“บิ๊กตู่” พลิกรับเป็นรุกฆาต 10 คำถาม ขอ 1 คำตอบ “ที่มองไม่เห็น”

กลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” ใส่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อ “โยนหินถามทาง” อีก 6 คำถาม

ไฮไลต์ คือ คำถามที่ 1 และที่ขึ้นต้นว่า 1 วันนี้เราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ ๆ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปบ้างหรือไม่?

วรรคที่ 2 การมีแต่พรรคการเมืองเดิม นักการเมืองหน้าเดิม ๆ แล้วเป็นรัฐบาล จะทำให้ประเทศชาติเกิดการปฏิรูปและทำงานอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ ?

คำถามที่ 2 การที่ คสช.จะสนับสนุนพรรคการเมืองใด ก็ถือเป็นสิทธิของ คสช.ใช่หรือไม่ ? เพราะนายกฯก็ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอยู่แล้วไม่ทันข้ามคืน นักการเมืองทั้งพรรคเพื่อไทย (พท.)-พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และแกนนำม็อบสีเสื้อต่างออกมาถล่มเป็นเสียงเดียวกันว่า รัฐบาล-คสช.เปิดหน้าเล่นการเมืองเต็มตัว

เป็นก้าวแรกของ พท.-ปชป. ในการเป็นแนวร่วมมุมกลับ-จับมือ เขี่ยขุนทหารออกจากกระดานอำนาจ ในโค้งก่อนเลือกตั้ง

หมากการเมืองเกมนี้ “แกนนำ คสช.” อ่านออกตั้งแต่ต้น จึงตั้งรับ-ตั้งแต่นาทีแรกที่บรรดาพรรคการเมืองเปิดเกมรุกให้ปลดล็อก และรุมถล่มนายพลใหญ่ในคณะ คสช. พลิกจากรับเป็นรุก

เมื่อ 6 คำถามถูกนักการเมือง “ตีความ” ว่า คสช.จะตั้งพรรค-สนับสนุนพรรคการเมือง “นอมินีทหาร” เพื่อท่อต่ออำนาจ ส่งสัญญาณให้ “บิ๊กตู่และคณะ” อยู่ต่ออีกยาวนาน

ทว่า กุนซือรัฐบาล-คสช.วิเคราะห์ข้อมูลใหม่ว่า คำตอบในคำถามของนายกรัฐมนตรี พลิกผันจากเกมตั้งรับ กลับกลายเป็นเกมรุกคืน จนขั้วตรงข้ามยังตั้งหลักแทบไม่ทัน กว่าจะตั้งหลักตอบคำถามได้ครบจบทั้ง 6 ข้อ คงกินเวลาเลยกรอบเปิดล็อกไปหลายวัน

วาระที่ว่า จะตั้งพรรคการเมือง หรือส่งเสบียงกำลังหนุน พรรคนอมินีทหารนั้น ยังรอฟังความเห็น-รออ่านคำตอบทั้ง 4 ข้อรอบแรก และ 6 ข้อรอบหลัง

วาระการเป็นนายกรัฐมนตรีต่อท่ออยู่ยาวยืดถึงยุทธศาสตร์ชาติระยะแรก 5 ปีนั้น ถูกเขียนคำตอบ-ทดไว้ในใจใส่แฟ้มบนตึกไทยคู่ฟ้าแล้วว่า “การจะตัดสินใจอยู่ต่อ หรือเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ในความเป็นจริง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวนายกรัฐมนตรีคนเดียว จำเป็นต้องฟังเสียงจากหลายฝ่าย การตั้งคำถาม 6 ข้อก็เป็นส่วนหนึ่งของคำตอบ เหนือสิ่งอื่นใด นายกรัฐมนตรีต้องตัดสินใจบนพื้นฐานผลข้างเคียงที่มองไม่เห็นด้วย”

ที่ปรึกษาสายพลเรือนที่คลุกวงในตึกไทยคู่ฟ้าวิเคราะห์ด้วยว่า “นายกฯมอนิเตอร์ข่าวสารทุกความเคลื่อนไหวทางการเมืองของทุกฝ่ายอย่างเข้มข้น อ่านอารมณ์ผู้คนในสังคม และใช้ฐานข้อมูลที่เข้ามาในแฟ้มที่ทำเนียบ-ส่งตรงถึงที่บ้าน มาชั่งน้ำหนักและกล้าตัดสินใจ

การโยนคำถาม 6 ข้อออกมากลางอากาศ เพื่อวัดอุณหภูมิของสังคมอีกทางหนึ่ง”

สารพัดสูตรต่อท่ออำนาจ “สูตร” ท่อต่ออำนาจของ คสช.ไม่ได้มีเพียง “พรรคหัวโขน คสช.” พรรคใดพรรคหนึ่ง แต่ยังมี “พรรคแนวร่วม” อย่าง “อดีตแกนนำ กปปส.” ที่มี “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตผู้จัดการรัฐบาลอภิสิทธิ์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา ที่พร้อมจะ “ไหลรวม” ไปอยู่ใน “ฝั่งผู้ชนะ”

ก่อนหน้า พล.อ.ประยุทธ์จะโยน 6 คำถามกลางกระแสเรียกร้องจากพรรคการเมืองให้ปลดล็อกทำกิจกรรม-ปรับคณะรัฐมนตรี ข่าวการตั้ง “พรรคทหาร” เพื่อ “ต่อท่ออำนาจ” ของ คสช. ที่ “เปิดหน้า” ว่า สนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ก็สะพัดหวนกลับมาอีกครั้ง

สปอตไลต์ฉายส่องไปที่ “พรรคพลังชาติไทย” ของ “พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์” อดีตนายทหารพระธรรมนูญ-คณะทำงาน คสช.เตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ ซึ่งขณะนี้รวมเสียงนักการเมืองระดับชาติ-ท้องถิ่นได้ 70 เสียง เพื่อชู พล.อ.ประยุทธ์เป็น “นายกฯคนนอก”

เป็นหลานอดีต “มือปราบ” พล.ต.ท.ทวี ทิพย์รัตน์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล “หลังบ้าน” นางบุญญาพร นาตะธนภัทร เป็นผู้กว้างขวาง-เป็นที่นับหน้าถือตาของนักการเมือง

ตั้งแต่ “เปิดตัว” ตั้งพรรคเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ได้ออกเดินสายทั้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-ภาคใต้ เซ็นสัญญาอดีต ส.ส.-หัวคะแนนพรรคการเมืองย้ายค่ายช่วงระยะอันใกล้นี้มีเคลื่อนไหวในนาม “จิตอาสา พลังชาติไทย” ในช่วงที่พรรคการเมืองถูกคำสั่ง คสช.ห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง จึงกลายเป็น “จุดอ่อน” ให้กับพรรค-ลามไปถึงรัฐบาล-คสช.ที่ไม่ยอมปลดล็อกพรรคการเมืองอื่นทำกิจกรรมและการใช้คำ “จิตอาสา” เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จน คสช.เตรียมสอบถาม “พล.ต.ทรงกลด” ว่า ไปแอบอ้างชื่อ คสช.หาประโยชน์หรือไม่

ถึงแม้ว่า “ผู้มีอำนาจ” ในรัฐบาล-คสช.ยังไม่ส่งสัญญาณชัดว่า “ตีราคา” พรรคพลังชาติไทยมาก-น้อยที่จะให้เป็น “พรรคตัวแทน คสช.” แต่การเดินสายหยั่งเสียง-ขายชื่อพรรคพลังชาติไทยให้ “คุ้นหู-ติดตา” โดยไม่ถูกเรียกปรับทัศนคติในค่ายทหาร จึงเป็น “ใบเบิกทาง” ว่า ใครประทับตรารับรองให้เทกโอเวอร์พรรคเก่า

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลอีกรายเปิดเผยว่า คสช.ไม่จำเป็นต้องตั้งพรรคใหม่ เพราะจะทำให้ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ควร “ซื้อพรรค” ที่มีอยู่แล้ว ถ้าซื้อพรรคขนาดกลางก็ไม่ต้องมี “ต้นทุน” ในการสร้างฐานเสียง-สมาชิกใหม่และส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง

ข้อเสีย คือ “ราคาแพง” แต่ถ้าซื้อพรรคขนาดเล็ก “ราคาถูก” แต่ “จุดอ่อน” คือ ไม่ประสบความสำเร็จในการทำกิจกรรมทางการเมือง คสช.ต้องสร้างเครือข่ายใหม่เอง อย่างไรก็ตาม ก็ยังดีกว่าตั้งพรรคใหม่

ถึงแม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีคำถาม 6 ข้อ จะไม่ได้ต้องการถามนักการเมือง แต่ต้องการ “คำตอบ” จากประชาชน แต่ “นักการทหารวงนอก” มองว่า การออกมา “โยนหินถามทาง” เรื่องการตั้งพรรค-สนับสนุนพรรคนอมินีทหาร เป็น “ยุทธวิธีทางการทหาร” แบบเดิม ๆ เพื่อกลบกระแสเร่งเร้าให้ คสช.ปลดล็อกพรรคการเมืองและกระแสปรับ “ครม.บิ๊กตู่ 5”

อย่างไรก็ตาม “คำตอบ” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องการจริง ๆ อาจไม่ใช่คำตอบจากนักการเมือง “นายกฯไม่ต้องการ

คำตอบจากนักการเมือง” คนใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์กล่าว แต่เป็นเพราะความเป็นห่วงเรื่องที่ “บอกไม่ได้” และเรื่องปฏิรูปประเทศ-ยุทธศาสตร์ชาติ ที่ พล.อ.ประยุทธ์-คณะปลุกปั้นมาตั้งแต่ยึดอำนาจ

คำถาม 6 ข้อ จึงเปรียบเสมือน “ไพ่ใบสุดท้าย” เพื่อเป็นการ “ปูทาง” หรือ “ไพ่ใบต่อไป” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ถือไว้ “น็อกมืด” เพื่อกลับเข้าลู่อำนาจอีกครั้ง !

4 คำถามบันไดขั้นแรก

เพราะหากย้อนไปเมื่อ 27 พ.ค. 2560 พล.อ.ประยุทธ์โยน 4 คำถาม ให้ประชาชนตอบ 1.ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ และ 2.หากไม่ได้ จะทำอย่างไร 3.การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ และเรื่องอื่น ๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง และ 4.ท่านคิดว่า กลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีก เกิดปัญหาอีก แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร

เป็น 4 คำตอบที่ส่งตรงไปบนตึกไทยคู่ฟ้าแล้ว ที่มีเพียง “พล.อ.ประยุทธ์”-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย แม่งานที่รวบรวมโพลส่วนตัวของนายกฯ รวมถึงบิ๊ก ๆ คสช.เท่านั้นที่รู้คำตอบ

ครม.สัญจรเจาะพรรคการเมืองเมื่อถึงช่วง “โค้งสุดท้าย” โรดแมป อำนาจ จึงเป็นเวลาเข้าด้ายเข้าเข็มทางการเมือง “พล.อ.ประยุทธ์” และทีมเสนาธิการไทยคู่ฟ้า จึงกำหนดยุทธศาสตร์ลงพื้นที่ โกยแต้มการเมืองไม่ต่างกับนักการเมืองอาชีพ

หากสังเกตว่าการจัด “ครม.สัญจร” ในรอบ 3 ปี มีการจัด ครม.สัญจร 3 ครั้ง ครั้งแรก 28 มี.ค. 2558 ที่หัวหิน แต่ห่างไปนาน 2 ปี “พล.อ.ประยุทธ์” กลับจัดการประชุม ครม.สัญจรเป็น ครั้งที่ 2 ที่ จ.นครราชสีมา เมื่อ 22 ส.ค. 2560

ต่อด้วยอนุมัติโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานในแถบอีสานไม่ต่ำกว่า 6 พันล้านบาท

