“เอเชีย-ยุโรป”ทุ่มชิงไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน บิ๊กรับเหมาวิ่งวุ่นจ้องซับงาน

ประมูลไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินคึก ทุนไทย เอเชีย ยุโรป แห่ซื้อซอง 31 ราย ทั้งรับเหมา นักลงทุน ธุรกิจรถไฟฟ้า พลังงาน อสังหาฯค้าวัสดุ จับตาประมูลจริง 5-6 กลุ่ม ซี.พี.-บีทีเอส-อิตาเลียนไทยฯ-ทีพีไอ-ช.การช่าง-เทอดดำริ ที่เหลือหวังงานซับคอนแทร็กต์ รับอานิสงส์เมกะโปรเจ็กต์แห่งชาติ การรถไฟฯดีเดย์ 23 ก.ค.พาเอกชนลงพื้นที่จริง เปิดยื่นข้อเสนอ 12 พ.ย.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดขายเอกสารประกวดราคาก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. รวมพัฒนาเชิงพาณิชย์สถานีมักกะสัน 150 ไร่ ศรีราชา 25 ไร่ วงเงินลงทุน 2.2 แสนล้านบาท ตั้งแต่ 18 มิ.ย.-9 ก.ค. 2561 ปรากฏว่า นักลงทุนไทยและต่างชาติสนใจซื้อซองประมูลถึง 31 ราย แยกเป็น บริษัทไทย 14 ราย จีน 7 ราย ญี่ปุ่น 4 ราย ฝรั่งเศส 2 รายมาเลเซีย 2 ราย เกาหลี 1 ราย และอิตาลี 1 ราย

6 กลุ่มชิงปักหมุด

เมื่อแยกเป็นกลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย 1.รับเหมาก่อสร้าง ได้แก่ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น, บจ.ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น, บจ.ฟูจิตะ คอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์), บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (CRCC), บมจ.ช.การช่าง, บจ.ไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป, บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง, บจ.ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น และ บจ.Salini Impregio S.p.A. จากอิตาลี 2.ธุรกิจหลากหลาย เช่น บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง (ซี.พี.), บจ.อิโตชู คอปอร์เรชั่น, บจ.ซิติก กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น, บจ.เทอดดำริ, บจ.WANNASSER INTERNATIONAL GREEN HUB BERHAD, บจ.Japan Overseas Infrastructure Investment Corporation for Transport & Urban Development (JOIN)

3.ด้านระบบรถไฟฟ้า เช่น บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM), บจ.SNCF INTERNATIONAL จากฝรั่งเศส, บจ.ทรานเดฟ กรุ๊ป จากฝรั่งเศส, บจ.โคเรีย-ไทย ไฮสปีด เรลโรด คอนซอร์เตี้ยม, บจ.ไชน่า คอมมูนิเคชั่น คอนสตรัคชั่น, บจ.ฮิตาชิ เอเซีย (ประเทศไทย)4.อสังหาริมทรัพย์ เช่น บจ.เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ (เครือ ปตท.), บจ.ไชน่า รีซอร์ส (โฮลดิ้ง) คัมปะนี, บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา, บจ.MRCB Builders SDN. BHD. จากมาเลเซีย 5.พลังงาน เช่น บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง 6.วัสดุก่อสร้าง เช่น บมจ.ทีพีไอโพลีน, บจ.แอล เอ็ม ที สโตน

เปิดโผผู้ยื่นประมูล

แหล่งข่าวในวงการก่อสร้างกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทั้ง 31 รายจะมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่จะประมูลจริง ๆ และกลุ่มที่ซื้อเพื่อศึกษารายละเอียด เพราะหวังจะซับคอนแทร็กต์ให้กับผู้ชนะประมูล เนื่องจากไม่มีกำลังพอจะไปขอแบงก์การันตีเพื่อจัดหาเงินทุนทั้งโครงการ รายที่คาดว่าจะเข้าประมูล คือ 1.กลุ่ม ซี.พี. ร่วมกับบริษัทรัฐวิสาหกิจจากจีน ซึ่งกำลังก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ที่ สปป.ลาว อาทิ บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (CRCC), บจ.ไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป, บจ.ไชน่า คอมมูนิเคชั่น คอนสตรัคชั่น, บจ.ไชน่า คอมมูนิเคชั่น คอนสตรัคชั่น, บจ.ซิติก กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น และ บจ.อิโตชู คอปอร์เรชั่น จากญี่ปุ่น ส่วนผู้รับเหมาไทยมีหลายบริษัทได้เจรจาอยู่ เช่น อิตาเลียนไทย, ยูนิคฯ แต่ยังไม่มีข้อสรุป ส่วนงานระบบ คาดว่า ซี.พี.จะร่วมกับ บจ.SNCF INTERNATIONAL และ บจ.ทรานเดฟ กรุ๊ป จากฝรั่งเศส

