ส.ส.เพื่อไทย ขุดปมเหมืองทองอัครา “ประยุทธ์” โต้เรื่องอยู่ในศาล

ส.ส.เพื่อไทย โยง “ประยุทธ์” คดีเหมืองอัคราฯ จ่อเสียค่าโง่ 22,500 ล้านบาท ด้าน “ประยุทธ์ – สุริยะ” โต้ทันควัน ไทยยังไม่แพ้ จวก ฝ่ายค้านกุเรื่อง เอาข้อมูลในศาลมาเปิดเผย เป็นเรื่องอันตรายต่อการสู้คดี

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เป็นวันที่สอง

เริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 09.00 น. โดยคิวแรกเป็นของพรรคเพื่อไทย โดย น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายถึงกรณีเหมืองทองอัคราว่า ความเสียหายของแผ่นดินเกิดจากน้ำมือและการตัดสินใจที่ผิดพลาดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยจุดเริ่มต้นมาจากการรัฐประหารปี 2557 ทำให้ประเทศได้ผู้นำที่ลุแก่อำนาจ เสพติดการใช้อำนาจที่ประชาคมโลกไม่ยอมรับ สร้างความเสียหายต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

การกระทำที่ลุแก่อำนาจครั้งนั้นมีผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นเดิมพัน ซึ่งตนกำลังพูดถึงคดีเหมืองทองอัครา พล.อ.ประยุทธ์ หรือหัวหน้า คสช.ขณะนั้นใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งระงับกิจการเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ ส่งผลให้บริษัทบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ต้องยุติกิจการ

รวมทั้งเป็นเหตุให้บริษัทบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ตัดสินใจฟ้องราชอาณาจักรไทย และมีการประเมินว่าคดีนี้ไทยอาจจะแพ้ได้และต้องชดใช้ค่าเสียหายกว่า 750 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 22,500 ล้านบาท

ดังนั้น จำเป็นต้องอภิปรายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ นำผลประโยชน์ของชาติ หรือทรัพยากรของชาติไปแลกกับต่างชาติ เพื่อให้ตนเองพ้นจากความผิด

น.ส.จิราพร กล่าวว่า ทั้งนี้ในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ในการประชุมร่วมรัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงแทนว่ารัฐบาลไทยมีโอกาสชนะ เพราะจากการตรวจสอบของกระทรวงอุตสาหกรรมพบว่า บริษัทดังกล่าวทำผิดเงื่อนไข คือสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทไม่สามารถดูแลความเรียบร้อย และทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ จึงเป็นเหตุให้ต้องสั่งปิดเหมืองแร่ แต่คำชี้แจงไม่เห็นความจริง

เพราะเมื่อปี 2558 พล.อ.ประยุทธ์ ให้ 4 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวง อุตสาหกรรม สาธารณสุข ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทดังกล่าว และมีการตั้งคณะทำงานขึ้นหลายคณะ เพื่อตรวจสอบแล้วเสร็จ และผลออกมาว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มีหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องแนวทางแก้ไขผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ

ซึ่งมีสาระสำคัญว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการทำเหมืองแร่ทองคำดังกล่าวสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่จริงหรือไม่

ย้อนอดีต “บิ๊กตู่” ใช้ ม.44

น.ส.จิราพร กล่าวว่า ปี 2559 กรมอุตสาหกรรมและกรมเหมืองแร่ได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการให้ความเห็นเกี่ยวกับการใช้มาตรา 44 การปิดเหมืองแร่ว่าหากการใช้ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับชัดเจนจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนและไม่เห็นด้วยกับการนำมาตรา 44 มาบังคับใช้กับกรณีดังกล่าว ทั้งนี้ ได้มีการส่งผลการประชุมดังกล่าวไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ โดยได้แนบสองแนวทาง

คือ 1.การใช้กฎหมายตามปกติและดำเนินตามขั้นตอน และ 2.การใช้อำนาจมาตรา 44 ระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ทั้งนี้ แม้จะมีหน่วยงานคัดค้าน แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังใช้มาตรา 44 และการที่นำหลักฐานมาแสดงไม่ใช่เพื่อปกป้องบริษัทคิงส์เกตฯ แต่ต้องการให้เห็นถึงความชอบธรรมการใช้อำนาจที่ไร้จิตสำนึกความรับผิดชอบร้ายแรงต่อประเทศ และนำมาสู่การฟ้องร้อง

