3 จังหวัด โดยมีประเด็น 1.มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนขอเข้าร่วมพิจารณาโครงการ แต่ถูกปฏิเสธ 2.อ.บางน้ำเปรี้ยว ได้โครงการไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ และ 3.โครงการที่ผ่านการพิจารณาอนุมัติเป็นของผู้นำชุมชนเพียงโครงการเดียว

ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างตรวจสอบ คือ 1.จ.สตูล ให้ตรวจสอบผู้รับผิดชอบโครงการ เพราะไม่ได้ประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง ทำให้ขาดสิทธิ์เสนอโครงการ 2.สุพรรณบุรี การใช้งบประมาณไม่มีการทำประชาพิจารณ์ในชุมชน จึงเสนอให้ชุมชนได้คัดเลือกกิจกรรม เพื่อเป็นการต่อยอดในชุมชนมากกว่านี้ 3.แม่ฮ่องสอน มีการเบิกจ่ายงบฯ ซึ่งไม่ได้เกิดจากความต้องการของชุมชน ไม่มีการประชุมหารือหรือจัดเวทีชุมชนผู้รับผิดชอบโครงการ ทั้งที่กลุ่มไม่ได้มีการร้องขอให้ดำเนินการ 4.ลำปาง ไม่มีการจัดเวทีชุมชน ไม่มีการประสานผู้นำท้องที่ และจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการ เกษตรกรจึงเสียสิทธิ์ ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ

5.สงขลา ขอความอนุเคราะห์สนับสนุนด้านเงินทุนทำการเกษตร ซึ่งได้รับผลกระทบจากอุทกภัย (น้ำท่วมพืชสวนและนาข้าว) ไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากย้ายที่อยู่ แปลงเกษตรอยู่คนละแห่งกับที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร และขอเข้าร่วมโครงการ 9101 เนื่องจากไม่ได้รับข่าวสารการดำเนินงานโครงการจากทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ และ

6.เชียงราย พบโครงการเกษตรอินทรีย์ยั่งยืนคืนถิ่นทานตะวัน เสนอโครงการเข้ารับการพิจารณาตามขั้นตอน และได้รับอนุมัติเรียบร้อยแล้ว แต่กลุ่มไม่สามารถดำเนินการได้ โดยทางกลุ่มได้มีหนังสือทวงถามเอกสารการถอดถอนโครงการ แต่ยังไม่ได้รับเอกสารแต่อย่างใด จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ

อย่างไรก็ดี เนื่องจากว่าเป็นโครงการที่ราษฎรเข้าร่วมจำนวนมากกว่า 20,000 โครงการ ซึ่งทุกครั้งต้องทำประชาพิจารณ์ระหว่างชุมชน อาจเกิดความขัดแย้งทางการเมืองท้องถิ่นและผู้นำชุมชน ใช้เป็นฐานเสียงและบางพื้นที่ไม่ประสงค์ดีต่อโครงการ จึงทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว