อัพเดตสายไฟลงดิน ยุค “ประยุทธ์” ช้ากว่าแผน-เบิกจ่ายต่ำเป้า

ประยุทธ์ สายไฟ

การเดินทางมาประเทศไทยของ “รัสเซล โครว์” ดาราฮอลลีวูด มองในมุมบวก เป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวให้กับประเทศไทย โดยไม่ต้องควักสตางค์แดงเดียวในการจ้างพรีเซ็นเตอร์ระดับโลก เหมือนการ (คิด) จะจ้าง “ลิซ่า blackpink”

ทว่า มองในแง่ลบ เป็นการประจาน-ตบหน้ารัฐบาลฉาดใหญ่ หลังจากรูปถ่ายเซลซี่ของ “รัสเซล โครว์” ที่มีฉากหลังเป็นสายไฟระโยงระยาง ถึงขนาดสื่อญี่ปุ่น “Abema Times” ตีแผ่สกู๊ป ต้องใช้เวลา 200 ปี ถึงจะนำลงดินได้ทั้งหมด

อัพเดตสายไฟลงดิน

รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยกระทรวงมหาดไทย ที่มี “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รมว.มหาดไทยเป็น “เจ้ากระทรวง” ได้อัพเดท-ปฏิบัติการนำ “สายไฟลงดิน” ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564

ครม. มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง ปี 2563 (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2563)

กฟน. มีแผนดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่ที่ กฟน. ดูแลและรับผิดชอบระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และสมุทรปราการ ระยะทางรวม 236.1 กิโลเมตร มีกรอบระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2527 – 2567 รวม 8 แผน ได้ดำเนินการ แล้วเสร็จ 48.6 กิโลเมตร

1. แผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 5 (ระยะที่ 2) ฉบับที่ 7 (ฉบับปรับปรุง) และฉบับที่ 8 (ฉบับปรับปรุง) (โครงการถนนสีลม ปทุมวัน และจิตรลดา) 16.2 กิโลเมตร

2. แผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายไฟฟ้า ฉบับที่ 9 (ระยะที่ 2) (พ.ศ. 2547 – 2550) (โครงการพหลโยธิน พญาไท และสุขุมวิท) 24.4 กิโลเมตร

3. แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2551 – 2556 (ฉบับปรับปรุง) [โครงการปทุมวัน จิตรลดา พญาไท (เพิ่มเติม) และบางส่วนของโครงการนนทรี] 8 กิโลเมตร

187.5 กิโลเมตร ช้ากว่าแผน

ผลการดำเนินการตามแผนงานฯ (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2563) สรุปได้ ดังนี้ แผนงาน/โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ระยะทาง 187.5 กิโลเมตร ประกอบด้วย

แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง) รวมระยะทาง 25.2 กิโลเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 17.2 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จ ปี 2565 ได้แก่

1.โครงการนนทรี 6.3 กิโลเมตร 2.โครงการพระราม 3 เป้าหมายระยะทาง 10.9 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 64.51 (จากแผนงานฯ ร้อยละ 68.38) (ช้ากว่าแผนร้อยละ 3.87)

แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินรัชดาภิเษก รวมระยะทาง 22.5 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จ ปี 2565 ประกอบด้วย

1.โครงการรัชดาภิเษก – อโศก 8.2 กิโลเมตร 2.โครงการรัชดาภิเษก – พระราม 9 เป้าหมายระยะทาง 14.3 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 26.28 (จากแผนงานฯ ร้อยละ 29.46) (ช้ากว่าแผนร้อยละ 3.18)

แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน รวมระยะทาง 127.3 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จปี 2565 อยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้างและ การก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 26.03 (จากแผนงานฯ ร้อยละ 33.57) (ช้ากว่าแผนร้อยละ 7.54) ได้แก่

1.โครงการพื้นที่เมืองชั้นใน เช่น ถนนวิทยุ (2.1 กิโลเมตร) ถนนพระราม 4 (2.3 กิโลเมตร) และถนนอังรีดูนังต์ (1.8 กิโลเมตร) 12.6 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

