วิชาใช้เงิน (ฉบับมือใหม่หัดใช้) 3 เทคนิค “แบ่งจ่าย-ใช้ให้หมด-จดให้ยับ”

ฉัตรี ชุติสุนทรากุล นักวางแผนการเงิน CFP® สะท้อนวิชาที่สำคัญไม่แพ้วิชาหาเงินคือ “วิชาใช้เงิน”

วิชาต่าง ๆ ที่พวกเราฝึกฝนมาตั้งแต่เล็กจนโต ส่วนใหญ่แล้วเป็นวิชาที่ช่วยให้เราสนุกกับการหาเงิน ทำให้เรากลายเป็นคนที่ขยันทำงานกันมาก ๆ เพื่อที่จะหาเงินได้เยอะ ๆ แต่หลายคนกลับพบกับความจริงอันเจ็บปวดที่ว่า ทำงานหนักมีรายได้เยอะ แต่ก็ยังมีเงินไม่พอใช้ แถมบางคนยังต้องทำงานหาเงินเลี้ยงชีพไปจนวันสุดท้ายของชีวิต วันนี้จึงขอเชิญชวนมาสนุกกับอีกวิชาที่ผู้คนมักหลงลืม วิชาที่สำคัญไม่แพ้วิชาหาเงิน ซึ่งก็คือ “วิชาใช้เงิน”

เนื้อหาของวิชาใช้เงิน ได้ถูกแบ่งออกเป็น 3 ภาค โดยในแต่ละภาคจะมีเกม (Quest) ให้ลองเล่นสนุกกันด้วย

วิชาใช้เงิน ภาคที่ 1 : แบ่งจ่าย

“แบ่งจ่าย” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง แนะนำให้ผ่อนชำระ แต่หมายถึงการให้เราแบ่ง “รายได้ที่ได้มาเป็นก้อน” ในแต่ละครั้ง หรือในแต่ละเดือน แจกจ่ายออกเป็นส่วน ๆ ใส่กระปุกต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  1. แบ่งจ่ายใส่ “กระปุกแห่งอนาคต” หรือจะใครจะเรียกว่ากระปุกแห่งความฝันก็ไม่ผิด โดยตั้งชื่อให้เป็น กระปุกฝันไกล (ฝันจะเป็นจริงในอีก 5-10 ปี หรือไกลกว่านั้นก็ได้) และ กระปุกฝันใกล้ (ฝันจะเป็นจริงในอีก 3-5 ปีข้างหน้า)

ตัวอย่าง กระปุกฝันไกล เช่น เราฝันไว้ว่าอยากมีเงินใช้ระหว่างอายุ 60-80 ปี เดือนละ 25,000 บาท โดยไม่ต้องทำงานหาเงินแล้วหลังอายุ 60 ปี ​เราจึงต้องมีเงินเต็มกระปุกเป็นจำนวน 6,000,000 บาท ณ วันที่เราอายุ 60 ปี เพื่อใช้ไปอีก 20 ปี (คิดตรงๆ โดยสมมุติว่าโลกนี้ไม่มีเงินเฟ้อ) ระหว่างนี้เราก็ค่อย ๆ หยอดเงินเข้ากระปุกนี้ไปเป็นประจำจนเงินเต็มกระปุก

ตัวอย่าง กระปุกฝันใกล้ เช่นเราฝันว่าอยากจะมีเงินดาวน์รถใหม่ในอีก 3 ปีข้างหน้า เป็นเงิน 240,000 บาท ระหว่างนี้ทุกเดือนเราก็ต้องแบ่งเงินมาใส่เตรียมไว้ในกระปุกนี้ประมาณ 6,667 บาท ต่อเดือน

  1. แบ่งจ่ายใส่ “กระปุกขาประจำ” เตรียมไว้สำหรับทุบกระปุก นำเงินมาจ่ายจริงเมื่อถึงรอบจ่าย ตัวอย่างเช่น กระปุกค่างวดรถเดือนละ 5,000 บาท, กระปุกค่าผ่อนบ้าน เดือนละ 8,000 บาท, กระปุกเบี้ยประกัน ปีละ 300,000 บาท (หรือเดือนละ 25,000 บาท) หรือกระปุกค่าเทอมลูก ซึ่งกระปุกขาประจำก็คือ เงินที่เราเตรียมไว้สำหรับค่าใช้จ่ายที่มาเป็นประจำเท่า ๆ กัน ในแต่ละงวดนั่นเอง
  2. แบ่งจ่ายใส่ “กระปุกขาจร” ตัวอย่างของเงินในกระปุกขาจร ก็คือเงินที่ถูกแบ่งไว้เป็น ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าน้ำค่าไฟ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ ค่าเสื้อผ้า ค่าสนุกสนาน เป็นต้น
  3. กระปุกฉุกเฉิน ชื่อก็บอกชัดว่าเราจะทุบกระปุกนี้ได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเท่านั้น ดังนั้นให้นำกระปุกนี้ไปฝังดิน หรือเก็บไว้ห่างๆ อย่างห่วง ๆ หากไม่มีเหตุฉุกเฉินเช่นรายได้ลดลงกระทันหัน เราก็เก็บเงินในกระปุกนี้ให้คงเหลือไว้นิ่ง ๆ เป็นจำนวนเท่ากับ (เงินในกระปุกขาจร และกระปุกขาประจำ ต่อเดือน) x 6 เดือน หากมีเหตุฉุกเฉินนำเงินไปใช้ ก็ควรจะรีบนำเงินกลับมาเติมกระปุกนี้ให้เต็มโดยเร็วที่สุด

เกมท้ายบทเรียน วิชาใช้เงิน ภาคที่ 1 :

  1. จดชื่อกระปุกต่าง ๆ ของตนเองลงในกระดาษ พร้อมประเมินว่าเงินเต็มกระปุกของแต่ละกระปุกคือเท่าไร
  2. ในแต่ละเดือนควรจ่ายเงินเข้าแต่ละกระปุก เป็นจำนวนเงินกระปุกละกี่บาท เพื่อให้เต็มกระปุกภายในกีปี
  3. นำรายได้ในแต่ละเดือน มาแบ่งจ่ายใส่กระปุกต่าง ๆ ตามจำนวน โดยจ่ายให้หมดห้ามเหลือเงินไว้นอกกระปุก

ผู้ชนะในเกมนี้ก็คือ ผู้ที่สามารถแบ่งเงินที่ได้มาในแต่ละเดือน ไปหยอดได้ครบทุกกระปุก ตามจำนวนที่กำหนดในข้อ 2 และเมื่อสอบผ่านแล้ว เราก็เข้าสู่วิชาใช้เงิน ภาค 2 ได้เลย

 วิชาใช้เงิน ภาคที่ 2 : ใช้ให้หมด

หาเงินมาทั้งที ก็ต้องใช้เงิน และจะใช้ทั้งทีก็ต้องใช้ให้หมดด้วย แต่คำว่า “ใช้ให้หมด” ในที่นี้ขอให้หมายถึง “ใช้เงินในทุกกระปุก ทำงานให้หมด” เราทำงานหนักแล้ว ให้เงินช่วยเราทำงานบ้าง แต่ก่อนจะใช้เงินให้ทำงานได้ เราต้องศึกษานิสัยของเงินในแต่ละกระปุกกันก่อน

กระปุกแห่งอนาคต หรือกระปุกแห่งความฝัน นิสัยของเงินในกระปุกนี้ คือ ขยัน และชอบร้องเพลง “รู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง” โดยเฉพาะเงินในกระปุกฝันไกล เราสามารถใช้ให้เขาทำงานแบบเสี่ยงได้มากกว่าเงินในกระปุกอื่น ๆ เช่นใช้เงินในกระปุกนี้ไปทำงานเป็นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หรือไปเป็นกองทุนต่าง ๆ ในตลาดหุ้น เป็นต้น ส่วนเงินในกระปุกฝันใกล้ ก็ให้เขาทำงานแบบเสี่ยงต่ำลงมาหน่อย เช่นให้เขาไปทำงานเป็นหุ้นกู้ หรือไปเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นกู้ เป็นต้น

เมื่อเราให้เงินช่วยทำงาน เงินในกระปุกฝันไกลและฝันใกล้ จึงงอกเงยแตกตัวเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ได้เองระหว่างทำงานให้เรา ผลก็คือเราสามารถมีฝันที่ใหญ่ขึ้น หรือเราสามารถมีจำนวนความฝันที่เยอะขึ้นได้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เราต้องศึกษาเพิ่มเติมเรื่องความเสี่ยงในการใช้เงินทำงาน หรือความเสี่ยงในการนำเงินในกระปุกนี้ไปลงทุนนั่นเอง ความรู้ช่วยลดความเสี่ยงได้ เราจึงต้องศึกษาเอกสารการลงทุนด้วยทุกครั้ง หรือมีที่ปรึกษาด้านการลงทุนที่มีความชำนาญเป็นผู้ช่วยเราดูลาดเลาด้วย

