ผุด “ศูนย์เทรนนิ่งระบบราง” มาตรฐานญี่ปุ่นแห่งแรกในไทย เร่งผลิตคนขับรถไฟฟ้า 10 สาย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดอายุ “รัฐบาล คสช.” อุตสาหกรรมระบบรางถือเป็น 1 อุตสาหกรรมที่รัฐบาลให้ความสำคัญ

ดูได้จากแผนปฏิบัติการเร่งด่วน (action plan) ในแต่ละปีที่ส่วนใหญ่มีโครงการระบบรางทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูงเป็นพระเอกอยู่เสมอ

อีกทั้งการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านวาระ 3 ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปรับปรุงกระทรวงทบวง กรม (ฉบับที่…) พ.ศ. เพื่อเป็นบันไดไปสู่การจัดตั้ง “กรมการขนส่งทางราง” กรมใหม่สังกัดกระทรวงคมนาคม ที่จะกำกับดูแลระบบรางของประเทศก็ใกล้เป็นจริงเข้ามาทุกขณะ

ล่าสุด ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของ “วงการรถไฟไทย” เมื่อการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สามารถก่อตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรระบบราง (training center) แห่งแรกของรัฐบาลในประเทศไทย

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงมีนโยบายจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลหน่วยงานที่ให้บริการระบบขนส่งทางราง ซึ่งตามมาตรฐานในการดูแลระบบรางจะต้องมีการออกใบอนุญาตขับขี่รถไฟฟ้าให้แก่ผู้ที่ประกอบอาชีพพนักงานขับรถไฟฟ้า แต่ในปัจจุบันนี้ประเทศไทยยังไม่มีระบบการออกใบอนุญาตขับขี่ดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและแผนแม่บทขนส่งทางรางในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล (M-MAP) ระยะ 20 ปี (2553-2572)

“ศูนย์ฝึกอบรมนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) และบริษัท โตเกียวเมโทร จำกัด ผู้ให้บริการระบบขนส่งมวลชนภายในประเทศญี่ปุ่นมาออกแบบหลักสูตรต่าง ๆ ให้ โดยศูนย์นี้จะตั้งอยู่บริเวณสถานีคลองบางไผ่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี”

รูปแบบของหลักสูตร เบื้องต้นเปิดสอน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรพนักงานขับรถและหลักสูตรผู้ควบคุมระบบราง จำกัดผู้เรียนอยู่ที่ 30 คน/หลักสูตร ระยะเวลา 230 ชม./หลักสูตร หรือประมาณ 3 เดือน กำหนดเปิดอบรมปีละ 1 ครั้ง ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 18,000 บาทตลอดหลักสูตร แต่เบื้องต้นจะเปิดให้บุคลากรของ รฟม. และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เข้ารับการอบรมก่อน สำหรับบุคคลภายนอกที่สนใจจะเข้ามาอบรม ต้องรอ พ.ร.บ.กรมรางประกาศใช้ เพื่อกำหนดคุณสมบัติและข้อกำหนดต่าง ๆ ก่อน

โดยผู้ที่ได้รับการอบรมในครั้งนี้จะจบหลักสูตรในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะได้รับใบรับรองว่าผ่านการอบรม เพื่อนำไปขอใบอนุญาตขับขี่รถไฟฟ้าในอนาคต เมื่อกรมการขนส่งทางรางจัดตั้งขึ้นและคาดหวังว่าในอนาคต การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะสามารถเปิดศูนย์ฝึกอบรมการขับขี่รถไฟทางไกลและรถไฟความเร็วสูงตามมาได้

นอกจากนี้ นายไพรินทร์อธิบายต่อว่า เมื่อศูนย์ฝึกอบรมนี้สามารถเปิดได้อย่างเต็มรูปแบบ เชื่อว่านอกจากหน่วยงานต่าง ๆ ในไทยแล้ว ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเชีย เวียดนาม มาเลเซีย จะส่งคนมาฝึกอบรมในศูนย์นี้ เพราะประเทศเหล่านี้กำลังมีแผนพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในเมืองมากขึ้น

“การส่งคนมาเรียนในประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการส่งคนไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นแน่นอน และยังตั้งอยู่ใกล้กว่าด้วย แถมใช้หลักสูตรเดียวกับประเทศญี่ปุ่นอีก ทำให้ศูนย์ฝึกอบรมนี้จะมีผู้คนมาเรียนเพิ่มอีกแน่นอน”

และในอนาคตมีแผนจะเปิดหลักสูตรเพิ่มเติมอีก 1 หลักสูตร คือ หลักสูตรการซ่อมบำรุงรักษาระบบรถและระบบราง แต่เพื่อความแน่นอนจะต้องรอ พ.ร.บ.กรมรางประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการก่อน เพราะจะต้องรอการกำหนดคุณสมบัติและข้อกำหนดของผู้ขับขี่รถไฟฟ้าและมาตรฐานของรถไฟฟ้าด้วย ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีระบุไว้

ส่วนผู้ประกอบการอื่น เช่น บมจ.บีทีเอส โฮลดิ้ง กรุ๊ป ที่ดูแลรถไฟฟ้าสายสีเขียวและกำลังจะมีรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองต้องดูแลเพิ่ม ทราบว่า บีทีเอสมีศูนย์ฝึกอบรมของตัวเองอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเข้ามาร่วมฝึกอบรมที่ศูนย์นี้ก็ได้ แต่มาตรฐานหลักสูตรจะต้องมีการจัดเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบหลักสูตร ซึ่งจะต้องเป็นไปตามที่ พ.ร.บ.กรมรางกำหนด

สำหรับความต้องการพนักงานขับรถไฟฟ้า ปัจจุบันเฉพาะสายสีม่วงและสายสีน้ำเงินมีพนักงานขับรถไฟฟ้าอยู่ที่ 680 คน โดยภายในปี 2562 นี้ เมื่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเข้ามาอีก 35 ขบวน ตั้งเป้าว่าจะมีความต้องการพนักงานขับรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นที่ 980 คน

ส่วนในปี 2563 คาดว่าความต้องการพนักงานขับรถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,800 คน และในปี 2567 ซึ่งรถไฟฟ้าตามแผน M-MAP1 จะเปิดให้บริการครบ 10 สายจะมีความต้องการอัตราพนักงานขับรถไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 2,500 คน ซึ่งถือว่ายังมีตลาดรองรับอยู่มาก