ครึ่งปีหลังอสังหาฯ 2566 บริหารความเสี่ยง “ต้นทุน-รัฐบาลใหม่”

2คนอสังหาฯ

เกือบ 3 สัปดาห์นับจากวันเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ประเทศไทยคุกรุ่นอยู่กับสุญญากาศการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ 2 คน 2 คมคิด ดีเวลอปเปอร์บิ๊กแบรนด์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ กับความคาดหวังที่มีต่อรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ และมีนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 อยากให้เข้ามาทำอะไรบ้าง เพื่อนำไปสู่การพลิกฟื้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 นี้

โดยมีแขกรับเชิญ CEO จาก 2 สำนัก “กรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์” CEO บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASW กับ “ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) รายละเอียดมีดังนี้

กรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์
กรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์

กรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอสเซทไวส์ (ASW)

จากการประเมินทิศทางเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง 2566 มุมมองผมน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เพราะต้องยอมรับว่าในไตรมาส 2/66 กำลังซื้อมีการชะลอตัวจากหลายปัจจัย ทั้งการเลือกตั้ง และเป็นช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ทำให้เป็นช่วงโลว์ซีซั่นของธุรกิจที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว

ในขณะที่ครึ่งปีหลังมีปัจจัยเข้ามาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิดอย่างชัดเจน ประกอบกับเริ่มคลายความกังวลเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากการประชุมคณะกรรมการการเงิน หรือ กนง.เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 อนุมัติขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% หรือ 25 สตางค์

ในขณะที่เทรนด์จนถึงสิ้นปีนี้ คาดว่าไม่น่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก หรือกรณีถ้า กนง.จะปรับขึ้นก็คิดว่าไม่เกิน 25 สตางค์ ซึ่งไม่คิดว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้บริโภคแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยังรวมถึงจะมีความชัดเจนในการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ตามช่วงเวลาคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นภายในไตรมาส 3/66 ทำให้มีความเชื่อมั่นเกิดขึ้นในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กังวลมากที่สุดคือ ความอ่อนแรงของกำลังซื้อในภาพรวม และรายได้กลุ่มรากหญ้า ที่มีภาระหนี้สินจำนวนมาก พิจารณาจากอัตราหนี้ครัวเรือน
ที่ยังทรงตัวในระดับสูง หากรัฐบาลใหม่ไม่สามารถเข้ามาบริหารจัดการได้ อาจจะกดดันให้การจับจ่ายใช้สอยในช่วงครึ่งปีหลังนี้เป็นไปอย่างจำกัด

ประเด็นต้นทุนดอกเบี้ยในครึ่งปีหลัง ซึ่งได้ประมาณการไว้ตั้งแต่ปี 2565 แล้ว และคิดว่าตอนนี้ กนง.คงไม่น่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นไปกว่านี้มากนัก ประเมินว่าจะคงสภาวะนี้ไปถึงสิ้นปี และมีโอกาสจะลดลงได้ในปีหน้า

ส่วนเรื่องราคาพลังงานซึ่งมีราคาแพงต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเฉพาะราคาน้ำมันซึ่งตลาดโลกก็เริ่มผ่อนคลายลงบ้างแล้ว สำหรับในประเทศจึงมีความเห็นว่าน่าจะมีการลดราคาลงจากการปรับตัวลงของราคาน้ำมัน

ส่วนเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง เสียงข้างมาก 2 พรรคแรก (พรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย) ที่มีนโยบายจะปรับขึ้นตั้งแต่ 450-600 บาท มองว่าเป็นสิ่งที่น่ากังวล หากบริษัทเล็ก ๆ ที่มีความสามารถในการรับแรงกระแทกไม่มากนัก อาจจะทำให้เดือดร้อนถึงขั้นเกิดปัญหาทำให้ธุรกิจสะดุด ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสถานะของบริษัทก็ได้

สำหรับมุมมองด้านความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน รวมทั้งเศรษฐกิจไทยเอง จะพบว่าความผันผวนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ทำให้บริษัทเอกชนที่แข็งแกร่ง เคยเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้วหลายรอบ จะมีความสามารถในการปรับตัวสูงอยู่ตลอดเวลา

ตัวช่วยสำคัญในเวลานี้อยู่ที่การที่ประเทศไทยได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำงาน ซึ่งเป็นปกติในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลชุดเดิมกับรัฐบาลชุดใหม่ ย่อมแสวงหานโยบาย หรือวิธีการบริหารที่แตกต่างไปจากเดิม

ดังนั้น อาจจะมีช่วงเปลี่ยนผ่านการทำงานบ้าง แต่คิดว่าเป็นผลดีกับประเทศในระยะยาว คาดหวังว่าจะทำให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ และอาจจะเกิดนวัตกรรม-innovation ให้กับประเทศได้ในระยะยาว

