ลดแรงต้าน! ประธานบอร์ด กทพ.แจงปมร้อนขยายสัมปทานทางด่วน 37 ปีเลื่อนเสนอบอร์ดPPPหลังปีใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2561 มีการประชุมชี้แจงถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทกับผู้รับสัมปทานของการทางพิเศษแห่งประเทศ (กทพ.) ระหว่างฝ่ายบริหาร ประกอบด้วย นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ กทพ. นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการ กทพ. นายปกรณ์ อาภาพันธ์ กรรมการและนายสุทธิศักดิ์ วรรธนวินิจ รองผู้ว่าฝ่ายกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน

@พนักงานค้านแหลก

หลังจากที่บอร์ด กทพ. มีมติเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2561 อนุมัติแนวทางขยายสัมปทานทางด่วนให้ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ออกไปอีก 37 ปี เพื่อยุติข้อพิพาททั้งหมด โดยมีพนักงาน กทพ.ที่แต่งชุดดำเข้าร่วมฟังข้อชี้แจงหลาย 100 คน และบรรยากาศมีการแสดงความคิดเห็นหลากหลายประเด็น เช่น ขอดำเนินการเอง เดินหน้าสู่คดีข้อพิพาท เพื่อเป็นข้อมูลรวบรวมให้ฝ่ายบริหารนำไปประกอบการพิจารณา ก่อนที่จะมีการนำเสนอมติบอร์ดไปยังคณะกรรมการกำกับตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ2556 พิจารณาต่อไป

@สหภาพบีบเลื่อนเสนอบอร์ด PPP

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นการประชุม ได้ข้อยุติว่าทางนายชาญชัย โพธิ์ทองคำ ประธานสหภาพ กทพ.จะร่วมเดินทางไปกับนายสุชาติ ผู้ว่าการ กทพ. เพื่อขอเลื่อนการส่งข้อมูลแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามที่บอร์ดมีมติให้คณะกรรมการกำกับออกไปเป็นหลังปีใหม่ จากเดิมจะรายงานให้คณะกรรมการกำกับรับทราบวันที่ 26 ธ.ค.2561

Advertisment

โดยผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า การเลื่อนรายงานผลมติบอร์ดต่อคณะกรรมการกำกับ เพื่อนำข้อคิดเห็นของพนักงานที่มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเรื่องสถานะทางบัญชี ความเสี่ยง และการที่ กทพ.ดำเนินการเองนำมาพิจารณาร่วมด้วยเพื่อให้ข้อมูลครบด้าน แต่อย่างไรก็ตามจะต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จโดยเร็วภายในเดือน ม.ค.2562 เนื่องจาก กทพ.มีภาระเรื่องอัตราดอกเบี้ยจากค่าชดเชยที่ กทพ.จะต้องจ่ายให้ NECL ทุกเดือน

นอกจากนี้ การดำเนินการพิจารณาอนุม้ติแนวทางแก้ไขปัญหาตามที่บอร์ดอนุมัตินั้น ยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน ทั้งกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการ PPP อัยการสูงสูด และคณะรัฐมนตรี

@บอร์ดแจงทำไมต้องขยายสัญญา

Advertisment

ทั้งนี้ในระหว่างการประชุมนั้นทางนายสุรงค์ได้ชี้แจงว่า บอร์ดดำเนินการตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2561 หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดให้ กทพ.ชำระค่าเสียหายให้กับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) ผู้รับสัมทานทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ BEM ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างทางแข่งขันเป็นวงเงินรวมดอกเบี้ย 4,300 ล้านบาท

โดย ครม.เห็นว่าเพื่อบรรเทาความสูญเสียและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก้รัฐและเพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของทางราชการ กรณีมีข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เป็นคดีเดียวหรือหลายคดีในประเด็นเดียวกันหรือเกี่ยวเนื่องกัน มีมติให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเจรจาต่อรองกับคู่พิพาทเพื่อบรรเทาความเสียหายของรัฐและให้เกิดความเป็นธรรมแก่ราษฎรได้

@เซตซีโร่สัมปทาน 2 ทางด่วน

ซึ่งที่ผ่านมาบอร์ดตั้งอนุกรรมการเจรจากับ BEM จนได้ข้อสรุปที่คิดว่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อนำเสนอให้กระทรวงคมนาคมและคณะกรรมการ PPP พิจารณาต่อไป โดยจะขยายอายุสัญญาที่ BEM รับสัมปทานทุกโครงข่ายทั้งทางด่วนขั้นที่ 2 รวมส่วน D ช่วงพระราม 9-ศรีนครินทร์ และทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด จะสิ้นสุดสัญญาวันที่ 1 พ.ย.2569 ออกไปเป็นระยะเวลา 37 ปี รวมงานก่อร้าง 4 ปี ให้สิ้นสุดสัญญาพร้อมกันในปี 2600 เริ่มตั้งแต่ปี 2563 ปรับค่าผ่านทางทุก 10 ปี ในอัตรา 10 บาท และแบ่งรายได้ให้ กทพ.สัดส่วน 60% ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน เพื่อลดภาระหนี้ข้อพิพาทที่มีต่อกันคิดเป็นมูลค่า 137,515.6 ล้านบาท

