“ดวงฤทธิ์” จ่อฟ้องล้มออกแบบ บอร์ดทอท.ดันต่อเทอร์มินอล 2

บอร์ด ทอท.ดันสุดตัวเทอร์มินอล 2 สุวรรณภูมิ 4.2 หมื่นล้าน ล้มแบบกลุ่มดวงฤทธิ์ ลุยออกแบบใหม่เอง ชงคมนาคม-บอร์ดสภาพัฒน์อนุมัติอีกครั้ง “สมคิด” สั่งทำให้จบโดยเร็ว ด้าน “ดวงฤทธิ์” จ่อฟ้องทำผิดหลักธรรมาภิบาล

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. วันที่ 20 ก.พ. มีมติยกเลิกแบบของ

กลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงานดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก (กลุ่มดวงฤทธิ์) โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (เทอร์มินอล 2) สนามบินสุวรรณภูมิ วงเงิน 329.5 ล้านบาท หลังรูปแบบการใช้งานมีเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จึงจำเป็นต้องปรับแบบใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งาน และรองรับผู้โดยสารได้ 40 ล้านคน/ปี ขณะที่แบบเดิมอาจจะปรับได้ไม่มากนัก

มี.ค.เสนอบอร์ดสภาพัฒน์ 

โดยบอร์ดให้ ทอท.เดินหน้าก่อสร้างเทอร์มินอล 2 ซึ่งจะเร่งขออนุมัติโครงการตามขั้นตอน เดือน มี.ค.นี้จะนำโครงการเสนอให้กระทรวงคมนาคม และบอร์ดสภาพัฒน์พิจารณาเพิ่มเติม จากก่อนหน้านี้ขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก เป็นทิศตะวันตก และก่อสร้างรันเวย์ที่ 3 ไปยังบอร์ดสภาพัฒน์ ซึ่งมีมติให้ดำเนินการตามแผนแม่บทปี 2546 ขยายอาคารผู้โดยสารด้านตะวันออก ตะวันตก และก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ เพื่อรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 120 ล้านคน/ปี เร่งสร้างรันเวย์ที่ 3 และให้ ทอท.เร่งลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการบริการภายในสนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนลงทุนพัฒนาอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติม

“ทอท.จะนำข้อมูลที่ผ่านบอร์ดไปยืนยันกับบอร์ดสภาพัฒน์อีกครั้ง ถึงความสำคัญในการสร้างเทอร์มินอล 2 เพื่อประกอบการพิจารณาจากที่ ทอท.ขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดขยายอาคารผู้โดยสารด้านตะวันตกก่อน”

ทุกฝ่ายหนุนผุดเทอร์มินอล 2

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้บอร์ด ทอท.ให้ชะลอเทอร์มินอล 2 ไว้ เพื่อรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการ ACC, ICAO, สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) สายการบิน เพื่อพิจารณาความเหมาะสมขนาดโครงการก่อสร้าง ซึ่งทุกหน่วยงานเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีความเหมาะสมที่จะลงทุนในเวลานี้ เนื่องจากสุวรรณภูมิแออัด มีผู้โดยสารเกินขีดความสามารถ ปัจจุบันอยู่ที่ 68 ล้านคน/ปี และให้สอดรับกับแนวนโยบายของประเทศที่มุ่งให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเดินทางและการคมนาคมขนส่งทางอากาศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายเอนก ธีระวิวัฒน์ชัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง ทอท. กล่าวว่า เทอร์มินอล 2 เป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาระยะที่ 3 ที่ ทอท.กำหนดไว้ในแผนแม่บทปี 2561 ใช้เงินลงทุนกว่า 6.6 หมื่นล้านบาท มีเทอร์มินอล 2 วงเงิน 42,084 ล้านบาท พื้นที่ใช้สอย 3.8 แสน ตร.ม. พื้นที่เชิงพาณิชย์ 2 หมื่น ตร.ม. รองรับ 30 ล้านคน/ปี รันเวย์ที่ 3 วงเงิน 24,651 ล้านบาท และรถไฟฟ้า APM เชื่อมอาคารผู้โดยสารหลังใหม่กับหลังเก่า สถานีแอร์พอร์ตลิงก์ เมื่อแล้วเสร็จจะรองรับได้ 90 ล้านคน/ปี

