ประมูลมอเตอร์เวย์ 6 หมื่นล. BTS-BEM-ITD ดึงพันธมิตรลุย

ประมูลบิ๊กโปรเจ็กต์ส่งท้ายระบบเก็บค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ 2 สายใหม่ สัมปทาน 30 ปี 6.1 หมื่นล้าน “บางปะอิน-โคราช บางใหญ่-กาญจนบุรี” จับตา 4-5 กลุ่มชิงเค้ก บีทีเอสผนึก “ซิโนไทย-ราชบุรีโฮลดิ้ง” ซุ่มเจรจากัลฟ์ร่วม BEM ควง ช.การช่าง “อิตาเลียนไทย-ยูนิค” จับคู่จีนสู้ ดีเดย์ ธ.ค.เซ็นสัญญาร่วมทุน

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันที่ 27 มิ.ย.นี้ จะเปิดยื่นซองประมูลโครงการระบบเก็บค่าผ่านทางและบำรุงรักษา (O&M) โครงการมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. และสายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. ในรูปแบบ PPP gross cost ระยะเวลา 30 ปี มูลค่า 61,086 ล้านบาท

คาดมี 4-5 กลุ่มชิงดำ

โดยมีผู้ซื้อซอง 18 ราย คาดว่าจะยื่นซอง 4-5 ราย ในรูปแบบกิจการร่วมค้าจากหลากหลายธุรกิจไม่ว่าจะเป็น บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิงส์บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง (โทลล์เวย์) ผู้รับเหมาก่อสร้าง เช่น บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ และซัพพลายเออร์ด้านระบบจากต่างชาติ เช่น ฝรั่งเศส อเมริกา ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี หากเอกชนมายื่นซองยื่นครบทั้ง 2 โครงการ น่าจะมีผลตอบแทนคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุด

“การขอเพิ่มงบฯเวนคืนสายบางใหญ่-กาญจนบุรี แม้ยังไม่ผ่านการพิจารณาของครม. ก็ไม่ส่งผลกับการประมูลงานระบบ หากครม.อนุมัติเร็ว ๆ นี้ จะมีผลกับการก่อสร้างงานโยธา ซึ่งในสัญญาระบุให้สร้างด่านและอาคารควบคุมระบบด้วยจึงต้องรอให้งานโยธาแล้วเสร็จบางส่วนก่อนเดินหน้างานระบบได้”

Advertisment

เก็บค่าผ่านทาง 30 ปี 6 หมื่นล.

นายอานนท์ กล่าวว่า โครงการแบ่งการลงทุนเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 เอกชนออกแบบ ลงทุนก่อสร้างงานระบบและอื่น ๆใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี ระยะที่ 2 เอกชนนัดเก็บค่าผ่านทางและบำรุงรักษา 30 ปี รวมแล้วตลอดอายุสัญญาจะได้รับผลตอบแทนไม่เกิน 61,086 ล้านบาท แยกเป็นบางปะอิน-โคราช ไม่เกิน 33,258 ล้านบาทและบางใหญ่-กาญจนบุรี ไม่เกิน 27,828 ล้านบาท เอกชนรายใดเสนอค่าตอบแทนต่ำสุดจะเป็นผู้ชนะ

“รายได้ค่าผ่านทางเป็นของกรมทั้งหมดเราจ้างเอกชนจัดเก็บและบริหารโครงการพร้อมบำรุงรักษาให้ ซึ่งค่าผ่านทางบางปะอิน-โคราช มีอัตราแรกเข้า 10 บาท คิดเพิ่ม 1.25 บาท/กม. ปีแรกมีรายได้ 2,063 ล้านบาท สายบางใหญ่-กาญจนบุรี อัตราแรกเข้า 10 บาท คิดเพิ่ม 1.50 บาท/กม.รายได้ปีแรก 945 ล้านบาท และจะปรับค่าผ่านทางได้ตามดัชนีผู้บริโภค (CPI)”

Advertisment

เซ็นสัญญา ธ.ค.นี้

โดยกรมจะพิจารณาข้อเสนอเอกชนและต่อรองสัญญาใน ก.ค.-ธ.ค. 2562 และเสนอขออนุมัติพร้อมลงนามสัญญาร่วมทุนใน ธ.ค.นี้ ดำเนินการปี 2563 ใช้เวลา 3 ปี แล้วเสร็จปี 2565 ปัจจุบันสายบางปะอิน-โคราช งานก่อสร้างคืบหน้ากว่า 70% ตั้งเป้าเปิดกลางปี 2565 ส่วนบางใหญ่-กาญจนบุรี คืบหน้า 20% จะแล้วเสร็จในปี 2566 เพราะต้องรอการเวนคืนจะเปิดบริการปี 2567-2568