“ตอนนี้ทุกบริษัทวิ่งเข้าหากลุ่ม ซี.พี.หมด เพราะเป็นงานใหญ่มีหลายส่วน ทั้งก่อสร้างโครงสร้าง งานศูนย์ซ่อมบำรุง (เดโป้) งานติดตั้งระบบ รวมถึงผู้ผลิตรถ ยังไม่นิ่งว่าใครร่วมกับใคร จนกว่าจะถึงวันยื่นประมูล 12 พ.ย. คิดว่าผู้ร่วมทุนจะมี 6 กลุ่ม” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

2.กลุ่มบีทีเอส ร่วมกับซิโน-ไทยฯ และราชบุรีโฮลดิ้ง อาจมี ปตท. และเซ็นทรัลพัฒนาเข้าร่วม แต่ยังไม่มีข้อสรุป

3.กลุ่ม ช.การช่าง และ BEM กำลังหาพันธมิตรเพิ่มจากยุโรป ญี่ปุ่น และจีน

4.กลุ่มอิตาเลียนไทย ถ้าเจรจากับใครไม่สำเร็จ อาจยื่นประมูลเอง โดยร่วมกับบริษัทยุโรป อาทิ บจ.Salini Impregio S.p.A. จากอิตาลี และ บจ.ทรานเดฟ กรุ๊ป จากฝรั่งเศส ที่เคยยื่นประมูลโมโนเรลสายสีชมพูและสีเหลืองมาแล้ว และอาจมี บจ.ฮิตาชิ เอเซีย (ประเทศไทย)

5.กลุ่มเทอดดำริ และ บจ.WANNASSERINTERNATIONAL GREEN HUB BERHADจากมาเลเซีย ส่วนกลุ่มที่ 6 ทีพีไอ กำลังเจรจาหาพันธมิตรจีน ญี่ปุ่น และยุโรป

รอซับงานพรึ่บ 

นายสุพล ศิวิลัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เทอดดำริ จำกัด เปิดเผยว่าบริษัทเป็นผู้ลงทุนครบวงจร ทั้งรถไฟ ก่อสร้าง และอสังหาฯ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น ยุโรป อเมริกา จีน ซึ่งสนใจจะยื่นประมูล PPP รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยร่วมกับ WANNASSER INTERNATIONAL GREEN HUB BERHAD จากมาเลเซีย จะลงทุนก่อสร้างทั้งหมด แต่ก็เปิดกว้างให้รายอื่นที่สนใจเข้าร่วมด้วย

“เราเตรียมตัวและทำการบ้านมานาน เราครบทั้งเงินทุนและการก่อสร้าง งานคอนซัลต์ ออกแบบ งานระบบ”

แหล่งข่าวจาก บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง กล่าวว่า ซื้อซองประมูลศึกษาเนื้องานในทีโออาร์ สนใจจะซับคอนแทร็กต์งานเดโป้ที่สถานีฉะเชิงเทรา ซึ่งบริษัทมีประสบการณ์สร้างเดโป้สายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) และสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) มาแล้ว

“โครงการนี้ใช้เงินลงทุนสูง ผู้ชนะต้องเป็นรายใหญ่ ทุนหนา ใครได้งานไปก็ทำเองหมดไม่ได้ ต้องพึ่งผู้รับเหมาช่วง”

23 ก.ค.ลงพื้นที่จริง 

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน และรักษาการผู้ว่าการการรถไฟฯ กล่าวว่า วันที่ 23 ก.ค.นี้จะจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจในทีโออาร์ประมูล จากนั้นวันที่ 24 และ 26 ก.ค. 2561 จะพาไปดูพื้นที่โครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ มักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ และสถานีรายทาง รวมถึงโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) บางซื่อ-รังสิต สถานีกลางบางซื่อ โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และเขตทางรถไฟตลอดแนว จากสถานีดอนเมืองไปตามเส้นทางรถไฟสายตะวันออก ผ่านสถานีมักกะสัน สถานีฉะเชิงเทรา สถานีพัทยา สิ้นสุดที่สถานีบ้านฉาง

“จะเปิดให้ส่งข้อสังเกต ข้อเสนอแนะหรือคำถามเกี่ยวกับเอกสารการคัดเลือก ช่วง 10 ก.ค.-9 ต.ค. และเปิดยื่นซองวันที่ 12 พ.ย.นี้ ผู้ยื่นข้อเสนอต้องยื่นหลักประกันซอง พร้อมซองข้อเสนอ มูลค่า 2,000 ล้านบาท”

เร่งเคลียร์พื้นที่

การเคลียร์พื้นที่ก่อสร้าง นายวรวุฒิกล่าวว่า จะเวนคืนไม่มาก เพราะใช้แนวรถไฟเดิม เวนคืนจุดใหญ่จะอยู่ที่ฉะเชิงเทรา เพราะต้องสร้างสถานีใหม่ ซึ่งอยู่ห่างสถานีเดิมไปในทิศเหนือ 1.5 กม. พร้อมสร้างเดโป้ 400 ไร่

ส่วนที่ดินสถานีมักกะสัน 150 ไร่ เอกชนจะได้สิทธิ์พัฒนาเชิงพาณิชย์ 50 ปี จะอยู่ใกล้สถานีรถไฟและเป็นพื้นที่โล่ง สามารถพัฒนาได้ทันที โดยใช้เงินลงทุน 4.2 หมื่นล้านบาท