ออกแบบใหม่รับเพิ่ม 40 ล้านคน 

“เทอร์มินอล 2 ทอท.จะออกแบบเอง โดยนำร่างแบบเป็นต้นแบบประกวดมาปรับใหม่ให้ตอบโจทย์การใช้งาน ภายใต้กรอบวงเงินและพื้นที่ใช้สอยเท่าเดิม รองรับได้อย่างต่ำ 30 ล้านคน/ปี

จะได้แบบเบื้องต้นใน 3-4 เดือนนี้ จากนั้นออกแบบรายละเอียดให้แล้วเสร็จใน 1 ปี ขณะเดียวกันจะหารือกับ บมจ.การบินไทย ให้มาใช้พื้นที่ รองรับทั้งผู้โดยสารในประเทศ และระหว่างประเทศ”

ดวงฤทธิ์จ่อฟ้องบอร์ด ทอท.

นายดวงฤทธิ์ บุนนาค ผู้แทนกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงานดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก กล่าวว่า ก่อนที่บอร์ด ทอท.จะมีมติ ได้รับการประสานจาก ทอท.ขอปรับแบบให้รองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคน/ปี เป็น 40 ล้านคน/ปี และได้ยืนยันว่าสามารถดำเนินการได้โดยไม่มีค่าออกแบบเพิ่ม แต่จู่ ๆ บอร์ดมีมติยกเลิก ทำให้รู้สึกไม่สมเหตุสมผล เพราะโครงการไม่ได้ล้ม แต่ล้มแบบที่กลุ่มชนะการประกวด แม้สัญญาจะสงวนสิทธิ์ให้ยกเลิกได้ กำลังพิจารณาว่าจะฟ้องร้องบอร์ด ทอท.ต่อศาลปกครองหรือไม่ กรณีการตัดสินของบอร์ดจะเอื้อประโยชน์ใครบางคน และเข้าข่ายผิดหลักธรรมาภิบาลหรือไม่

“สมคิด” เร่งสภาพัฒน์เคาะ

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อบอร์ด ทอท.มีมติเดินหน้าเทอร์มินอล 2 สภาพัฒน์ต้องเร่งพิจารณาว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรในฐานะผู้ชี้นำการลงทุน ถ้าไม่เห็นด้วยก็ผ่านยาก

“ถ้าบอร์ด ทอท.สามารถอธิบายหลักการที่ถูกต้องได้ และโครงการใช้ได้ defend ได้ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ดูเหตุดูผล ด้านกระทรวงคมนาคมต้องมีหน้าที่ดูแล ส่วนประมูลดิวตี้ฟรีนั้น หลัง พ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับใหม่ออก ทอท.จะร่างทีโออาร์ กำชับไปแล้วว่า ต้องโปร่งใส เปิดให้แข่งขันกันได้ จะแยกหรือรวมสัญญาให้ผู้รับผิดชอบพิจารณา ไม่ชี้นำ”

มี.ค.คลอดทีโออาร์ดิวตี้ฟรี 

ขณะที่นายนิตินัยกล่าวว่า บอร์ดเห็นชอบหลักเกณฑ์การให้สิทธิประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์สนามบินในความรับผิดชอบของ ทอท. ได้แก่ สุวรรณภูมิ ภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่ ซึ่งคิง เพาเวอร์ เป็นผู้ดำเนินการ และจะสิ้นสุดสัญญา 27 ก.ย. 2563 โดยให้ดำเนินการพร้อมกันทั้ง 4 สนามบิน แยกเป็น 3 สัญญาใหญ่ ได้แก่ กิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (duty free) กิจกรรมเชิงพาณิชย์ (retail, F&B, service และ bank) และกิจการให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (duty free pick-up counter) ออกจากกัน เน้นให้เปิดกว้าง แข่งขันเสรี โดยเฉพาะพีกอัพเคาเตอร์ เพื่อให้ผู้ประกอบการในเมือง (downtown) ส่งมอบสินค้าปลอดอากรที่สนามบินของ ทอท.ได้

“มี.ค.นี้จะประกาศทีโออาร์ประมูลดิวตี้ฟรีก่อน ได้ผู้ดำเนินการในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อให้เวลารายใหม่ปรับปรุงพื้นที่ 1 ปี พอดีกับที่สัญญาสิ้นสุด จากนั้นถึงจะดำเนินการจุดพีกอัพเคาน์เตอร์ ตั้งเป้าจะให้แล้วเสร็จภายในปีนี้”