BTS-BEM คู่ชิง

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTSG) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด)บริษัท 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา อนุมัติให้บีทีเอสร่วมประมูลระบบเก็บเงินมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 โครงการ และอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดและประเมินความเสี่ยงโครงการ เนื่องจากในทีโออาร์ระบุว่าต้องวัด KPI โครงการด้วย หากเสี่ยงสูงจะทำให้การลงทุนสูงตามไปด้วย และต้องประเมินว่าราคาที่จะยื่นจะแข่งกับคู่แข่งได้หรือไม่

และคาดว่าจะยื่นซองประมูลเนื่องจากเป็นธุรกิจที่คล้ายกับรถไฟฟ้าอยู่แล้ว จะร่วมกับพันธมิตรเดิม คือ บีทีเอส บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง หรือ บมจ.ราชกรุ๊ป และอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรใหม่เพิ่มอีก 1-2 ราย ส่วนระบบเทคโนโลยีจะมีทั้งในเอเชียและยุโรป

แหล่งข่าวจาก บมจ.ช.การช่าง กล่าวว่า ร่วมกับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บริษัทลูกดำเนินการธุรกิจทางด่วนอยู่แล้ว ยื่นประมูลทั้ง 2 โครงการ

ITD-ยูนิคผนึกจีนสู้

เช่นเดียวกัน แหล่งข่าวจาก บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ระบุว่า จะประมูลทั้ง 2 โครงการ โดยร่วมกับบริษัทจีนที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบเก็บเงิน ขณะที่นายสมบัติ พานิชชีวะ ประธานกรรมการ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง ผู้รับสัมปทานโทลล์เวย์ กล่าวว่า ซื้อทีโออาร์ทั้ง 2 โครงการ แต่พิจารณารายละเอียดแล้วยังชั่งใจว่าจะยื่นประมูลหรือไม่ เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าในแง่ความคุ้มค่าในการลงทุน หากบริษัทยื่นประมูลจะร่วมกับบริษัททางด่วนจากญี่ปุ่น

บีทีเอสซุ่มเจรจากัลฟ์

ด้านแหล่งข่าวจากวงการรับเหมาก่อสร้างเปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นงานใหญ่ส่งท้ายของรัฐบาลนี้ น่าจะมีการแข่งขันสูง ขณะนี้มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่จะร่วมกันยื่นซองประมูลระบบเก็บเงินมอเตอร์เวย์บ้างแล้ว อาทิ กลุ่มบีทีเอสกำลังเจรจากับ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บมจ.ยูนิค มีข่าวจะร่วมกับบริษัท ซิโนไฮโดรฯของจีน ส่วน BEMล่าสุดมีกระแสข่าวอาจถอดใจ เนื่องจากสู้ราคาคู่แข่งไม่ไหว เพราะงานนี้มีการเปิดประมูลแบบนานาชาติ โดยเฉพาะจีนที่น่าจับตา เพราะมีการดัมพ์ราคาประมูลงานใหญ่ ๆ มาหลายโครงการแล้ว

สำหรับเอกชน 18 รายที่ซื้อซองประมูลประกอบด้วย 1.บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง 2.บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น 3.บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ 4.บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ 5.บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 6.บจ.ชีวิลเอนจีเนียริ่ง7.บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น 8.บจ.สี่แสงการโยธา (1979) 9.บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) 10.บมจ. ช.การช่าง 11.บจ.เมโทรโพลิแทน เอ็กส์เพรสเวย์ จากญี่ปุ่น 12.บจ.มารูเบนิ คอร์ปอเรชั่น จากญี่ปุ่น 13.บจ.แจแปน เอ็กซ์เพรสเวย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จากญี่ปุ่น14.Far Eastern Electronic Toll Collrction Coltd จากไต้หวัน 15.บจ.ไชน่า ฮาเบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จากจีน, 16.บจ.ไชน่า คอมมูนิเคชั่น คอนสตรัคชั่น จากจีน, 17.บจ.Vinci Concessions จากฝรั่งเศส และ 18. บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง