อุทยานผู้นำ IMET MAX#5 เมนเทอร์ 12 CEO ปั้นนักธุรกิจรุ่นใหม่

IMET

IMET MAX#5 เวทีบ่มเพาะต้นกล้าสร้างผู้นำธุรกิจคนรุ่นใหม่ทั้งเก่งและดี เข้าสู่ปีที่ 5 ในปี 2566 นี้
โดย IMET MAX เป็นหลักสูตรที่ไม่มีทั้งตำราและคลาสเรียนแบบเฉพาะเจาะจง IMET รับผิดชอบค่าใช้จ่ายหลักทั้งหมดของ Mentee ใช้ระยะเวลาเข้าอบรมแบบจบในปี ไฮไลต์อยู่ที่รับจำนวนจำกัดเพียงปีละ 36 คนเท่านั้น

จุดเริ่มต้น IMET MAX

ชื่อเต็ม ๆ โครงการ “IMET MAX-IMET Mentorship Academy for Excellent Leaders” เป็นโครงการที่มุ่งเน้นส่งต่อปัญญา เพื่อพัฒนาชีวิตและสังคม (Wisdom for Life and Social Values) ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงรุ่นที่ 5

เปิดรับสมัครผู้นำรุ่นใหม่มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งใน “อุทยานผู้นำ” โดยมีผู้เข้าร่วมอบรม (Mentee) 4 รุ่นที่ผ่านมาจำนวนทั้งสิ้น 132 คน และมีผู้บริหารชั้นนำระดับประเทศร่วมเป็นเมนเทอร์ (Mentor) แล้ว 23 คน

ต้นทางคือ “มูลนิธิเพื่อสถาบันการศึกษาวิชาการจัดการแห่งประเทศไทย” หรือ IMET มีวัตถุประสงค์มุ่งสร้างอุทยานผู้นำ เพื่อเป็นศูนย์รวมผู้นำของชาติและเป็นศูนย์กลางการบ่มเพาะผู้นำรุ่นใหม่ให้ก้าวสู่ความเป็นผู้นำที่พร้อมทั้งความเก่งและความดี ควบคู่ไปกับการตอบแทนคุณสู่สังคมไทยได้

ทั้งนี้ ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว ยังไม่มีหลักสูตร mini MBA ที่หลากหลายดังเช่นปัจจุบัน IMET ได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางความร่วมมือกับสถาบันวิชาการ จัดหลักสูตรอบรมด้านบริหารจัดการบุคลากร และสัมมนาหัวข้อวิชาการต่าง ๆ มีสถิติอบรมไปแล้วมากกว่า 18,000 คน

จนกระทั่งมีการริเริ่มโครงการ “IMET MAX” เพื่อเป็นเวทีรวมเหล่าผู้บริหารระดับสูงจากหลากหลายองค์กรชั้นนำของประเทศมาเป็น “เมนเทอร์” (Mentor) ถ่ายทอดประสบการณ์อันมีค่าที่สะสมมายาวนาน ตลอดทั้งให้คำชี้แนะ ให้คำปรึกษา ให้มุมมองสะท้อนย้อนคิด (Reflection) และสร้างแรงบันดาลใจให้กับ “เมนที” (Mentee) ซึ่งเป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงของสังคม

ทำเนียบ Mentor 12 CEO

สำหรับปีที่ 5 “IMET MAX#5” มี 12 ผู้บริหารชั้นนำระดับประเทศ หรือ 12 CEO ตอบรับคำเชิญร่วมเป็นเมนเทอร์ (Mentor) เรียบร้อยแล้ว

ลิสต์รายชื่อประกอบด้วย 1.“กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด 2.“จรีพร จารุกรสกุล” ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 3.“จรัมพร โชติกเสถียร” กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

4.“ธีรพงศ์ จันศิริ” ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 5.“บรรยง พงษ์พานิช” ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) 6.“ปรีชา เอกคุณากูล” กรรมการ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) 7.“ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) 8.“ภาณุ อิงคะวัต” ผู้ริเริ่มและก่อตั้งบริษัท GREYHOUND และ GREYHOUND CAFE ประเทศไทย

9.“วรรณิภา ภักดีบุตร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) 10.“ดร.วิรไท สันติประภพ” อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 11.“วิบูลย์ ตวงสิทธิสมบัติ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทนันยางเท็กซ์ไทล์ และ 12.“สมประสงค์ บุญยะชัย” ประธานกรรมการ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)

ผู้สนใจสมัครเป็นเมนที (Mentee) ในโครงการ IMET MAX สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.imet.or.th/imetmax และ YouTube Channel: IMET MAX Thailand และสมัครเข้าร่วมโครงการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันนี้-31 มกราคม 2566

และกำหนดเปิดโครงการวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 จากประสบการณ์ 4 รุ่นที่ผ่านมาใช้เวลา 8-9 เดือน คาดว่ากำหนดปิดโครงการ IMET MAX#5 ในเดือนพฤศจิกายน 2566

คีย์เวิร์ด “คนลับคมด้วยคน”

“ธนพล ศิริธนชัย” กรรมการมูลนิธิ IMET และประธานโครงการ IMET MAX กล่าวถึงหัวใจสำคัญของการพัฒนาคนรุ่นใหม่ว่า ผู้นำรุ่นใหม่ล้วนแล้วแต่มีความเก่ง และมีความสามารถสูงทั้งสิ้น แต่ในโลกปัจจุบัน จะเก่งอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเป็นคนดีและมองถึงการตอบแทนให้กับสังคมด้วย

โดยโครงการได้รับเกียรติจากผู้บริหารชั้นนำระดับประเทศมาร่วมเป็นเมนเทอร์ (Mentor) ทำให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ได้มีโอกาสรับรู้ประสบการณ์อันมีค่าของแต่ละท่านได้

“ต้องขอบคุณ Mentor ทุกท่านที่เข้าร่วมโครงการ ล้วนมีจิตสาธารณะพร้อมเสียสละเวลาอันมีค่า และทุ่มเททำหน้าที่เป็นเมนเทอร์ เปิดโอกาสพูดคุย และแลกเปลี่ยนมุมมองกับ Mentee เพื่อใช้บริหารจัดการปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นในเรื่องสติปัญญาที่สมบูรณ์พร้อม Wisdom for Life and Social Values ที่ช่วยสร้างคุณค่าและความสมดุลของชีวิต ทั้งในเรื่องงาน การใช้ชีวิต และการตอบแทนสังคม”

“ธนพล” กล่าวว่า IMET MAX#5 ต้องการพัฒนาให้ผู้นำธุรกิจเก่งและมีจิตใจผู้ประกอบการในการตอบแทนให้กับสังคม เราเชื่อว่าผู้บริหารรุ่นใหม่ที่เติบโตอย่างเร็ว อาจจะเป็น CEO ทายาทธุรกิจ อาจมีปัญหาหรือมีอิสชูส์ที่ตัวเองประสบ ไม่แน่ใจว่าจะหาคำตอบหรือพูดคุยกับใคร

ซึ่งมีคำพูดว่า “เหล็กลับคมด้วยเหล็ก คนลับคมด้วยคน” IMET MAX#5 ก็เฉกเช่นเดียวกัน

“เรามองกระบวนการเรียนรู้ว่าคงไม่ได้เกิดจากการอ่านตำราหรือสอนเพียงอย่างเดียว เราเชื่อกระบวนการทำ mentoring แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านการพูดคุย เรามีผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในเรื่องการงาน การใช้ชีวิต มาพูดคุยกับ Mentee ชวนคิด และบางครั้งช่วยคิด มีเรื่องการ reflection สะท้อนสิ่งที่ผู้นำธุรกิจมองไปข้างหน้าว่าเป็นสิ่งที่ Mentee ต้องการหรือเปล่า”

คำอธิบายคือ IMET MAX#5 ไม่ได้ต้องการสร้างนักธุรกิจที่เก่งกาจมากขึ้น เพราะหลายท่านเก่งอยู่แล้ว แต่เรา mentoring ในด้าน wisdom for life & socilal values การแสวงการใช้ชีวิตทั้งด้านการงานและการใช้ชีวิต ควรจะเป็นอย่างไร

“กระบวนการของเราไม่ใช่หลักสูตรที่จะมีหนังสือเรียน เราไม่มีห้องเรียน และไม่มีงานปาร์ตี้ แต่เป็นกระบวนการให้ผู้บริหารที่มีประสบการณ์เป็นเมนเทอร์ และเป็นจิตอาสาด้วย เราแมตช์ Mentor 1 คนกับ Mentee 3 คน เท่ากับแต่ละรุ่นจะมี Mentee 36 คนเท่านั้น”

สำหรับคุณสมบัติผู้สนใจต้องการเป็น Mentee ในโครงการ IMET MAX#5 มีเกณฑ์พิจารณา คือ 1.เป็นผู้นำรุ่นใหม่ 2.อายุ 35-45 ปี 3.อยู่ในแวดวงธุรกิจรุ่นใหม่ โดยไม่จำกัดเฉพาะวงการธุรกิจเท่านั้น แต่เปิดกว้างให้กับข้าราชการ นักวิชาการ หรือใครก็ตามที่มั่นใจว่าสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้

แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

“กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ในฐานะ Mentor โครงการ IMET MAX ปีนี้เป็นปีที่ 3 กล่าวว่า ตนเองและ Mentor ทุกท่านที่อาสาเข้าร่วมโครงการล้วนมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการตอบแทนสังคม และการพัฒนา Mentee ซึ่งเป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่สมัครเข้าร่วมโครงการให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงพลังและทรงคุณค่าของสังคม

ความตั้งใจเข้าร่วมโครงการในฐานะผู้ให้ คือ ให้ความรู้ ให้คำแนะนำ ถ่ายทอดประสบการณ์ แต่ท้ายที่สุดแล้ว กลับได้มีโอกาสในการเรียนรู้ทักษะ มุมมอง และความคิดของผู้นำรุ่นใหม่ จึงทำให้วิน-วิน เพราะ Mentor และ Mentee ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน

“เราคิดว่าเราส่งพลังใจให้เขา แต่กลายเป็นเขาส่งพลังใจมาให้เรามากกว่า เห็นชัดเลยว่า อนาคตของชาติอย่างน้อง ๆ มีไฟมาก ไฟนี้ไม่ใช่เพียงแค่จะเติบโตแล้วเก่งอย่างเดียว แต่เป็นไฟที่อยากจะทำความดีให้กับผู้อื่น สังคม และประเทศชาติ”

และ “คุณวู้ดดี้ (ธนพล ศิริธนชัย) พูดว่า Mentor ไม่มีค่าตอบแทน (ไม่รับค่าตอบแทน) แต่จริง ๆ ค่าตอบแทนที่ Mentor ได้ คือการให้คนที่จะมีโอกาสเติบโตต่อไปทั้งในด้านหน้าที่การงานและการใช้ชีวิต”

จุดที่ “Mentor กอบกาญจน์” ประทับใจจากเวที IMET MAX เพราะเป็นสิ่งได้รับก็คือตัว Mentor เองได้ empower ด้วย

“IMET MAX เหมือนโรงเรียนชีวิต ทำให้เข้าใจว่าคนรุ่นใหม่เขาคิดอะไร เขาอาจคิดไม่เหมือนคนรุ่นเรา อาจไม่ชอบเราหรือไม่ชอบประเทศก็แล้วแต่ สุดท้ายก็อยู่ที่การ communication กัน หลักสูตรนี้เป็นเวทีให้เราได้สื่อสารกัน รู้เลยว่าทุกคนคิดดี และทุกคนอยากจะทำดีต่อไป ซึ่ง IMET MAX มีกิจกรรมที่ให้ทุกคนดึงวิสดอมออกมา เป็นวิสดอมที่ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเท่านั้น แต่วิสดอมที่เราจะมีแรงผลักดันต่อไปให้สังคมโลกเราดีขึ้นต่อไปในอนาคต”

ปลดล็อกด้วย ชวนคิด-ช่วยคิด

ด้าน “ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) ในฐานะ Mentee รุ่นที่ 1 และคณะทำงานโครงการ IMET MAX กล่าวว่า การตั้งเป้าหมายและสร้างแผนทั้งกับชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวนั้น ส่วนหนึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากกระบวนการชวนคิดของพี่ ๆ Mentor ทำให้เราในฐานะ Mentee เห็นเป้าหมายของตัวเอง และมีเจตนารมณ์ในการใช้ชีวิตที่ชัดเจนมากขึ้น

บางปัญหาที่เราไม่สามารถปรึกษาคนรอบข้างหรือคนในองค์กรได้ กลับได้รับการปลดล็อกจากกระบวนการ mentoring ที่พี่ ๆ Mentor ได้ชวนคิดและช่วยคิด ทำให้เรามีมุมมองในการจัดการปัญหาเหล่านี้ได้แหลมคมขึ้น

การได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ IMET MAX โดยมูลนิธิ IMET เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดนั้น ทำให้ Mentee ที่เข้าร่วมโครงการรู้สึกซาบซึ้งในโอกาสที่ได้รับ และอยากส่งต่อพลังบวก และพลังความดี ออกไปสู่สังคมในวงกว้างยิ่ง ๆ ขึ้นไป

“ผมเชื่อว่ากระบวนการ mentoring เป็นโอกาสในการเดินทางไปหาดาวเหนือของเรา สิ่งที่เราเจอบางครั้งน้อง ๆ ไม่แน่ใจว่าดาวเหนือยังใช่อยู่หรือเปล่า บางทีมีทางแยกมีอะไรต่าง ๆ การที่เราได้มีการสะท้อนความคิด เปิดหัวใจ มีผู้หลักผู้ใหญ่ให้เวลา และหวังดี อยากเห็นพวกเราเป็นต้นกล้าที่จะเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานผู้นำ ในการเป็นแรงบวกให้กับสังคมต่อไป ผมคิดว่าเป็นแรงบวกให้กับผมเอง ดาวเหนือชัดเจนขึ้น ไม่ใช่เรื่องธุรกิจอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องสังคมด้วย”

โดย “ปิยะดิษฐ์” กล่าวสรุปว่า วิสดอมคือปัญญา กระบวนการที่เกิดขึ้นมีการแนะนำไอเดีย ไม่ได้บอกว่าเกิดอะไร แต่เป็นการถาม ชวนคิด-ชวนคุย ทำให้เราเกิดความมั่นใจในการเดินทางต่อไปได้ ดาวเหนือที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งเดียวที่มอง อาจไม่ใช่เรื่องธุรกิจเพียงอย่างเดียว

“เราอยากเห็นสังคมที่เดินไปข้างหน้าอย่างรอบคอบ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เดินหน้าได้ลึกขึ้น และกว้างขึ้น เป็นทั้งวิชั่นและมิสชั่นของ IMET MAX#5 ที่จะมาร่วมกันทำให้เกิดขึ้นจริง”