2.โครงการในพื้นที่เชื่อมโยงระบบส่งระหว่างสถานีไฟฟ้าต้นทาง เช่น ถนนเจริญราษฎร์ (3.8 กิโลเมตร) และถนนเพชรบุรี (1.0 กิโลเมตร) 7.4 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

3.โครงการในพื้นที่ก่อสร้างร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่น ได้แก่ โครงการในพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้า (87.1 กิโลเมตร) โครงการในพื้นที่ร่วมกรุงเทพมหานคร (13.1 กิโลเมตร) และโครงการในพื้นที่การประปานครหลวง (7.1 กิโลเมตร) อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 86.8 กิโลเมตร จัดหาผู้รับจ้าง 20.5 กิโลเมตร

แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินฉบับปฏิบัติการเร่งรัด รวมระยะทาง 20.5 กิโลเมตร มีกำหนดการแล้วเสร็จ ปี 2566 ได้แก่

1.โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงถนนรัตนาธิเบศร์ (ถนนราชพฤกษ์ – ถนนกาญจนาภิเษก) 4.4 กิโลเมตร 2.โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงถนนกรุงเทพ – นนทบุรี ถึง ถนนติวานนท์ 10.6 กิโลเมตร 3.โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียวถนนสุขุมวิท (ซอยสุขุมวิท 81 – ซอยสุขุมวิท 107) 5.5 กิโลเมตร ทั้งหมดอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 20.00 (จากแผนงานฯร้อยละ 22.40) (ช้ากว่าแผนร้อยละ 2.40)

เบิกจ่ายต่ำเป้า 59.82 %

การเบิกจ่ายงบประมาณ กฟน. ได้วางแผนการเบิกจ่ายเงินในปี 2563 จำนวนเงิน 3,866.121 ล้านบาท โดย ณ เดือนธันวาคม 2563 ได้มีการเบิกจ่ายเงินรวม 2,312.608 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 59.82 ของแผนการเบิกจ่ายฯ และจะเร่งดำเนินการเบิกจ่ายในส่วนที่เหลือโดยเร็วที่สุด ดังนี้

1.แผนงานฯ ปี 2551 – 2556 (ฉบับปรับปรุง) งบประมาณลงทุน 9,088.80 ล้านบาท แผนการเบิกจ่าย 739.997 ล้านบาท ผลการเบิกจ่าย 796.896 ล้านบาท

2.แผนงานฯ รัชดาภิเษก งบประมาณลงทุน 8,899.58 ล้านบาท แผนการเบิกจ่าย 329.597 ล้านบาท ผลการเบิกจ่าย128.371 ล้านบาท

3.แผนงานฯ รองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน งบประมาณลงทุน 48,717.20 ล้านบาท แผนการเบิกจ่าย 2,538.251 ล้านบาท ผลการเบิกจ่าย 1,060.804 ล้านบาท

4.แผนงานฯ ฉบับปฏิบัติการเร่งรัด (Quick Win)งบประมาณการลงทุน 3,673.40 ล้านบาท แผนการเบิกจ่าย 258.276 ล้านบาท ผลการเบิกจ่าย 326.537 ล้านบาท

รวม งบประมาณลงทุน 70,378.98 ล้านบาท แผนการเบิกจ่าย 3,866.121 ล้านบาท (ร้อยละ 100) ผลการเบิกจ่าย 2,312.608 ล้านบาท (ร้อยละ 59.82)

สนช. ชง วาระแห่งชาติ

ในยุคคสช.-สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาทรรศนะอุจาด (Visual pollution) ของคณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนช. ส่วนที่ 2 สายไฟฟ้า เสาไฟฟ้า สายสื่อสาร และเสาโทรคมนาคม และครม.รับทราบเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561

โดยทีนายพล-ขุนศึกในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ตบเท้านั่งเป็น กมธ.กันพรึ่บ อาทิ พล.ต.(ยศขณะนั้น) เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ โฆษกกมธ. นายสม จาตุศรีพิทักษ์ ประธานที่ปรึกษากมธ. พล.อ.จีระศักดิ์ ชมประสพ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา พล.ต.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ พล.ท.ณัฐพล นาคพาณิชย์ โดยมี พล.ท.ชัยยุทธ พร้อมสุข นั่งหัวโต๊ะ

มีการเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ดังนี้ 1.กลุ่มเจ้าของเสา ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง 2.เจ้าของใบอนุญาตพาดสาย ได้แก่ กสทช.  3.หน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ได้แก่ กทม. 4.บริษัทเอกชนที่พาดสาย ได้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ รายงานการศึกษาฯ สรุปปัญหา ว่า 1.ขาดเอกภาพและเจ้าภาพหลักที่จะสั่งการในเรื่องนี้ ไม่ใช่ภารกิจหลักขององค์กร ขัดกับหน้าที่และความรับผิดชอบขององค์กร

2.แต่ละหน่วยงานมีพระราชบัญญัติของตนเอง และมีศักดิ์เท่ากัน แต่ไม่เชื่อมโยงพระราชบัญญัติของแต่ละหน่วยงานมีช่องว่างในเรื่องทรรศนะอุจาดและการพาดสาย จึงไม่มีกฎหมายควบคุมโดยตรง ไม่มีหน่วยงานใดสั่งการ

การทำงานปัจจุบันอาศัยนโยบายของรัฐเป็นหลัก หากรัฐบาลในสมัยใดไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ก็มิได้มีการหยิบยกมาดำเนินการ การทำงานจึงเป็นลักษณะพูดจากันแบบถ้อยที ถ้อยอาศัย โทษกันไปโทษกันมา

3.เสาเป็นของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือการไฟฟ้านครหลวงและมีการกำหนดหลักเกณฑ์ ส่วนใบอนุญาตประกอบกิจการและการเก็บค่าธรรมเนียมของการขอทำธุรกิจสื่อสารขึ้นกับ กสทช. เมื่อได้ใบอนุญาตแล้วจึงมาขอพาดเสาจากการไฟฟ้าภูมิภาค หรือ การไฟฟ้านครหลวง มีการเสียค่าใช้จ่ายในการพาดเสาให้แก่ กสทช.

จะเห็นว่าการทำงานดังกล่าวยังมีช่องว่าง คือ หลักเกณฑ์การพาดสายของการไฟฟ้าที่กำหนดไว้ในการควบคุมไม่ได้นำมาใช้ในบางพื้นที่ ไม่มีหน่วยงานใดกำกับและตรวจสอบการพาดสายให้ปลอดภัย สวยงาน เป็นไปตามข้อกำหนด และเกินกำลังเสา และ บริษัทเอกชนไม่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์โดยบริษัทเองไม่ทราบเพราะมอบให้ผู้รับเหมาช่วงพาดสายดำเนินการแทน

4.ประเด็นอื่น ๆ พื้นที่ใดไม่มีเสา หน่วยงานด้านสื่อสายจะเอาสายลงดิน (ต้นทุนเอาสายลงดินจะสูงกว่าการพาดเสา) ขาดมาตรฐานการติดตั้งสายกระจาย (drop wire) บริษัทเอกชนต่างเดินสายสื่อสารเอง มีการละเมิดพาดเสาโดยไม่ได้รับอนุญาต

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะต่อครม. 1.จัดทำกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบสายคมนาคมและสายไฟฟ้า โดยบูรณาการกฎหมายของทุกหน่วยงานด้วย เพื่อมีผลในการบังคับใช้

2.กำหนดองค์กรหลักในการกำกับดูแลระดับประเทศ และองค์กรร่วมที่ชัดเจน 3.กำหนดพื้นที่ที่ควรดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารและสายไฟฟ้า และจัดความสำคัญตามลำดับก่อนหลังเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง

4.จัดระเบียบสานสื่อสารและสายไฟฟ้าเป็นวาระแห่งชาติ จัดทำแผนแม่บทระดับประเทศ (Master plan) และแผนปฏิบัติงานระดับท้องถิ่น และจัดสรรงบประมาณตามความสำคัญ

5.สนับสนุนและช่วยเหลือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถออกข้อกำหนดของท้องถิ่นในการจัดทำท่อร้อยสายคมนาคมและท่องร้อยสายไฟฟ้าในเมืองหรือพื้นที่สำคัญ และประสานการจัดพาดสายกับเสาไฟฟ้า หรือ เสาคมนาคมในบางพื้นที่ กำกับดูแล ติดตามตรวจสอบและจัดเก็บรายได้หรือภาษีจากกิจกรรมดังกล่าว

6.จัดทำมาตรการลงโทษแก้ผู้พาดสายโดยไม่ได้รับอนุญาต และผู้ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ

พลิกปูมสายไฟลงดิน

หากย้อนกลับไปรัฐบาลไทยก็มีความพยายามในการนำสายไฟฟ้าลงดินเพื่อปรับภูมิทัศน์เมืองหลวง-เมืองท่องเที่ยว แต่การดำเนินการกลับชักช้า-อืดเป็นเรือเกลือ

วันที่ 15 ตุลาคม 2556 ครม.เห็นชอบแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน รัชดาภิเษก ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เฉพาะที่จะดำเนินการในพื้นที่ถนนสายหลัก ในวงเงินลงทุนรวม 8,899.58 ล้านบาท

วันที่ 1 กันยายน 2558 ครม.เห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย โดยการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็น “มหานครแห่งอาเซียนของ” กฟน. ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม จำนวน 39 เส้นทาง เป็นระยะทาง 127.3 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน 48,717.2 ล้านบาท

ตามความเห็นของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 10/2557 โดยใช้เงินกู้เพื่อลงทุน จำนวน 39,100 ล้านบาท และเงินรายได้ของ กฟน. จำนวน 9,617.2 ล้านบาท

วันที่ 31 มกราคาม 2560 ครม.เห็นชอบให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง) วงเงินลงทุนรวม 9,088.8 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ในประเทศ จำนวน 5,400 ล้านบาท และเงินรายได้ของ กฟน. จำนวน 3,688.8 ล้านบาท

วันที่ 9 มกราคม 2561 ครม.มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง) ณ เดือนกันยายน 2560 ภาพรวมของการดำเนินการตามแผนงานฯ ระยะทางรวม 25.2 กิโลเมตร ดำเนินการไปแล้ว 3.9 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 15.5

แผนการดำเนินงานในระยะต่อไป จะมีการติดตามและเร่งรัดการดำเนินการตามแผนงานฯ ให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายและกรอบระยะเวลาที่กำหนด ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณโครงการ ปี 2560 จำนวน 480.56 ล้านบาท ปัจจุบันเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 251.02 ล้านบาท และคาดว่าจะเร่งรัดการเบิกจ่ายในส่วนที่เหลือให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานที่กำหนด ภายในเดือนธันวาคม 2560

วันที่ 24 กันยายน 2562 ครม.มีมติรับทราบแผนงาน/โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ กฟน. มีแผนดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่ที่ กฟน. ดูแลและรับผิดชอบระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และสมุทรปราการ รวมระยะทาง 251.6 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2527-2564 รวม 5 แผนงาน ดำเนินการแล้วเสร็จ 46.6 กิโลเมตร ประกอบด้วย

1.แผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 5 และฉบับที่ 7 (โครงการถนนสีลม ปทุมวัน และจิตรลดา) ระยะทาง 16.2 กิโลเมตร

2.แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2547-2552 (โครงการพหลโยธิน พญาไท และสุขุมวิท) ระยะทาง 24.4 กิโลเมตร

และ 3.แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง) ในส่วนของโครงการปทุมวัน จิตรลดา พญาไท (เพิ่มเติม) ระยะทาง 6 กิโลเมตร

การเบิกจ่ายงบประมาณ กฟน. ได้วางแผนการเบิกจ่ายเงินในปี 2562 จำนวน 2,519.744ล้านบาท โดย ณ เดือนมีนาคม 2562 ได้มีการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 340.615 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.52 ของแผนการเบิกจ่ายฯ และคาดว่าจะเร่งรัดการเบิกจ่ายในส่วนที่เหลือให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานที่กำหนดภายในเดือนธันวาคม 2562

คลอดแผน Quick Win

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 เห็นชอบในหลักการให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ฉบับปฏิบัติการเร่งรัด (Quick Win) วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 3,673.40 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ในประเทศ จำนวน 2,500 ล้านบาท และเงินรายได้ของ กฟน. จำนวน 1,173.40 ล้านบาท ระยะทางรวม 20.5 กิโลเมตร จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย

1.เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถนนรัตนาธิเบศร์ (ถนนราชพฤกษ์-ถนนกาญจนาภิเษก) 2.เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี-ถนนติวานนท์ และ 3.เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถนนสุขุมวิท (ซอยสุขุมวิท 81-ซอยแบริ่ง) ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2563-2566

วันที่ 14 กรกฎาคม 2563 ครม.มีมติรับทราบรายงานผลผลการดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2562) มีแผนงาน/โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ระยะทาง 167 กิโลเมตร จำนวน 3 แผนงาน ประกอบด้วย

1.แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง) รวมระยะทาง 25.2 กิโลเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 17.2 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จ ปี 2563

2.แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน รัชดาภิเษก รวมระยะทาง 22.5 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จ ปี 2564 และ 3.แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน รวมระยะทาง 127.3 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จ ปี 2564

การเบิกจ่ายงบประมาณ ณ เดือนธันวาคม 2562 ได้มีการเบิกจ่ายเงินรวม 1,773.615 ล้านบาท จากเป้าหมายการเบิกจ่ายในปี 2562 จำนวน 2,519.744 ล้านบาท

แผนการดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ฉบับ Quick Win) รวมระยะทาง ๒๐.๕ กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2566 ประกอบด้วย

พื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงถนนรัตนาธิเบศร์ ช่วงถนนราชพฤกษ์ถึงถนนกาญจนาภิเษก และช่วงถนนกรุงเทพ-นนทบุรีถึงถนนติวานนท์ และพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถนนสุขุมวิท ช่วงซอยสุขุมวิท 81-ซอยแบริ่ง

นอกจากนี้ยังเห็นชอบการขอทบทวนมติครม.เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 เรื่อง แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็น “มหานครแห่งอาเซียน” ของการไฟฟ้านครหลวง พื้นที่ดำเนินการกลุ่มที่ 3 (พื้นที่เปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่น) จำนวน 5 เส้นทาง ได้แก่

1.เส้นสุขุมวิท (ฝั่งจังหวัดสมุทรปราการ ช่วงสถานีย่อยบางปิ้ง-ถนนเทศบาลบางปู 77) 2.เส้นถนนเพชรบุรี [ซอยสุขุมวิท 63 (เอกมัย)-ถนนรามคำแหง] และถนนรามคำแหง (ถนนเพชรบุรี-ถนนศรีนครินทร์ ช่วงถนนเพชรบุรี-ถนนพระราม 9)

3.เส้นทางถนนอรุณอัมรินทร์ (เชิงสะพานพระราม 8-ถนนประชาธิปก) 4.เส้นทางถนนบรมราชชนนี (ถนนจรัญสนิทวงศ์-ถนนอรุณอัมรินทร์) และ 5.เส้นทางถนนพรานนก (ถนนจรัญสนิทวงศ์-ถนนอรุณอัมรินทร์)

ดังกล่าวไว้ข้างต้น การจ้างดารา-นักแสดง ศิลปินระดับโลกมาสร้างภาพลักษณ์ประเทศ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวหลังโควิด-19 คลี่คลาย-โกยรายได้เข้าประเทศในช่วง “นาทีทอง” แต่ถ้าปัญหาหมักหมม-ซุกใต้พรมยังไม่ได้แก้ไข

ต่อให้ 10 ลิซ่า ก็ไม่สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลกลากกระเป๋ามาจับจ่ายใช้สอย-พำพักในประเทศไทย ถ้าผู้นำไม่มีวิสัยทัศน์-ขาดความกล้าหาญทางการเมือง ภาครัฐ-เอกชน ไม่ร่วมมือ