กระปุกขาประจำ เงินในกระปุกนี้เขามีนิสัย ขี้กลัว เพราะเขาขี้กลัว เราจึงใช้เงินในกระปุกนี้ทำงานเสี่ยงมากไม่ได้ ตัวอย่างการใช้เงินในกระปุกนี้ทำงาน เช่น เอาเงินในกระปุกนี้ไปทำงานในบัญชีฝากประจำ 6 เดือน บัญชีออมทรัพย์ หรือให้เงินไปทำงานในกองทุนตลาดเงิน ที่ความเสี่ยงไม่เกินระดับ 3 ซึ่งเราสามารถซื้อขายได้ทุกวันทำการ และพอจะมั่นใจได้ว่าเงินต้นไม่หดหายไปอย่างน่าตกใจ เพราะเงินในกระปุกนี้คือเงินที่เราต้องเตรียมไว้ทุบกระปุกออกมาใช้ในระยะเวลา 12 เดือน หรือต่ำกว่านั้น

กระปุกขาจร เงินในกระปุกนี้เขามีนิสัย ขี้เกียจ เราจึงใช้เงินในกระปุกนี้ให้ทำงานหนัก ๆ ไม่ได้ แต่เราจะใช้เขาได้ในแง่ของการนำเงินในกระปุกนี้ไปซื้อความสุขในชีวิตประจำวัน เมื่อเราจัดสรรเงินไว้อย่างดีแล้วในแต่ละกระปุกที่กล่าวมาทั้งหมดก่อนหน้านี้ เราก็สามารถใช้เงินขี้เกียจในกระปุกนี้ ซื้อความสุขให้เราได้อย่างเต็มที่ แต่ถ้าตอนเล่นเกม ท้ายบทเรียน วิชาใช้เงิน ภาคที่ 1 เรายังไม่สามารถมีเงินไปหยอดในกระปุกแรก ๆ ได้อย่างเพียงพอ เราก็ต้องใช้ใจเราช่วยทำงานแทนเงิน นั่นก็คือ อดทน อดกลั้น ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ลดจำนวนเงินที่ต้องหยอดเข้ากระปุกนี้ให้ได้ เงินขี้เกียจไม่ต้องเลี้ยงไว้เยอะก็ได้ จริงไหม

เกมท้ายบทเรียน วิชาใช้เงิน ภาคที่ 2 :

ลองคำนวณเล่น ๆ ว่าในปีที่ผ่านมาเราเพิ่มเงินเข้ากระปุกเงินขยัน เงินขี้กลัว และเงินขี้เกียจ คิดเป็นสัดส่วนเท่าไร? เรามีแผนเพิ่มเงินขยันอย่างไร และมีแผนปฏิบัติการจู่โจม ลดจำนวนเงินขี้เกียจลงได้อย่างไรบ้าง?

วิชาใช้เงิน ภาคที่ 3 : จดให้ยับ

จดให้ยับ ก็คือการที่เราควรจดบันทึกความเคลื่อนไหวของเงินในทุกกระปุกเอาไว้ทั้งหมด ข่าวดีคือในปัจจุบันมีแอปพลิเคชัน ต่างๆ มากมายเป็นผู้ช่วยเราได้

กระปุกฝันใกล้ กระปุกฝันไกล และกระปุกขาประจำ : แอปพลิเคชั่นที่ช่วยเราจดบันทึกความเคลื่อนไหวได้ก็คือ แอปพลิเคชั่นการลงทุนของสถาบันต่าง ๆ ที่เราสั่งให้เงินไปประจำการ ทำงานให้เราอยู่นั่นเอง

กระปุกขาจร และตอนทุบกระปุกขาประจำ นำเงินออกมาใช้ การจดยับแบบละเอียดยิบ จะช่วยทำให้เราจดจำได้ว่า เรานำเงินไปใช้ซื้อความสุขอะไรบ้าง ซึ่งก็มีแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ มากมายในมือถือ ที่ช่วยเราจดบันทึกได้อย่างรวดเร็ว และเป็นหมวดหมู่ แนะนำให้จดเมื่อจ่ายในทันทีจะได้ไม่ลืม การจดจะช่วยให้เราคิดหาแผนปฏิบัติการจู่โจม ลดเงินขี้เกียจได้อย่างแม่นยำด้วย

บทสรุปพร้อมเกมส่งท้าย :

สนุกกับการหาเงินแล้วต้องสนุกกับการใช้เงินด้วย หวังว่าวิชาใช้เงินจะช่วยให้เราสนุกกับการใช้เงินอย่างถูกวิธี เมื่อเราเพิ่มเงินขยัน ลดเงินขี้เกียจได้ เราก็จะมีเงินใช้เพลิน ๆ ไปตลอดชีวิตอย่างแน่นอน และสำหรับเกมส่งท้ายก็คือ ขอท้าทายให้ทุกคนลองนำวิชาใช้เงินไปใช้จริง ติดตามการทำงานของเงินแต่ละกระปุก และนำวิชานี้ไปบอกต่อค่ะ