“ที่ต้องรีบดำเนินการเพราะครบกำหนดที่ศาลให้ชำระเงิน 4,300 ล้านบาท เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา บอร์ดแค่เสนอแนวทางที่ดีที่สุดไปให้ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าหนี้เราเท่ากับศูนย์ กทพ.ได้ผลตอบแทนเท่าเดิม และพนักงานไม่มีผลกระทบ ผมก็ทำเหมือนกับคนก่อนๆที่ผ่านมา ผลการเจรจาตกผลึกในเบื้องต้นแบบนี้ ขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบายและคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาจะเห็นด้วยตามแนวทางที่เราเสนอหรือไม่”

@มูลค่าข้อพิพาท 1.37 แสนล้าน

นายสุทธิศักดิ์กล่าวว่า สรุปมูลค่าข้อพิพาททุกสัญญาระหว่าง กทพ. กับ BEM รวมมูลค่าทั้งสิ้น 137,515.6 ล้านบาท แยกเป็น ข้อพิพาทที่ได้ตัดสินแล้ว 4,318.4 ล้านบาท ข้อพิพาทที่ยื่นแล้ว 61,481.6 ล้านบาท ข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่อง 75,473.2 ล้านบาท และมีข้อพิพาทที่ กทพ.ยื่นฟ้องแล้ว 3,757.6 ล้านบาท ซึ่งการประมูลมูลค่าหนี้เกิดจากข้อพิพาท

“วงเงิน 137,515 ล้านบาท เป็นการศึกษาจากข้อเท็จจริงที่เคยเกิดขึ้นในอดีต จึงประเมินแนวโน้มว่าข้อพิพาทที่อยู่ระหว่างการพิจารณาไม่ว่าจะทางแข่งขัน การปรับค่าผ่านทาง กว่า 10 คดี ผลที่ออกมาอาจจะเป็นทางลบมากกว่า”

@เอกชนลงทุนเพิ่มกว่า 3 หมื่นล้าน

นายสุชาติกล่าวว่า ในเงื่อนไขทาง BEM จะต้องลงทุนปรับปรุงทางด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร โดย่ก่อสร้างทางยกระดับชั้นที่ 2 หรือทางด่วน 2 ชั้น ช่วงงามวงศ์วาน-อโศก มูลค่า 13,500 ล้านบาท พร้อมกับลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพแก้รถติด 4 จุด เช่น ลดกระแสการจราจรบริเวณนิคมมักกะสัน เพิ่มผิวการจราจรด้านข้างมักกะสัน-สุขุมวิท

@สหภาพประกาศจุดยื่น

ด้านนายชาญชัย ประธานสหภาพ กทพ.กล่าวว่า สหภาพขอประกาศจุดยืน คือ 1.ข้อพิพาท NECL กทพ.จะหาทางเจรจาชำระค่าชดเชยตามจำนวนที่เหมาะสมต่อไป 2.การขยายสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 จะครบกำหนดในปี 2563 ไม่ควรขยายสัญญาสัมปทานให้กับเอกชนรายเดิม เห็นว่า กทพ.ควรนำมาบริหารเอง หลังหมดสัญญารวมทั้งทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด

3.ข้อพิพาทที่ BEM ฟ้องเรียกค่าชดเชยให้นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลทั้งหมด เนื่องจากวงเงินสูงมาก 4.ให้ยกเลิกมติบอร์ดวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา และ 5.ยกเลิกการนำเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการ PPP

@เปิดสถานะการเงิน กทพ.

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน กทพ.มีทรัพย์สินคิดเป็นมูลค่าประมาณ 200,000 แสนล้านบาท มีรายได้เฉลี่ย 17,000 ล้านบาทต่อปี และมีกำไรอยู่ที่ปีละ 10,000 ล้านบาท ทั้งนี้จากผลการศึกษาหากมีการอนุมัติให้ขยายสัมปทานทางด่วนออกไปอีก 37 ปีตามที่บอร์ดมีมติไว้ จะทำให้ กทพ.มีรายได้จากส่วนแบ่งค่าผ่านทางสัดส่วน 60% ตลอดอายุสัญญารวมประมาณ 300,000 ล้านบาท