ตามด้วยการประชุม ครม.สัญจรครั้งที่ 3 ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ก็เห็นการพัฒนาพื้นที่ 16 จังหวัดภาคกลาง-กทม.ให้เป็นมหานครที่ทันสมัย โครงการบริหารจัดการน้ำ บางบาล-บางไทร ใช้งบฯนับหมื่นล้านบาทหว่านเม็ดเงินลงพื้นที่แบบเห็น ๆ โกยแต้มการเมืองจากประชาชน-แบ่งแต้มจากนักการเมืองในพื้นที่จนกระเป๋าตุง และยังมีโครงการที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือว่าจะช่วงชิงคะแนนชาวบ้านรากหญ้า จากนักการเมือง คือ บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย พุ่งเป้าผู้มีรายได้น้อยกว่า 11.4 ล้านคน

และล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์จะยกคณะลงพื้นที่ปักษ์ใต้-พื้นที่ฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์ ระหว่างวันที่ 27-28 พฤศจิกายน ที่จังหวัดสงขลาและปัตตานี ส่งรัฐมนตรีปูพรมเรียกแต้ม 5 จังหวัดปลายด้ามขวาน เก็บข้อมูลดีไซน์นโยบายรัฐพร้อมทั้งมอบหมายให้ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ รับไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าอนาคตจะปรับปรุง เช่น การเพิ่มวงเงิน การปรับปรุงประเภทของสวัสดิการต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้นหรือไม่

แผนของ “พล.อ.ประยุทธ์” จะใช้ “big data” ที่ได้รวบรวมไว้ตั้งแต่ช่วงการลงทะเบียนสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย นำมาประเมินผลเพื่อจัดสวัสดิการช่วยเหลือตรงกับความต้องการของแต่ละครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม ในจังหวะที่ “พล.อ.ประยุทธ์” โกยแต้ม-แบไต๋อยู่ต่อ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่คะแนนนิยมกำลังดิ่งเหวอย่างต่อเนื่อง ตามผลสำรวจของซูเปอร์โพล (SUPER POLL) พบว่าความนิยมของประชาชนในตัว “พล.อ.ประยุทธ์” ในเดือน พ.ย.เทียบกับเดือน ก.ค.กับปัจจุบันพบว่า กลับตาลปัตร ซึ่งฐานสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ในเดือน ก.ค. มีอยู่ร้อยละ 78.4 แต่ พ.ย.สนับสนุนลดลงเหลือร้อยละ 52.0 ส่วนเสียงที่ไม่สนับสนุน เดือน ก.ค.มีอยู่ร้อยละ 21.6 แต่ในเดือน พ.ย.เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว อยู่ที่ร้อยละ 48.0

“ปรับเล็ก” ลดแรงกระเพื่อม จึงต้องมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อกระชากเรตติ้งที่กำลังจมดิ่งให้เชิดหัวขึ้นมาอีกครั้ง เป็นการ “ปรับ” เพื่อไปต่อในช่วงโค้งสุดท้าย

จากเดิมที่จะยอม “หยิกเล็บเจ็บเนื้อ” หั่นโควตาของผองเพื่อนทหาร-ปรับใหญ่ เปลี่ยนเป็น “ปรับเล็ก” เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง คือ กระทรวงแรงงานเท่านั้น

ขณะเดียวกันจะยังไม่ทูลเกล้าฯในเร็ว ๆ นี้ แต่จะทิ้งช่วงเวลาไว้สักพัก จึงไม่ไช่การ “ปรับเร็ว” อย่างที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้

ปรับ ครม.บิ๊กตู่ 5 ครั้งนี้ ก็เพื่อลดแรงกระเพื่อม-โกยแต้มในช่วงโค้งสุดท้าย หากทำสำเร็จก็จะเก็บเป็นคะแนนนิยมไว้ใช้หลังการเลือกตั้ง หากวันข้างหน้าถึงคิวที่จะใช้บริการ “นายกฯคนนอก” ประคับประคองยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการเปลี่ยนผ่านการเมือง ให้ไปถึงเป้าหมาย ตามข้อที่ 1 ของคำถามล่าสุด

“วันนี้เราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ ๆ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ ๆ

ที่มีคุณภาพให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่ การที่มีแต่พรรคการเมืองเดิม นักการเมืองหน้าเดิม ๆ แล้วได้เป็นรัฐบาล จะทำให้ประเทศชาติเกิดการปฏิรูป และทำงานอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่”