“ศักดิ์สยาม” งัด9ข้อพิรุธโต้โฮปเวลล์ แลกไม่จ่ายค่าโง่ 2.4 หมื่นล้าน

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการสามัญด้านกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา เป็นการหารือเกี่ยวกับประเด็นการรื้อฟื้นคดีโครงการโฮปเวลล์ ซึ่งได้อธิบายไปว่า หลังจากที่มารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมาและได้มีการพบหลักฐานใหม่ของกรณีดังกล่าวนี้ จึงได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงประการต่าง ๆ ขึ้นมา จนในที่สุดสามารถพบข้อพิรุธ 9 ข้อของโครงการที่หน่วยงานรัฐในอดีตไม่เคยนำมาใช้เป็นหลักฐานในการต่อสู้คดีนี้เลย

และทั้ง 9 ข้อเป็นข้อมูลใหม่ที่สามารถนำมาสู่การพิจารณาคดีใหม่และป้องกันการจ่ายเงินของรัฐไปในกรณีนี้ ซึ่งได้เรียน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมรับทราบแล้ว และกำชับให้ดำเนินการให้รอบคอบ ซึ่งได้มีการให้หลักฐานกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายไปศึกษาร่วมด้วย ข้อพิรุธที่พบทั้ง 9 ข้อประกอบด้วย

1. รายละเอียดโครงการไม่ตรงตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงนั้น

2. การดำเนินการของคณะกรรมการคัดเลือกรวดเร็วผิดปกติ และให้สิทธิประโยชน์มากกว่าที่ครม.ให้หลักการไว้

3. มีการแทรกแซงรายละเอียดโครงการในขณะนั้น โดยพบว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมช่วง ม.ค.2533 เอื้อประโยชน์ให้บจ.โฮปเวลล์โฮลดิ้งจากฮ่องกง

4.บจ.โฮปเวลล์โฮลดิ้งเสนอเงื่อไขไม่ตรงตามประกาศของคณะกรรมการคัดเลือก

5.พบความผิดปกติในการร่างสัญญาและการลงนามในสัญญา

6. พบการเอื้อประโยชน์ในการจัดตั้งบจ.โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) และหลีกเลี่ยงการใช้ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

7. การลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 9 พ.ย.2533 ไม่เป็นไปตามมติครม.

8. พบการรายงานเท็จต่อครม.

9. บจ.โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ไม่มีสิทธิ์ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ตอนนี้ได้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ส่งข้อมูลทั้งหมดให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการต่อตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งได้ยื่นไปเมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา มีกรอบเวลากำหนดตามกฎหมาย 30 วัน ต้องรอดูว่ากรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะเพิกถอนสถานภาพการเป็นบริษัท ของ บจ.โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) หรือไม่ หากพบว่ายังไม่ทำ ก็จะต้องยื่นเรื่องถึงศาลปกครองให้มีคำวินิจฉัยต่อไป

“การดำเนินการทั้งหมดอยู่บนลำดับความสำคัญ ลำดับแรกคือ จะทำอย่างไรไม่ให้รัฐต้องเสียงบประมาณเพื่อจ่ายค่าชดเชย 24,000 ล้านบาท หลังจากนั้น จึงจะพิจารณานำข้อมูลต่างๆฟ้องร้องทางแพ่งและอาญาต่อไป ซึ่งเราจะมอบให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการต่อ เพราะเป็นคดีที่มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก คงต้องยกเป็นคดีพิเศษ เพื่อดำเนินการต่อไป” นายศักดิ์สยามกล่าวในช่วงท้าย