กองทุนหุ้นจีนมาวิน! ครึ่งปีแรกเงินไหลเข้ามากสุด 7.1 หมื่นล้าน

“มอร์นิ่งสตาร์” เผยครึ่งปีแรกเงินไหลเข้า “กองทุนหุ้นจีน” มากที่สุด มูลค่ากว่า 7.1 หมื่นล้านบาท ฟาก “กองทุนตลาดเงิน (MMF)” เงินไหลออกมากที่สุดมูลค่า 9.4 หมื่นล้านบาท ชี้เทรนด์เม็ดเงินไหลเข้ายังเป็นการลงทุนในต่างประเทศ

วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ครึ่งปีแรกของปี 2564 กองทุนที่มีเงินไหลเข้า-ออกมากที่สุดจัดตามกลุ่ม  Morningstar Category พบว่ากองทุนกลุ่ม China Equity (กองทุนหุ้นจีน) เติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 15.2% แต่เงินไหลเข้ามีการชะลอตัวลงในไตรมาส 2 มีเงินไหลเข้า 1.6 หมื่นล้านบาท จากไตรมาสแรกมีเงินไหลเข้ากว่า 5 หมื่นล้านบาท

แต่โดยรวมช่วงครึ่งปีแรกยังเป็นกองทุนที่มีเงินไหลเข้ามากที่สุดเป็นอันดับที่หนึ่งรวม 7.1 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกันกับกลุ่ม Global Equity (กองทุนหุ้นทั่วโลก) ที่เติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 14.4% มีเงินไหลเข้าสุทธิ 7.6 พันล้านบาท เทียบกับไตรมาสแรกที่มีเงินไหลเข้ากว่า 4 หมื่นล้านบาท แต่โดยรวมในช่วงครึ่งปีแรกมีเงินไหลเข้ามากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รวม 5.1 หมื่นล้านบาท

ส่วนกองทุนที่มีเงินไหลเข้าลำดับต่อมาคือกลุ่ม Foreign Investment Bond Fix Term (ตราสารหนี้ต่างประเทศกำหนดระยะเวลา) โดยในช่วงไตรมาส 2 มีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.9 หมื่นล้านบาท รวมครึ่งปีแรกมีเงินไหลเข้าเป็นอันดับที่ 3 รวม 3.2 หมื่นล้านบาท และ Foreign Investment Miscellnaeous (กองทุนที่มีลักษณะไม่เข้าเกณฑ์กลุ่มอื่น) ในไตรมาส 2 มีเงินไหลเข้าเพียง 9 พันล้านบาท แต่ในรอบครึ่งปีแรกมีเงินไหลเข้ามากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 รวม 3.1 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับกลุ่มตราสารหนี้ต่างประเทศกำหนดระยะเวลา

ซึ่งในฝั่งที่มีเงินไหลเข้าส่วนมากจะเป็นการลงทุนในต่างประเทศ ยกเว้นกลุ่ม Short Term Bond (กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น) มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 7% จากไตรมาสก่อนหน้าและ 20% จากไตรมาส 2/63 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 5.7 แสนล้านบาท หรือใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดที่ 5.8 แสนล้านบาท ส่วนในไตรมาส 2/64 มีทิศทางกลับมาเป็นเงินไหลเข้าสุทธิและสูงสุดในไตรมาส 2 รวม 3.5 หมื่นล้านบาท หลังจากมีเงินไหลออก 6.4 พันล้านบาทในไตรมาสแรก รวมครึ่งปีแรกเป็นเงินไหลเข้าสูงเป็นอันดับที่ 5 รวม 2.9 หมื่นล้านบาท โดยมีกองทุน K SF Plus เป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดของกลุ่มที่มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท และมีเม็ดเงินไหลเข้าสูงสุดที่ 2 หมื่นล้านบาท

เช่นเดียวกับกองทุนกลุ่ม Mid/Long Term Bond (กองทุนตราสารหนี้ระยะกลางและยาว) ที่พลิกกลับเป็นเงินไหลเข้าในไตรมาส 2 ที่ 4.1 พันล้านบาท จากไตรมาสที่แล้วเงินไหลออกสุทธิ 1.6 หมื่นล้านบาท รวมครึ่งปีเป็นเงินไหลออกสุทธิ 1.2 หมื่นล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือ 3.3% จากไตรมาสแรก และเป็นมูลค่าสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด โดยมีกองทุน ttb smart port preserver เป็นกองทุนเปิดใหม่ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดที่ 2.1 พันล้านบาท

ในทางกลับกันกลุ่ม Money Market (กองทุนรวมตลาดเงิน) ที่เป็นกลุ่มกองทุนขนาดใหญ่สุดด้วยมูลค่า 6.6 แสนล้านบาท แต่เป็นมูลค่าที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตลอด 1 ปีที่ผ่านมา โดยอาจแสดงถึงเม็ดเงินที่กลับเข้าลงทุนในกองทุนอื่นที่มีเงินไหลออกในช่วงก่อนหน้าเพิ่มขึ้น เช่น กองทุนตราสารหนี้ โดยมีเงินไหลออกสุทธิมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในรอบครึ่งปีแรกรวม 9.4 หมื่นล้านบาท ส่วนในไตรมาส 2 ยังคงเป็นการไหลออกสุทธิ 3.9 หมื่นล้านบาท

ส่วนกองทุนกลุ่ม Equity Large-Cap  (กองทุนรวมหุ้นขนาดใหญ่ ) มีมูลค่าทรัพย์สินลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า 3.4% แต่เพิ่มขึ้นจากมิถุนายนปี 2563 ที่ 2.9%  มีมูลค่าทรัพย์สินล่าสุดสูงเป็นอันดับ 2 ที่ 6.4 แสนล้านบาท หรือต่ำกว่ากองทุนกลุ่ม Money Market เพียงเล็กน้อย โดยในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลออกสุทธิ 6.1 พันล้านบาท รวมครึ่งปีแรกเงินไหลออกสูงเป็นอันดับที่ 2 รวม  2.5 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ Global Bond (กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ) ที่ในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลออกสุทธิ 6.3 พันล้านบาท รวมครึ่งปีแรกเงินไหลออกจากกลุ่มนี้สูงเป็นอันดับที่ 3 รวม  1.8  หมื่นล้านบาท