“ถ้าไทยต้องแพ้คดีและจ่ายค่าโง่ ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จดจำไว้ในมโนสำนึกว่ากำลังทำลายอนาคตของลูกหลานและคนไทยทั้งประเทศ เพียงเพราะการลุแก่อำนาจ จะเป็นบทเรียนราคาแพงและเจ็บปวดของประเทศ ท่านปัดความรับผิดชอบครั้งนี้ไม่ได้ ต้องตอบให้ได้ว่าจะสู้คดีให้ถึงที่สุดแบบไปตายเอาดาบหน้าหรือจะยอมเอาทรัพยากรของประเทศประเคนให้ต่างชาติเพื่อแลกกับการถอนฟ้อง ถ้าท่านเดินหน้าต่อสู้คดีจนถึงที่สุดแล้วแพ้”

เอาทรัพยากรประเทศแลกถอนฟ้อง

น.ส.จิราพร กล่าวว่า อยากถามว่าจะเอาเงินส่วนใดไปจ่าย จะเอางบแผ่นดินหรือเงินส่วนตัว เพราะแนวโน้มไทยมีโอกาสแพ้คดี 100 เปอร์เซ็นต์ บทสรุปของคดีนี้ประเทศไทยต้องจ่ายค่าโง่อย่างไม่มีทางเลือกหรือหลีกเลี่ยง ต้องเอาเงินมหาศาลไปแลกเพื่อคน ๆ เดียว เอาความผิดออกจากตัวเองและโยนภาระบาปให้ประเทศและประชาชนต้องรับผิดชอบแทน

คดีเหมืองทองอัคราฯ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มต้นด้วยตัวเอง ออกคำสั่งทำลายประเทศจนย่อยยับ สร้างตราบาปให้ประเทศ กำลังทำลายโอกาสประเทศชาติและประชาชนอย่างไม่มีชิ้นดี ในห้องประชุมลับ คณะกรรมการดำเนินการข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับคิงส์เกต วันที่ 3 สิงหาคม 2563 กระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งที่ประชุมไปว่าได้ร่างโรดแมปการประนีประนอมและระงับข้อพิพาทเรียบร้อยแล้ว

คือ การขออนุญาตจำหน่ายผงทองคำและเงินที่ใช้ในการดำเนินการ อาชญาบัตรพิเศษ 44 แปลง เนื้อที่กว่า 4 แสนไร่ และที่ขอค้างไว้เกือบ 6 แสนไร่ สิทธิประโยชน์การดำเนิน ก็อาจจะได้ตามที่ขอ จังหวะนี้ เป็นนาทีทองขออะไรได้ทั้งหมด การเอาทรัพยากรของประเทศไปประเคนให้กับบริษัทคิงส์เกต แลกกับการถอนฟ้องอย่างนี้หรือไม่ คือการรับผิดชอบของชายชาติทหาร

พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนมักง่ายทางกฎหมาย แต่มักง่ายทางการเมือง ใช้มาตรา 44 จนประเทศไทยถูกฟ้องร้อง การกระทำนี้สะท้อนถึงพฤติกรรมของผู้นำประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะกลายเป็นสัญลักษณ์ติดตัวไปแล้วว่าเป็นนายกฯ ที่ไร้จิตสำนึก ไร้ความรับผิดชอบ ประมาทเลินเล่ออย่างไร้แรง

สุริยะ ยันไม่ได้แลกถอนฟ้อง

จากนั้น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ลุกขึ้นชี้แจงว่า เรื่องการขออนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ 44 แปลง จำนวน 4 แสนกว่าไร่นั้น ไม่ได้เป็นการดำเนินการเพื่อแลกเปลี่ยนการถอนฟ้องแต่อย่างใด เพราะการขอนั้นยื่นคำขอตั้งแต่ 2546 และ 2548 แต่คณะรัฐมนตรีขณะนั้นมีมติให้ชะลอการอนุญาตไว้ก่อน เพราะห่วงใยสุขภาพของประชาชน และ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ทำการศึกษา ซึ่งสำเร็จในปี 2552 ต่อมา ครม.มีมติ 3 มีนาคม 2552 ให้กระทรวงอุตสาหกรรมนำความคิดเห็นของ สศช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณา

และในเดือนพฤษภาคม 2554 กระทรวงอุตสาหกรรมได้พิจารณาประกอบกับความเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ จัดทำประกาศนโยบายทองคำแล้วเสร็จ แต่ระหว่างนั้นมีการยุบสภาเสียก่อน ทางเลขาธิการ ครม.จึงส่งเรื่องมายังที่กระทรวงอุตสาหกรรม และไม่ได้ดำเนินการใด ๆ

ในช่วงปี 2557 มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับผลประกอบการของเหมืองทองอัครา ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนในพื้นที่ และประชาชนได้ยื่นข้อเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช.ดังนั้น เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช.จึงออกคำสั่ง ม.44 ให้ผู้ประกอบการทองคำทุกรายทั่วประเทศ ระงับกิจการเหมืองแร่ทองคำเป็นการชั่วคราว

เชื่อว่าในขณะนั้น ใครก็ตามที่เป็นนากยฯ เมื่อมีการร้องเรียนของประชาชน มีความขัดแย้งในพื้นที่ เพื่อประโยชน์ในการดูลสุขภาพประชาชน การที่ออกคำสั่ง คสช.มาตรา 44 นั้น เป็นเรื่องจำเป็น แต่ขณะเดียวกัน การที่ออกคำสั่ง ม.44 ได้ให้คณะกรรมการนโยบายแร่แห่งชาติ ไปจัดทำนโยบายทองคำเพื่อให้การทำเหมืองแร่ทองคำสามารถดูแลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนให้ได้ เพื่อนำเสนอที่ประชุม ครม.

และต่อมาได้เห็นชอบในเดือนสิงหาคม 2560 และต่อมา คณะกรรมการนโยบายแร่แห่งชาติ มีมติให้ผู้ประกอบการสามารถยื่น ขออนุญาตและกลับมาประกอบการภายใต้นโยบายทองคำได้ ดังนั้น บริษัทอัคราฯ จึงกลับมาเดินเรื่องขออาชญาบัตรพิเศษที่เคยยื่นขอไว้ตั้งแต่ 2546 และ 2548

ดังนั้น ที่กระทรวงอุตสาหกรรมอนุญาตไปนั้นเป็นมติของ คณะกรรมการแร่แห่งชาติ ไม่ใช่เป็นเรื่องการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ถอนฟ้องแต่อย่างไร

เชื่อ ไทยยังไม่แพ้

“ที่บอกว่ารัฐบาลไทยแพ้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เขาคงไม่มาเจรจา เขาเก็บเงิน 22,500 ล้านบาท เก็บใส่กระเป๋าได้ทันที ทำไมต้องมาแลกขอเรื่องการขออาชญาบัตร กว่าจะไปลงทุน ทำกำไรได้ กว่า 14 ปีที่เขาดำเนินการ กำไรไม่เกิน 5 พันล้านบาท ดังนั้น เขาต้องประกอบการอีก 25 ปี ถึงจะได้ 22,500 ล้านบาท ดังนั้น รัฐบาลไม่ได้เอื้อประโยชน์กับเขา แต่เขาคิดว่าควรดำเนินการต่อ เพราะราคาทองคำขึ้นมาสมควร ส่วนเรื่องคดีที่ต่อสู้กันบริษัทคิงส์เกตฯ กับ กรมเมืองแร่ ได้ยื่นให้คณะกรรมการอนุญาโตตุลาการได้เลื่อนการพิจารณาจะได้ปรึกษากัน เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินการตามที่กฎหมายรองรับ” นายสุริยะกล่าว

ประยุทธ์ จวกฝ่ายค้านกุเรื่อง

พล.อ.ประยุทธ์ ลุกขึ้นอภิปรายว่า ในฐานะผู้รับผิดชอบ ข้อพิพาทเริ่มต้นขึ้นที่บริษัทแม่ในต่างประเทศ แล้วใช้ข่องทางกฎหมายระหว่างประเทศ ในการฟ้องร้องรัฐบาลไทย ในสิ่งที่เขาเห็นว่าบริษัทลูกไม่ได้รับความเป็นธรรม ตั้งแต่ปี 2550 เช่นเดียวกัน รัฐบาลไทยต้องต่อสู้ ในสิ่งที่รัฐบาลไทยและประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมเช่นกัน ในด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อม การใช้พื้นที่ต้องสำรวจดูว่าถูกต้องไม่ถูกต้องอย่างไร

ที่ผ่านมาต่อสู้ตามกฎหมายสากล ที่รัฐบาลไทยเป็นสมาชิกอยู่และต้องตั้งทนายขึ้นมาสู้ในเวทีสากล รัฐบาลไทยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปต่อสู้คดี มีงบประมาณที่ใช้ในการจ้างทนาย ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศ เพราะเป็นเวทีระหว่างประเทศที่มีพันธสัญญาระหว่างกันต้องปฏิบัติให้ได้ คือการนำเข้าสู่อนุญาโตตุลาการ

สิ่งสำคัญที่อาจกระทบต่อการพิจารณาคดีคือ เอาเรื่องที่อยู่ในชั้นศาลเอาออกมาพูดภายนอก และฝ่ายค้านได้นำมาอภิปรายให้ข่าวกับสื่อหลายครั้ง ซึ่งปรากฏว่าเป็นการคาดการณ์เอาเองทั้งสิ้น เป็นการนำตัวเลข จากข้อมูลที่เป็นข้อเสนอ หรือ คำให้การแต่ละฝ่ายที่ไม่เป็นทางการ ยังไม่ได้ข้อยุติซึ่งเป็นอันตราย

ดังนั้น ยังไม่ปรากฏเป็นความจริง เรื่องยังอยู่ในกระบวนการตามกฎหมาย รวมถึงขั้นตอนการเจรจาหารือของผู้พิพาท ไม่สามารถไปชี้นำได้

สั่งปิดทุกเหมือง ไม่เจาะจงอัครา

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนที่กล่าวหาว่าใช้อำนาจมาตรา 44 นั้น คำสั่งดังกล่าวไม่ใช่ไปปิดเหมือง แต่เป็นเรื่องการต่อสัมปทานซึ่งมีคำสั่งทุกเหมืองในประเทศไทย ในการต่อสัมปทานอาชญาบัตร จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจากข้อสงสัยของประชาชนที่เรียกร้องด้านสิ่งแวดล้อมมา ถึงแม้ไม่มีข้อยุติอย่างชัดเจน แต่มีหลักฐานจากโรงเรียน ครู จำเป็นต้องตรวจสอบ เราไม่ได้ปิดเหมืองแร่อัคราแต่เพียงเหมืองเดียว แต่การจะต่ออาชญาบัตรต้องแก้ปัญหาให้ได้โดยเร็ว และบริษัทไหนที่แก้ได้ตามนั้นก็เปิดเป็นปกติ

การที่เขาจะได้หรือไม่ได้ อยู่ที่การเจรจาพูดคุย ไม่ได้เสนอประโยชน์ เราต้องคำนึงถึงประโยชน์ชาติและประชาชน วันนี้เรามี พ.ร.บ.แร่ 2560 ออกมาแล้ว เราสามารถถลุงแร่ ส่งออกแร่เองได้ ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าให้กับประเทศมากขึ้น ถ้าเราสำรวจแร่พบ อาจเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตแร่ทองคำ เพราะที่ผ่านมาเรานำไปถลุงแร่ที่ต่างประเทศทั้งสิ้น ซึ่งกฎหมายใหม่ให้มีการถลุงแร่ทองอย่างเดียว

ที่บอกว่าขอบริษัทอัครา ฯ ขอที่เป็นแสนไร่เป็นแค่การขอสำรวจ แต่การขอดำเนินการเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สำรวจเจอตรงไหนก็ต้องดูว่าจะอนุญาตได้หรือไม่ ประชาชนจะยอมหรือไม่ วันนี้นำหลักการสิทธิมนุษยชนในการประกอบการธุรกิจมาประกอบ เท่าที่ทราบบริษัทเขาปรับตัวแล้ว ถ้าที่ไหนที่ประชาชนไม่อยากได้เขาก็หลีกเลี่ยงให้อยู่แล้ว

ไม่แก้ปัญหาด้วยอำนาจ

“เรื่องนี้รับผิดชอบในฐานะนายกฯ ไม่ได้แก้ปัญหาด้วยอำนาจ ด้วยคำสั่ง มีการหารือปรึกษาทั้งฝ่ายกฎหมาย ราชการที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยราชการ เพื่อทำให้ทุกอย่างเรียบร้อยให้ได้โดยเร็ว โดยเฉพาะสุขภาพประชาชน มันต้องมีคนเดือดร้อน แต่ไม่อยากให้ใครเดือดร้อนทั้งสิ้น แต่ต้องจำเป็นในบางอย่าง หลายอย่างเกิดก่อนหน้าผม ทำไมรัฐบาลนี้ต้องมาแก้ ทำไมไม่แก้ให้เสร็จเรียบร้อย ทำไมมาถึงตอนนี้ ถ้าสนใจสักหน่อย ประชาชนต้องการปัญหาอะไรก็แก้ปัญหาให้เขา พร้อมทำอะไรใหม่ ๆ ให้กับประเทศไทยบ้าง โดยเฉพาะทำอย่างไรจะมีรายได้ให้มากยิ่งขึ้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว