ปลัดคมนาคมให้กทพ.เพิ่มทางเลือกเจรจาBEMปิดดีลสัมปทานชง “ศักดิ์สยาม” พิจารณา27 ส.ค.นี้

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันที่ 9 ส.ค.2562 เป็นครั้งแรกที่คณะทำงานแก้ไขปัญหาข้อพิพาทสัมปทานทางด่วนระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงนามคำสั่งกระทรวงคมนาคมที่ 231/2562 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานฯ ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ให้ทำหน้าที่ตรวจสอบปัญหาและพิจารณาแนวทางในการแก้ปัญหา พร้อมจัดทำรายงานข้อสรุปความเห็น ข้อเสนอแนะด้านต่าง ๆ เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ภายใน 15 วัน

โดยคณะทำงานฯ ประกอบด้วย นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) นายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการกทพ. นายสุทธิศักดิ์ วรรธนวินิจ รองผู้ว่าการฝ่ายกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่ากทพ. นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

“ที่ประชุมได้หารือเพื่อกำหนดแนวทางการพิจารณาของคณะทำงาน รวมทั้งรับฟังข้อมูลจาก กทพ. เกี่ยวกับข้อพิพาทโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 รวมถึงส่วนดี และทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด ที่มีประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญ คือ ผลกระทบการสร้างทางแข่งขัน กรณีรัฐก่อสร้างดอนเมืองโทลเวย์ส่วนต่อขยาย ช่วงอนุสรณ์สถาน – รังสิต ซึ่งกระทบต่อรายได้ของผู้รับสัมปทาน และกรณีไม่ปรับขึ้นค่าผ่านทางตามที่ระบุในสัญญา เป็นเหตุให้ผู้รับสัมปทานฟ้องร้อง กทพ. มีมูลค่าข้อพิพาทจาก 2 ประเด็น รวมทั้งประเด็นอื่น ๆ จำนวน 137,517 ล้านบาท”

นายชัยวัฒน์กล่าวอีกว่า กทพ. ได้นำเสนอแนวทางการเจรจากับผู้รับสัมปทานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2561 ที่ให้ กทพ. หาแนวทางบรรเทาความเสียหายของรัฐด้วยการเจรจาต่อรอง ให้ทางที่ปรึกษาและกทพ.ทำแนวทางเลือกอื่นเพิ่มเติม เพื่อนำมาเป็นข้อพิจารณาเพิ่มเติม เช่น ระยะเวลาสัมปทาน การแยกพิจารณาขยายสัญญาเป็นรายสัญญากับการขยายทั้ง 3 สัญญาในระยะเวลาที่เท่ากัน เป็นต้น

จะนัดประชุมคณะทำงานเพื่อหารือเพิ่มเติมอีกครั้งวันที่ 16 ส.ค.นี้ ก่อนจะสรุปความเห็นของคณะทำงานรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 ส.ค. นี้ เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป พร้อมมอบแนวทางให้กทพ. พิจารณาข้อมูลให้รอบด้านอย่างดีที่สุด สามารถตอบคำถามของรัฐบาลและประชาชนได้

“เท่าที่รับฟังผลเจรจาของกทพ.ที่ดำเนินการมา ทั้งตัวเลขมีที่มาที่ไป มีหลักการคิด ถือว่าเป็นหลักการที่ดีมาก เพราะรักษาผลประโยชน์เป็นหลัก เช่น กทพ.ได้รับส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางเท่ากับปัจจุบันในสัดส่วน 60% แก้ปัญหาการปรับค่าผ่านทาง จากปัจจุบันปรับตามดัชนีผู้บริโภค และมีการปรับเศษไม่ตรงกันจนเกิดเป็นข้อพิพาทตลอด 20 ปีที่ผ่านมาจะให้ปรับทุก 10 ปี ในอัตราคงที่ 10 บาท และสามารถเคลียร์ข้อพิพาทที่มีแนวโน้มที่ผลตัดสินจะออกมาในลักษณะเดียวกันได้หมด”

รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมคณะทำงานครั้งนี้เพื่อให้หาแนวทางเลือกเพิ่มเพื่อนำประกอบเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ แนวทาง เช่น ตัดโครงการทางด่วน 2 ชั้น (double deck) ที่ BEM จะลงทุน 31,500 ล้านบาท ก่อสร้างจากด่านประชาชื่น-อโศก ระยะทาง 17 กม.เพื่อแก้การจราจร จะทำให้อายุสัมปทานลดลง อาจจะเป็น 15 ปีหรือ 20 ปี แต่มูลค่าข้อพิพาทจะเพิ่มขึ้นไม่ใช่จำนวน 59,000 ล้านบาทที่เจรจาปรับลดจาก 137,517 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลการเจรจาระหว่าง กทพ. และ BEM ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.แล้ว ประกอบด้วย 1.ขยายระยะเวลาสัมปทาน 3 โครงการ 30 ปี แยกเป็นทางด่วนขั้นที่ 2 จากเดิมสิ้นสุด 1 มี.ค. 2563 เป็น มี.ค. 2593 ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนดี จากเดิม เม.ย. 2570 เป็น เม.ย. 2600 และทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด จากเดิม ก.ย. 2569 เป็น ก.ย. 2599 ภายใต้เงื่อนไขโครงการทางด่วน 2 ชั้น (double deck) ที่ BEM จะลงทุน 31,500 ล้านบาท ก่อสร้างจากด่านประชาชื่น-อโศก ระยะทาง 17 กม. ภายใน 2 ปี หลังโครงการนี้ได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)

2.ปรับค่าผ่านทางแบบคงที่ในอัตรา 10 บาท ทุก 10 ปี 3.กทพ.จะได้รับส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทาง 60% 4.พื้นที่ใต้ทางด่วนเป็นกรรมสิทธิ์ของ กทพ.

ทั้งนี้การลงนามในสัญญาสัมปทานจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ให้คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการในภาพรวมแต่การลงนามสัญญาจะเซ็นสัญญาส่วนที่ 1 เพื่อยุติข้อพิพาท โดยขยายระยะเวลา 15 ปี และส่วนที่ 2 การก่อสร้าง Double Deck จะยังไม่มีการลงนาม จนกว่า EIA จะผ่านใน 2 ปี ถ้าไม่ผ่านทาง BEM จะได้ต่อขยายสัญญา 15 ปีเท่านั้น