แถลงยิบวิธีคิดผลเลือกตั้ง ส.ส. ยอมรับเป็นเรื่องยากมาก พรรคเดียวจะได้ถึง 250 ที่นั่ง

กรธ.-กกต. แถลงยิบวิธีคิดผลเลือกตั้ง ส.ส. แจงสูตรแก้โอเวอร์แฮงก์ เผยรับรองก่อน 95 เปอร์เซ็นต์ แต่พอครบให้คิดใหม่ ทำบัญชีรายชื่อลำดับท้ายมีสิทธิหลุดเมื่อเลือกซ่อม ชี้ยากมากพรรคเดียวได้ 250 ที่นั่ง

เมื่‪อ‬วันที่ 17 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมงบประมาณ อาคารรัฐสภา 3 นายนรชิต สิงหเสณี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พร้อมด้วย นางสมิหรา เหล็กหรหม รองผอ.สำนักบริหารการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ 1 จากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ น.ส.สง่า ทาทอง ผอ.ฝ่ายบริหารการเลือกตั้ง และการออกเสียงฝ่ายประชามติ จากสำนักงาน กกต. ร่วมกันแถลงถึงความคืบการจัดทำพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. และหลักเกณฑ์การคิดคำนวณ การประกาศผลการเลือกตั้ง โดย นายนรชิตกล่าวว่า กรธ.พิจารณาร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เสร็จแล้ว สัปดาห์หน้าจึงจะทำการทบทวนเนื้อหาในร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับสุดท้ายไปพร้อมกัน โดยการพิจารณาทุกครั้งมีตัวแทนจาก กกต.เข้ามาร่วมรับฟังด้วย และพร้อมจะส่งให้ สนช.พิจารณา‪ในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้‬ตามกำหนด

นางสมิหรากล่าวถึงการคิดคำนวณ การประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส ว่าการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะลงคะแนนได้ 1 ใบ ในบัตร สำหรับเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต จำนวน 350 คน ซึ่งบัตรใบนี้จะถูกนำไปใช้คิดคะแนนหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออีก 150 คนด้วย โดยมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ ระบุการคำนวณหา ส.ส.ทั้ง 500 คน อย่างสรุป 3 วิธี ดังนี้ 1.หาคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน ด้วยการนำคะแนนที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือก ส.ส.ทุกพรรคมารวมกันแล้วหารด้วยจำนวน ส.ส.ทั้งหมดคือ 500 เช่น ผู้สมัคร ส.ส.ทุกพรรคได้คะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมกัน 29.5 ล้านเสียง เมื่อนำไปหารจำนวน ส.ส. 500 คน ผลลัพธ์ที่ได้คือ ทุก 59,000 เสียง พรรคนั้นจะมี ส.ส. 1 คน

นางสมิหรากล่าวว่า 2.การหาจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี ให้นำผลลัพธ์จากข้อ 1 ไปหารด้วยคะแนนที่ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ที่ได้รับจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เช่น พรรคก.มีคะแนนเลือกตั้งรวมทั้งประเทศ 13.1 ล้านเสียง เมื่อหารกับ 59,000 เสียง จะได้ผลลัพธ์ 222.03 ดังนั้นจำนวนที่พรรคก.พึงมี ส.ส. คือ 222 คน เศษทศนิยมของแต่ละพรรคที่เหลือ ให้เก็บไว้คิดหาเศษที่เหลือของจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี เช่น เศษที่เหลือของจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี มี 7 คน ก็ให้กระจายจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมีไปอีกพรรคละ 1 คน สำหรับ 7 พรรค ที่มีเศษทศนิยมสูงสุด 7 ลำดับแรก และ 3.การหาจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้นำจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี ลบด้วยจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตที่ได้รับเลือก เช่น พรรคก. พึงมี ส.ส. 222 คน ลบจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตที่ได้รับเลือกแบบไปแล้ว 187 คน จะทำให้พรรคก.จะมีจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ได้รับเลือกอีก 35 คน ดังนั้น การเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ทุกคะแนนที่ผู้สิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนแบบแบ่งเขต จะส่งผลต่อการคำนวณส.ส.แบบบัญชีรายชื่อด้วย

นางสมิหรากล่าวว่า สำหรับการประกาศผลการเลือกตั้งสำหรับ กกต.จะมีหลักใหญ่ 2 รูปแบบ คือ 1.กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งได้ครบทั้ง 350 เขต และไม่มีที่นั่งเกินจำนวน (Overhang) ฐานคะแนนการคิด จะยึดไปตามรายละเอียดที่กล่าวไว้ ทั้งนี้ประกาศครบทั้ง 350 เขต ก็มีโอกาสที่จะเกิดที่นั่งจำนวนเกินได้ หากมีพรรคการเมืองไหน ได้จำนวน ส.ส.เขต มากว่าจำนวน ส.ส.ที่พึงมี พรรคนั้นจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก แต่จะส่งผลให้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเกินจำนวน 150 คน

Advertisment

การคำนวณแบบนี้จึงต้องปรับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อให้เท่ากับ 150 คน ด้วยการใช้เทียบบัญญัติไตรยางค์ เช่น พรรค ค. มีจำนวน ส.ส.ที่พึงมี 4 คน ได้รับเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต 5 คน พรรค ค. จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก ส่วน พรรค จ. มีจำนวน ส.ส.ที่พึงมี 160 คน ได้รับเลือกส.ส.แบบแบ่งเขตแล้ว 109 คน ต้องได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออีก 51 คน แต่คะแนนแบบนี้จะมีจำนวนที่นั่งเกิน ที่เกิดจากพรรค ค. 1 คน ทำให้ฐานจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเกินเป็น 151 คน การคิดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคการเมือง จึงต้องคิดโดยเทียบบัญญัติไตรยางค์ ให้เป็นฐานของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน อย่างพรรคจ.เมื่อเทียบกลับมาบนฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน แล้วจะทำให้พรรค ค. มีคะแนนส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้ 50.6 แต่พรรค ค. จะมีส.ส.บัญชีรายชื่อเหลือ 50 คน ทศนิยมให้เก็บไว้สำหรับนำมาคิดชดเชย กระจายตามสัดส่วนที่หายไปพรรคละ 1 คน ตามลำดับทศนิยมจากมากไปหาน้อย

นางสมิหรากล่าวว่า 2. กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งร้อยละ 95 หรือคิดเป็น 333 เขต โดยไม่มีที่นั่งเกินจำนวนการจะคำนวณหาจำนวน ส.ส. ก็ต้องใช้เลขที่เป็นฐานคิดจาก ส.ส.ร้อยละ 95 คือ จำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี 475 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบเขต 333 คน แบบบัญชีรายชื่อ 142 คน แต่ทั้งนี้ก็มีโอกาสเกิดที่นั่งเกินจำนวน ก็ต้องเทียบบัญญัติไตรยางค์ปรับลด ในส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับ อย่างไรก็ตาม การเกิดจำนวนที่นั่งเกินนั้น ในทางปฏิบัติถือว่าเกิดได้ยาก

เมื่อถามถึง ภายหลังจากประกาศผลการเลือกตั้งร้อย 95 เพื่อเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกแล้ว การคำนวณผลการเลือกตั้งอีกร้อยละ 5 จะเป็นอย่างไร นางสมิหรากล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 การประกาศผลการเลือกตั้งให้อำนาจกกต.แขวนไว้รอประกาศ สำหรับเขตที่มีการร้องเรียนเรื่องการทุจริต แต่เมื่อได้ครบทุกเขตแล้ว กกต.จะทำการคำนวนคะแนนใหม่จากฐานของจำนวน ส.ส.500 คน และภายใน 1 ปี กกต.จะคำนวณคะแนนใหม่ทุกครั้ง สำหรับการเลือกตั้งซ่อมในเขตที่มีการร้องเรียนเรื่องทุจริต

ส่วน นายนรชิตกล่าวว่า ทั้งหมดขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง เมื่อรับรองผลการเลือกตั้งได้เกิน 95% ก็จะสามารถเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อนำไปสู่การตั้งรัฐบาลต่อไป สำหรับการคำนวณคะแนนใหม่เมื่อมีการเลือกตั้งซ่อม ภายใน 1 ปี จะทำเฉพาะกรณีที่ทุจริตเท่านั้น แต่ถ้าเป็นเพราะตายหรือลาออก แค่เลือกตั้งซ่อม ไม่ต้องคำนวณใหม่ คนที่อยู่ลำดับท้ายของบัญชี จึงมีโอกาสหลุดออกจาก ส.ส.ได้ หากต้องคำนวณใหม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิในส่วนนี้ไว้แล้ว ว่า จะไม่กระทบต่อเงินเดือนที่ได้รับ และสิ่งที่ทำไปแล้วให้ชอบด้วยกฎหมาย

Advertisment

เมื่อถามว่า การเลือกตั้งแบบนี้ มีโอกาสที่พรรคการเมืองจะได้เสียงเกิน 250 ที่นั่งหรือไม่ น.ส.สง่า กล่าวว่า ในการนำคะแนนของ ส.ส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้งมาใช้คำนวนจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะทำให้เขตเลือกตั้งหนึ่งมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเฉลี่ยประมาณ 1.8 แสนคน ดังนั้น การที่จะมีพรรคการเมืองใดได้คะแนนโดดไปถึง 250 ที่นั่งก็คงเป็นเรื่องที่ยาก

 

ที่มา : มติชนออนไลน์