เจาะขุมกำลังเลือกตั้งท้องถิ่น พลังประชารัฐวางขุนพล 10 หัวเมือง-ชิงผู้ว่าฯ กทม.

นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้ารัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 การเลือกตั้งท้องถิ่นถูก “แช่แข็ง” ไปพร้อมกับนักเลือกตั้งระดับชาติผ่านมา 6 ปี รัฐบาลจ่อคืนอำนาจนักเลือกตั้งภูธร-ปักหมุด “สนามเล็ก” เลือกตั้งท้องถิ่น ในเดือนธันวาคม 2563 การเมืองท้องถิ่นกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

“วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายประจำกราบขวาตึกไทยคู่ฟ้า กาปฏิทินเลือกตั้งท้องถิ่น “สนามแรก” ในวันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม 2563 หรืออาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม 2563 ด้วยการเลือกสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)ตั้งแต่ยุค คสช. นักการเมืองท้องถิ่นถูกปลด-ย้าย จากคำสั่ง-ประกาศ และ “ม.44” ด้วยข้อกล่าวหาทุจริต-ไม่ไว้วางใจ และงดการจัดให้มีการเลือกตั้ง ออกไป “ไม่มีกำหนด” ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.)-นายกเมืองพัทยา ถูกเด้งและแต่งตั้ง “ขัดตาทัพ” ด้วยอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ “ว่างลง” ให้อยู่รักษาการต่อไป

ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศ “แบ่งเขตเลือกตั้ง” ครบ 76 จังหวัด และทยอยประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว 20 จังหวัด ได้แก่ 1.อบจ.ลำพูน 24 เขต 2.อบจ.สุราษฎร์ธานี 36 เขต 3.อบจ.สุพรรณบุรี 30 เขต 4.อบจ.สิงห์บุรี 24 เขต 5.อบจ.สตูล 24 เขต 6.อบจ.ราชบุรี 30 เขต 7.อบจ.ระนอง 24 เขต 8.อบจ.ยะลา 30 เขต 9.อบจ.ภูเก็ต 24 เขต 10.อบจ.พัทลุง 30 เขต 11.อบจ.พังงา 24 เขต 12.อบจ.พระนครศรีอยุธยา 30 เขต 13.อบจ.ปัตตานี 30 เขต 14.อบจ.ปราจีนบุรี 24 เขต 15.อบจ.นครปฐม 30 เขต 16.อบจ.ตราด 24 เขต 17.อบจ.ตรัง 30 เขต 18.อบจ.ชุมพร 30 เขต 19.อบจ.ชัยนาท 24 เขต 20.อบจ.กระบี่ 24 เขต

ส่องความพร้อม-ไม่พร้อมของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หลัง “เปลี่ยนหัว” เป็น พี่ใหญ่-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณขยับโครงสร้างการบริหารทุกระดับชั้น จัดสรรสมดุลอำนาจ “สารพัดก๊ก”

ขณะที่ระดับท้องที่ วางตัว “ขุนพล-ส.ส.ภูธร” ที่คลุกคลีในพื้นที่ 10 หัวเมืองใหญ่ ภาค 1 นายยงยุทธ สุวรรณบุตร ส.ส.สมุทรปราการ เขต 2 หัวหน้าภาค นางเจริญ เรี่ยวแรง ส.ส.นนทบุรี เขต 2 รองหัวหน้าภาค นางกัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี เขต 1 เลขาฯ

ภาค 2 นายฐานิสร์ เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว เขต 1 หัวหน้าภาค นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี เขต 8 รองหัวหน้าภาค นายชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา เขต 2 เลขาฯ

ภาค 3 นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา เขต 7 หัวหน้าภาค นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครราชสีมา เขต 1 รองหัวหน้าภาค นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ เขต 2 เลขาฯ

ภาค 4 นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าภาค นายสมศักดิ์ คุณเงินส.ส.ขอนแก่น เขต 7 รองหัวหน้าภาค นายจำลอง ภูนวนทา อดีตผู้สมัคร ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 3 เลขาฯ

ภาค 5 นายจีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา เขต 3 หัวหน้าภาค นายปัญญา จีนาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน เขต 1 รองหัวหน้าภาคนายนเรศ ธำรงค์พิทยคุณ อดีตผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8  เลขาฯ

ภาค 6 นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ ส.ส.เพชรบูรณ์ เขต 3 หัวหน้าภาค นางพรรณสิริ กุลนาถสิริ ส.ส.สุโขทัย เขต 1 รองหัวหน้าภาค นายพรชัย อินทร์สุข ส.ส.สุโขทัย เขต 1 เลขาฯ

ภาค 7 นายสุชาติ อุตสาหะ ส.ส.เพชรบุรี เขต 3 หัวหน้าภาค นายอัฏฐพล โพธิพิพิธ ส.ส.กาญจนบุรี เขต 5 รองหัวหน้าภาค น.ส.กุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี เขต 1 เลขาฯ

ภาค 8 นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช เขต 1 หัวหน้าภาค นายสุทา ประทีป ณ ถลาง ส.ส.ภูเก็ต เขต 1 รองหัวหน้าภาค นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.นครศรีธรรมราช เขต 2 เลขาฯ

ภาค 9 นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา เขต 1 หัวหน้าภาค นายวัชระ ยาวอหะซัน ส.ส.นราธิวาส เขต 1 รองหัวหน้าภาค ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี ส.ส.สงขลา เขต 4 เลขาฯ

ภาค กทม. นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส.กทม. เขต 30 หัวหน้าภาค นายประสิทธิ์ มะหะหมัด ส.ส.กทม. เขต 19 รองหัวหน้าภาค น.ส.กานต์กนิษฐ์แห้วสันตติ ส.ส.กทม. เขต 1 เลขาฯ

ส่วนการเลือกตั้งสนามผู้ว่าฯ กทม. พลังประชารัฐ โดย “สามเกลอ กทม.” ยัง “อุบไต๋” ตัวจริง-ตัวหลอก “ไม่รีบเปิดตัว” เพราะวัน ว. เวลา น. ชิงธงพ่อเมืองเสาชิงช้า “ไม่นิ่ง” แต่ได้วางเครือข่าย ส.ข.- ส.ก. พร้อมรบ-รุก

ทว่า บิ๊กแป๊ะ-พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะเกษียณอายุราชการ 30 กันยายน 2563 ขึ้น-ลงตึกไทยคู่ฟ้า ชิงเหลี่ยม-เป็นแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 13 จนถูกจับสัญญาณว่าอาจจะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หลังเกษียณในนาม “อิสระ” โดยมี “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ

“อนุชา นาคาศัย” เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ “พร้อมมาก” ที่จะสู้ทุกศึกเลือกตั้งท้องถิ่น “หัวหน้าภาค” ทั้ง 10 ภาค กำลังเฟ้นหาผู้สมัครลงเลือกตั้ง อบจ. แต่ยัง “ไม่สะเด็ดน้ำ”

“การตั้งหัวหน้าภาคเพื่อการกระจายอำนาจการตัดสินใจ ให้แต่ละภาคมีบทบาท เพราะแต่ละหัวหน้าภาคมีความใกล้ชิด สันทัด จัดเจนในพื้นที่”

หลังจากระฆังเลือกตั้งท้องถิ่นดังขึ้น พรรคพลังประชารัฐแม้จะชนะในการเลือกตั้งระดับชาติ แต่การเลือกตั้งท้องถิ่น “พ่อบ้านพลังประชารัฐ” ลั่นวาจาไว้ว่า “เอาจริงแน่นอน”