ป.ป.ช.แฉพบขรก.เอื้อประโยชน์บริษัทยาอื้อ! ชงรบ.คุมเข้มป้องกันเบิกจ่ายยาภาครัฐ

ป.ป.ช. ชง รัฐบาล คุมเข้มป้องกันเบิกจ่ายยาในภาครัฐบาล ชี้พบข้าราชการเอื้อประโยชน์บริษัทยาเพียบ

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นชอบให้มีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อใช้เป็นแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในระบบการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยมีข้อเสนอแนะเชิงระบบ 1.เสนอให้ผลักดันยุทธศาสตร์การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์คำนึงถึงเหตุผลทางวิชาการ ในการตัดสินใจจ่ายยามากกว่าคำนึงถึงผลประโยชน์จากบริษัทยา 2.เสนอให้มีศูนย์ประมวลข้อมูลสารสนเทศด้านยา เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลทุกสังกัด รวมถึงให้กรมบัญชีกลางตรวจสอบการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และในระหว่างที่ยังมีศูนย์ดังกล่าว ให้กรมบัญชีกลางมีมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ 3.กำหนดหลักเกณฑ์การจัดซื้อยาเพื่อป้องกันการซื้อยาโดยมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน โดยต้องนำเกณฑ์จริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการขายยาและหลักเกณฑ์ตามมาตรา 103/7 และมาตรา 123/5 แห่ง พ.ร.บ. ป.ป.ช. 2542 มาเป็นเกณฑ์ในการจัดซื้อ

นายสรรเสริญกล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอเชิงภารกิจ 1.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายดำเนินการอย่างเข้มงวด 2.ผลักดันให้มีการปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการขายยา 3.ปลูกจิตสำนึกของบุคลากรรัฐและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเฝ้าระวังพฤติกรรมการขายยา การสั่งยา และการใช้สิทธิอย่างไม่เหมาะสม 4.ผลักดันให้มีการจัดทำมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมตามกฎหมายของ ป.ป.ช. เพื่อให้เอกชนมีมาตรการป้องกันไม่ให้บุคคลของตนเสนอผลประโยชน์แก่บุคลากรรัฐ

นายสรรเสริญกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวสืบเนื่องจากปัญหาค่าใช้จ่ายในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการที่มีอัตราสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 มีตัวเลขสูงถึง 71,016 ล้านบาท คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้มอบหมายให้มีคณะอนุกรรมการทำงานร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมบัญชีกลาง ซึ่งพบว่า สาเหตุที่ค่าใช้จ่ายในระบบสวัสดิการของรัฐเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดจากความเชื่อมโยง 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ใช้สิทธิ์และเครือญาติ กลุ่มสถานพยาบาลและบุคลากร และกลุ่มบริษัทยา

นายสรรเสริญกล่าวว่า ทั้งนี้การเบิกจ่ายยาโดยมิชอบมีพฤติการณ์ 1.พฤติกรรมช็อปปิ้งยา เป็นพฤติกรรมที่ใช้สิทธิโดยทุจริตของผู้มีสิทธิและเครือญาติ ทั้งที่เป็นผู้ป่วยและไม่มีอาการป่วย ด้วยการตระเวนใช้สิทธิของตนตามโรงพยาบาลต่าง ๆ หลาย ๆ แห่ง ในเวลาใกล้เคียงกัน และขอรับยาเกินความจำเป็นทางการแพทย์ ซึ่งบางรายได้นำยาไปจำหน่ายต่อ 2.พฤติกรรมยิงยา เป็นพฤติกรรมการจ่ายยาของบุคลากรในสถานพยาบาลโดยทุจริต เช่น สั่งจ่ายยาเกินความจำเป็นของผู้ป่วยหรือสั่งจ่ายยาเพิ่มเติมที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย บันทึกข้อมูลสั่งจ่ายยาสูงกว่าที่จ่ายจริง สั่งจ่ายยาโดยไม่มีการรักษาโดยมีเป้าหมายจ่ายยาออกไปมาก ๆ เพื่อทำยอดจำหน่ายยาเป็นการร่วมกันระหว่างบริษัทจำหน่ายยา สถานพยาบาล และบุคลากรสถานพยาบาล มีการจ่ายค่าคอมมิสชั่นหรือเปอร์เซ็นต์ยา การเสนอผลประโยชน์จากยอดจำหน่ายหลายรูปแบบ เช่น ตัวเงิน ยาแถม ดูงานต่างประเทศ

ทั้งนี้มีรายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 เลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งหนังสือตอบกลับ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวแล้ว โดยระบุว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักพิจารณาเรื่องนี้ ร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอดังกล่าว และให้แจ้งผลการดำเนินการส่งกลับมาที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน

 

ที่มา : มติชนออนไลน์