จับตาวันนี้ ประยุทธ์ถกทีมเศรษฐกิจคลอดมาตรการเยียวยารอบใหม่

PRACHACHAT/Illustration/Bhattarada Manee

ประยุทธ์สั่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เรียกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาโครงการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ หลังล็อกดาวน์ 14 วัน

วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลและสภาพัฒน์ ในฐานะกรรมการ ศบศ. และทีมเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศล็อกดาวน์ และเคอร์ฟิว ปิดกิจการหลายประเภท 10 จังหวัดที่มีการระบาดสูง ภายใต้หลักการ ให้ประชาชนหยุดการเดินทางและมีมาตรการเยียวยาควบคู่ พร้อมสั่งการให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจทั้งหมด เตรียมออกมาตรการมาเยียวยาประชาชนเพิ่มเติม เพื่อรองรับหลังการประกาศมีผลบังคับใช้

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า หลังจากได้รับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี เมื่อวันศุกร์ที่ 9 ก.ค. ได้เตรียมเอกสารและข้อมูลโครงการนำเสนอ คาดว่ามาตรการที่ออกมาบางส่วนจะเป็นรูปแบบเดิม แต่บางส่วนจะเป็นการพัฒนานโยบาย เช่น พิจารณาการเพิ่มเงินในโครงการเราชนะ ม33 เรารักกัน และอาจจะมีโครงการใหม่ออกมาเพิ่มเติมด้วย ส่วนโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 คลังแจกเงินเพิ่ม 3,000 บาท แบ่งจ่าย 2 งวด ยังไม่สามารถซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ หรือดีลิเวอรี่ได้ ขณะนี้คลังเตรียมประชุมร่วมกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่ เพื่อเปิดทางให้เข้าร่วมโครงการนี้ได้ เพื่อลดค่าครองชีพแก่ประชาชนอีกทางด้วย 

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า การประชุมวันนี้ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ประสานงานกับรัฐมนตรี และหัวหน้าส่วนราชการ เตรียมวาระเข้าสู่ที่ประชุม อาทิ อาทิ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง, นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข, นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษก ศบศ. โดยจะเริ่มประชุม เวลา 15.30-17.00 น. ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้สั่งการให้เร่งออกมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 ระลอก 4 โดยสั่งการให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้ครอบคลุมทุกกลุ่มและรวดเร็วที่สุด

นายดนุชากล่าวว่า ได้เตรียมมาตรการเยียวยาประชาชนเพิ่มเติม เพื่อรองรับการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 พื้นที่ 10 จังหวัดสีแดงเข้ม โดยงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการเยียวยารอบนี้ จะมาจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพราะงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่เพียงพอต่อการเยียวยาประชาชนอยู่แล้ว

ทั้งนี้ การใช้งบประมาณ อนุมัติโครงการต่าง ๆ ยืนยันว่าดำเนินการออกมาตรการจะสามารถทำได้เร็ว เพื่อเยียวยาช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที กรณีประกันสังคมก็สามารถจ่ายเยียวยาได้เลย ยกเว้นโครงการที่ต้องใช้เงินกู้ ต้องผ่านคณะกรรมการ แล้วเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป

เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวว่า กำลังเร่งทำมาตรการเยียวยาประชาชน ส่วนรูปแบบจะเป็นอย่างไรนั้น จะต้องรอมติจาก ครม.อนุมัติ โดยสภาพัฒน์จะเร่งเสนอ ครม.ในสัปดาห์ถัดไป ทั้งนี้ สภาพัฒน์ต้องเตรียมการเยียวยาเผื่อกรณีที่การล็อกดาวน์ยืดเยื้อ และผลกระทบยาว ก็จะทำให้สอดคล้องกัน

จากเอกสารรายงานการประชุม เรื่องมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 4 มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 ได้พิจารณาเห็นชอบการใช้จ่ายเงินกู้ ที่มีนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ เป็นประธานไปแล้ว ได้แก่ โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (กทม. และปริมณฑล) นายจ้างรายละ 3,000 บาทต่อหัวลูกจ้างไม่เกิน 200 คน จำนวน 41,940 ราย ลูกจ้างคนละ 2,000 บาท จำนวน 663,916 ราย วงเงิน 2,519 ล้านบาท

นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังได้รับทราบกรอบวงเงินกู้คงเหลือ ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท คงเหลือ 7,197.1745 ล้านบาท แบ่งออกเป็น

แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 1 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่มีกรอบวงเงินคงเหลือ

แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 2 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ กรอบวงเงินคงเหลือ 2,710.1767 ล้านบาท

แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 3 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรอบวงเงินคงเหลือ 4,486.9978 ล้านบาท

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกประชุมทีมเศรษฐกิจ ในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ เพื่อหารือแนวทางการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งและข้อกำหนดห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน รวมถึงปิดบางกิจการ กิจกรรม และจะพิจารณารูปแบบการช่วยเหลือประชาชนต่อไป

“นายกฯได้ติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 โดยจะเร่งช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่ม เพราะเข้าใจความรู้สึกของประชาชนเป็นอย่างดี และจะทำทุกอย่างเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลาย” นายธนกรกล่าว