ในส่วนของ ASW ณ ตอนนี้คงเร็วไปที่จะตอบว่าจะทบทวนแผนลงทุนหรือไม่ เพราะยังไม่ได้มีปัจจัยกระทบรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมจริง ๆ ดังนั้น แผนลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ ๆ การลงทุนใหม่ ๆ ที่ได้ประกาศไว้เมื่อตอนต้นปี 2566 คิดว่าจะเดินหน้าการลงทุนต่อไป เพราะในสถานการณ์โควิด 3 ปี (2563-2565) มีการอั้นความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยมาพอสมควร

อย่างไรก็ตาม ครึ่งปีหลังนี้คงต้องลงลึกในรายละเอียด ว่าส่วนไหนลงทุนเพิ่มได้ ส่วนไหนยังรอก่อนได้ ยังไม่ต้องลงทุนเพิ่ม พร้อมกับดูความสามารถของกำลังซื้อควบคู่ไปด้วย

ที่สำคัญ ASW จะตั้งรับบนความไม่ประมาทกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น ภาวะสงคราม (รัสเซีย-ยูเครน) ที่ยังมีอยู่ และสถานการณ์ต่างประเทศที่อาจจะกระทบมายังประเทศไทย เพราะการทำธุรกิจในโลกปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าโลกแคบลง และเชื่อมถึงกันหมด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมุมใดมุมหนึ่งของโลกจึงอาจส่งผลกระทบมาถึงเราได้

ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม
ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม

ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม
กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศุภาลัย

สิ่งหนึ่งที่ทุกคนรอดู เพราะไม่ทราบว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นอย่างไร เรียบร้อยแค่ไหน แต่ผมคิดว่าครึ่งปีหลัง 2566 ถ้าทุกอย่างชัดเจนขึ้น ไม่ว่าทางไหนก็ตาม หวังว่าจะดีขึ้น

เราเห็นโมเมนตัม โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาส 1/66 มาได้ดีกว่าที่เราคาด จริง ๆ ก็ไม่ได้ดีมากหรอก แต่หลังจากหมดมาตรการผ่อนปรน LTV-loan to value แต่ยอดขายยังทำได้ระดับหนึ่งอยู่ ผมมองว่ายังน่าพอใจในแง่ตลาดยังเดินต่อไปได้

ไตรมาส 2/66 มีทั้งวันหยุดยาว มีการเลือกตั้ง มีความไม่แน่นอนทางการเมือง คนอาจชะลอดูท่าทีนิดนึง กับผลกระทบจากการเมือง แต่ครึ่งปีหลัง บรรยากาศการเมืองฝุ่นหายตลบน่าจะเริ่มดีขึ้น

เพราะฉะนั้น ปัจจัยห่วงที่สุดที่อาจจะมาจากความไม่เรียบร้อยเกิดขึ้นในประเทศนั้น ผมมองว่าประเทศไทยไม่น่าไปถึงจุดนั้น

สำหรับปัจจัยต้นทุน เช่น ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ราคาพลังงานแพง ล้วนเป็นสิ่งที่ลูกค้ารับทราบได้โดยทั่วไป จึงไม่ได้มองเป็นด้านลบเท่าไหร่ ยอมรับว่าต้นทุนแพงขึ้นจริง แต่ก็มีผลทำให้ลูกค้าเลือกซื้อบ้านขนาดเล็กลง หรือห้องชุดไซซ์เล็กลงนิดหน่อย ในระยะสั้น สิ่งที่ดีคือดอกเบี้ยขึ้น แต่การปล่อยสินเชื่อปีนี้ของแบงก์ยังดีอยู่

ครึ่งปีหลังศุภาลัยจะมีการทบทวนแผนลงทุนหรือไม่… เรียนว่าอสังหาริมทรัพย์ เป็นธุรกิจระยะกลาง-ระยะยาว คอนโดมิเนียมบางโครงการที่เป็นขนาดใหญ่ เราพัฒนาโดยใช้เวลา 3-3 ปีครึ่ง ไม่ได้ทำแค่แป๊บเดียว และปรับตัวได้ไม่ยากนัก เช่น ในการลอนช์โครงการ ถ้ามีอะไรที่ทำให้ยอดขายไม่ดีสัก 3-6 เดือน ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร

ยกตัวอย่างตลาดภูเก็ต ในช่วงโควิดยอดขายหายไปครึ่งหนึ่ง แต่เรายังเปิดโครงการใหม่ต่อเนื่อง เพราะเราเชื่อมั่นว่าหลังยุคโควิด การท่องเที่ยวกลับมา ตลาดภูเก็ตฟื้น ภาพรวมของประเทศก็ลักษณะเดียวกันเลย เพราะฉะนั้น ถึงจะมีความไม่แน่นอนด้านการเมืองบ้าง ระยะสั้นอาจดูไม่ค่อยดี แต่เราไม่ได้พูดถึง 3 เดือน 6 เดือนนี้ เราพูดถึงที่จะขายใน 3 ปีหน้า เราจึงยังคงเดินหน้าต่อไป

แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย ในภูเก็ตเรายังเปิดโครงการอยู่ แต่เราก็สร้างบ้านจำนวนน้อยลง ดูสปีดการขายลูกค้าละเอียดขึ้น ถ้าการขายไปไม่ได้เราก็หยุดสร้าง โครงสร้างก็ทำอะไรแบบนั้น ให้มีความยืดหยุ่นสูง ไม่ได้เปลี่ยนแผนธุรกิจ แต่ในดีเทลต้องมาดูละเอียดนิดหนึ่ง

ประเด็นฮอตอิสชูอีกเรื่อง การปรับค่าแรงเป็นสิ่งที่ลูกค้าทราบอยู่แล้ว ว่าจะทำให้ต้นทุนเพิ่ม สิ่งที่เกิดขึ้นลูกค้าจะเร่งซื้อ เพราะรู้ว่าต้นทุนเก่ามันถูก เหมือนปี 2565 ที่จะมีการปรับขึ้นค่าแรง

หรือตอนต้นปี 2566 ที่ inflation (เงินเฟ้อ) ขึ้นสูง ๆ ลูกค้าก็ออกมาซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะบ้านที่เสร็จตอนนี้แปลว่าต้นทุนเดิม ดังนั้น ก็ยังมีข้อดีในระยะสั้น

แน่นอนว่าในระยะยาวต้นทุนจะแพงขึ้น แต่ก็ขึ้นทั้งอุตสาหกรรมที่อยู่อาศัย จึงถือว่าไม่เป็นไร ลูกค้าก็ต้องเข้าใจว่ามาตรฐานใหม่ เช่น เดิมเมื่อ 10 ปีที่แล้ว บ้านเดี่ยวราคา 3-3.5 ล้านบาท ตอนนี้เรากำลังบอกว่าบ้านเดี่ยวในกรุงเทพฯ ต้องราคา 4-5 ล้านบาทแล้ว

ถ้ารายได้ลูกค้า catch up ไม่ได้ โมเดลก็จะเปลี่ยนเป็นคนชั้นกลางเมืองไทยแทนที่จะซื้อบ้านเดียวหลังเล็ก ก็หันมาซื้อบ้านแฝดแทน ซึ่งเรามีโปรดักต์ที่รองรับเขาได้

อีกคำถามเรื่อง 3 เรื่องแรกที่อยากให้รัฐบาลใหม่ทำในปีนี้ ผมขอเรื่องเดียวได้ไหม

อยากให้ดูแลปัญหาแรงงานต่างด้าว เพราะแทบทุกธุรกิจในประเทศไทยตอนนี้พึ่งพิงแรงงานต่างด้าว เราก็มีกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้แรงงานสามารถเข้ามาได้โดยถูกกฎหมาย เพื่อมาช่วยพัฒนาประเทศอยู่แล้ว ประเด็นสกิลเลเบอร์เป็นแรงงานคนไทย แต่อันสกิลเลเบอร์เป็นแรงงานต่างด้าว เพราะคนไทยไม่อยากทำ เราเข้าใจ

สิ่งที่อยากขอรัฐบาลใหม่ ทำให้กฎเกณฑ์ที่มีอยู่ ทำให้มันเต็มเม็ดเต็มหน่วย นำแรงงานต่างด้าวเข้ามาได้จริง ตอนนี้มีหลายแฟกเตอร์ที่ไม่ได้เอื้อให้เป็นอย่างนั้น แรงงานต่างด้าวเข้าไทยน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทั้ง ๆ ที่มีผลดีต่อประเทศไทย ทำให้สามารถพัฒนาประเทศได้ มีหลักฐาน รู้ที่มาที่ไปชัดเจน

ตอนนี้แรงงานก่อสร้างอาจเพียงพอ แต่ภาคอสังหาฯ น่าจะโตได้มากกว่านี้ ถ้าเราสามารถหาแรงงานป้อนไซต์ก่อสร้างได้มากขึ้น การขาดแคลนแรงงานปัญหาจึงอยู่ที่เป็นข้อจำกัดของการเติบโตมากกว่า

ผมคิดว่าธุรกิจอสังหาฯ ไม่ได้ขออะไรเลย ขอให้แก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวเรื่องนี้เรื่องเดียว