ทุกคนคือแกนนำ ปรากฏการณ์ม็อบไร้หัว ครั้งแรก ในรอบ 3 ทศวรรษ

ปรากฏการณ์ “ม็อบไม่มีแกนนำ” รูปแบบใหม่การชุมนุมทางการเมือง ครั้งแรก ในรอบ 3 ทศวรรษ

หลังคณะราษฎร 2563 ถูกสลายการชุมนุมกลางเมือง เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 16 ตุลาคม 2563 แกนนำถูกบุกจับกุม – ไป 22 ราย

หาก 24 ชั่วโมงต่อมา คณะราษฎร 2563 อยู่ในสภาพ “ไร้แกนนำ”

คณะราษฎร ถูกตัดคำว่า “คณะ” กลายตัวเป็น “ราษฎร” ประกาศการชุมนุมรอบใหม่ทั่วทิศของกรุงเทพ

จุดหลัก อาทิ  5 แยกลาดพร้าว วงเวียนใหญ่ บางนา รามคำแหง

ล่าสุดวันที่ 18 ตุลาคม 2563 ประกาศชุมนุมผ่านโซเชียลมีเดีย พร้อมกันทุกภาค ทั่วประเทศ

จุดหลักใน กทม.คือ อนุสาวรีย์ชัย จุดย่อยแยกอโศก

ภาคกลาง ที่ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ หน้าอิมพีเรียลสำโรง นนทบุรี  สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี

ภาคอีสาน ที่ขอนแก่น  นครราชสีมา ยโสธร อุดรธานี ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์

ภาคตะวันออก ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ชลบุรี  ระยอง  และภาคใต้ที่ ภูเก็ต

การชุมนุมของ “ราษฎร” เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มการเมือง ที่ไม่มีแกนนำครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ทศวรรษ

เพราะนับตั้งแต่พฤษภาทมิฬ 2535 การชุมนุมทั่วราชดำเนิน ก็มีแกนนำที่ชัดเจน

อันปรากฏเป็นข่าวทั่วไปว่า 18 พฤษภาคม 2535 ทหารได้ จับกุม “พล.ต.จำลอง ศรีเมือง” จากบริเวณที่ชุมนุม

พร้อมกันนั้น รัฐบาลได้ออกประกาศจับแกนนำอีก 7 คน คือ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล , นายแพทย์เหวง โตจิราการ , นายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์ , นายสมศักดิ์ โกศัยสุข , นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ , นางสาวจิตราวดี วรฉัตร และนายวีระกานต์ (วีระ) มุสิกพงศ์

ก่อนที่ในเวลาต่อมา 23.00 น. ของคืนวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยได้แพร่ภาพ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้นำ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งเป็นแกนนำการชุมนุม และ พล.อ.สุจินดา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เข้าเฝ้าในหลวง รัชกาลที่ 9  และการชุมนุมพฤษภาทมิฬ ก็จบลง

การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2549 ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เริ่มต้นจากรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ของ “สนธิ ลิ้มทองกุล” พัฒนาเป็นเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรที่สวนลุมพินี ท้องสนามหลวง ต่อเนื่องลานพระบรมรูปทรงม้า ก่อนจับมือกับพันธมิตรกลุ่มนักวิชาการ เอ็นจีโอ มีการชุมนุมครั้งแรกในนาม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 ปักธงไล่ระบอบทักษิณ

24 กุมภาพันธ์ 2549 ที่ประชุมครั้งที่ 2 ของกลุ่มพันธมิตรฯ ได้แต่งตั้งคณะผู้ตัดสินใจในการชุมนุม จำนวน 5 คน คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายพิภพ ธงไชย, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข โดยมีนายสุริยะใส กตะศิลา เป็นผู้ประสานงาน

อย่างไรก็ตาม กลุ่มพันธมิตรภาคแรก ได้ยุติการเคลื่อนไหวภายหลังการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 แต่ก็กลับมาชุมนุมอีกครั้ง เพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ 2550 และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2551 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังพรรคพลังประชาชน หลัง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว.สายเลือกตั้ง 150 คน ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลายเป็นตำนานชุมนุม 193 วัน

เช่นเดียวกับการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งพัฒนาจาก แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ทั้งนี้ มีการเปลี่ยนชื่อเมื่อ 23 สิงหาคม 2550 แกนนำ นปก. ซึ่งเปลี่ยนมาเป็น นปช. ในวันนั้น นายวีระ มุกสิกพงศ์ ประธานนปก. น.พ.เหวง โตจิราการ น.พ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ นายวรวุธ ฐานังกรณ์ หรือนายสุชาติ นาคบางไทร

นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายสมยศ พฤษาเกษมสุข นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน นายชินวัฒน์ หาบุญพาด นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ นายมานิตต์ จิตจันทร์กลับ

ซึ่งภายหลังแกนนำ นปช.หลายคนได้เข้าเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ตามลำดับ

การชุมนุมครั้งสำคัญๆ ของ นปช.เกิดขึ้นในปี 2552 และ 2553 เพื่อล้อมรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งถูกประณามจากกลุ่ม นปช.ว่าจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ปัจจุบัน กลุ่ม นปช.มีประธานชื่อว่า “จตุพร พรหมพันธุ์”

มาถึงกลุ่ม กลุ่มคณะกรรมการประชาชน เพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  ( กปปส.) เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่มี “นายสุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเลขาธิการ ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังจากผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย

11 พฤศจิกายน 2556 “สุเทพ” พร้อม ส.ส.ประชาธิปัตย์อีก 8 คน ประกาศบนเวทีที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขอลาออกจากการเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพร้อม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จำนวน 8 คน ประกอบด้วย

นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา, นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง, นายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตรองหัวหน้าพรรคภาคอีสาน, นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.นครศรีธรรมราช, นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.กรุงเทพฯ, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ส.ส.กรุงเทพฯ, นายณัฐพล ประทีปสุวรรณ ส.ส.กรุงเทพฯ

ก่อตั้งเป็น กปปส. รุก – ไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จนกลายเป็นชนวนให้เกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ตั้งแต่พฤษภา 2535 ผ่านมา 28 ปี ทุกม็อบล้วนมีแกนนำรุ่น 1 – แกนนำรุ่น 2 นำผู้ชุมนุม ทว่าปรากฏการณ์การชุมนุมในม็อบในทศวรรษใหม่ ไปไกลด้วยการชุมนุมเชิงสัญญลักษณ์ ไร้แกนนำเป็นตัวบุคคลชัดเจน ภายหลังจากแกนนำรุ่นแรก ได้ถูกจับดำเนินคดี

ไม่ต่างจากการชุมนุมประท้วงในฮ่องกง เมื่อปี 2562 ที่เป็นพลังการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ ไร้แกนนำ แต่ใช้พลังของโซเชียลมีเดีย เป็นช่องทางในการนัดรวมพล ทั้ง เฟซบุ๊ก อิสตาแกรม วอทส์แอพ และ เทเลแกรม หลังจากแกนนำถูกกวาดต้อน -จับกุมโดยรัฐบาลจีน ช่วงเดือน สิงหาคม , ตุลาคม 2562 และช่วง เมษายน 2563

เช่นเดียวกับจุดนัดหมายทุกบ่ายของวัน ที่ผู้ร่วมชุมนุม ต่างรอการประกาศจากแนวร่วม ผ่านแอปพลิเคชัน ทุกรูปแบบ ในนามของ “ราษฎร”