ไฮสปีด ซี.พี.ส่อเซ็นสัญญาไม่ทัน15มิ.ย. ลุ้นบอร์ดสิ่งแวดล้อมเคาะ EIA ผ่าน-ไม่ผ่าน7มิ.ย.นี้

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งปรเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการคัดเลือกในวันนี้ (5 มิ.ย.) เป็นตรวจสอบร่างสัญญาโดยเฉพาะการทำเอกสารแนบท้ายสัญญา เช่น การทำรายงานส่งมอบพื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้าง, การจัดทำเครื่องมือวัดค่า KPI ของโครงการ เป็นต้น แต่ที่ประชุมยังตรวจสอบไม่เสร็จ จะต้องนัดประชุมกันอีกครั้งในภายหลัง ซึ่งอยู่ระหว่างกำหนดวันเวลา

ทั้งนี้ การประชุมในครั้งนี้ไม่ได้เชิญกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร หรือกลุ่มซี.พี. เอกชนที่ได้รับการคัดเลือกมาร่วมประชุมแต่อย่างใด เพราะประเด็นที่พิจารณาเป็นเรื่องที่อยู่ในขอบเขตอำนาจของคณะกรรมการคัดเลือกไม่เกี่ยวกับเอกชน

ส่วนรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ขณะนี้คณะกรรมการคัดเลือกก็กำลังรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้ความเห็นชอบอยู่เช่นกัน โดยจะพยายามให้ลงนามในสัญญาให้ได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้ ส่วนจะยังยืนตามกำหนดเดิมคือ 15 มิ.ย.หรือไม่นั้น ยังไม่ทราบ เพราะต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของการส่งมอบพื้นที่ด้วย ซึ่งจะทำไปควบคู่กันกับการรอผลพิจารณารายงาน EIA

“วันนี้เราก็รู้หมดแล้วว่า เอกสารแนบท้ายสัญญามีอะไรบ้าง ก็ดูว่าเอกสารฉบับไหนพร้อมก็แนบไปก่อน ฉบับไหนที่ยังไม่พร้อมก็เร่งดำเนินการต่อไป โดยเฉพาะแผนส่งมอบพื้นที่ ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกต้องทำงานร่วมกับกลุ่มซี.พี. ต้องใช้เวลาหน่อย เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ก็เตือนมาให้พิจารณาอย่างระมัดระวังด้วย” นายวรวุฒิกล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากคณะกรรมการคัดเลือก เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะกรรมการคัดเลือกยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบร่างสัญญา โดยเฉพาะตัวเอกสารแนบท้าย ซึ่งวันนี้เป็นการตรวจสอบทบทวนในส่วนข้อเสนอทางการเงินว่ายังตรงกับก่อนที่จะเสนอให้บอร์ดอีอีซี และ ครม.อนุมัติหรือไม่

โดยประเด็นพิจารณาของเอกสารแนบท้ายมี 4 ประเด็นใหญ่ แต่ขอไม่เปิดเผยว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งในแต่ละหัวข้อยังมีรายละเอียดที่ต้องตรวจสอบอีกมาก คาดว่าอาจจะพิจารณาไม่ทันกับกำหนดลงนามในสัญญาวันที่ 15 มิ.ย.นี้แน่นอน

ส่วนรายงาน EIA ขณะนี้ยังอยู่ที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ยังไม่เสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานพิจารณา เนื่องจาก คชก.ยังไม่มีมติใดๆ เกี่ยวกับรายงานฉบับนี้ แต่เบื้องต้นคาดว่าในวันศุกร์นี้ (7 มิ.ย.) จะมีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะมีการรับทราบผลของรายงาน EIA ในทางใดทางหนึ่ง