มหาดไทยสแกน”กักตุนสินค้า” งัดกฎหมายบังคับซื้อโทษปรับ-จำคุก

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย

มหาดไทยเข้มเต็มพิกัด หลัง พ.ร.ฎ.กำหนดให้ทั่วประเทศเป็นเขตสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์มีผลบังคับใช้ “อนุพงษ์” ลงนามตั้งผู้ว่าฯ 77 จังหวัดนำทีม เล็งส่งชุดปฏิบัติการเชิงรุกสแกนการกักตุนข้าวสาร น้ำมันพืช น้ำปลา ยันหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ดัดหลังพ่อค้า นายทุน ตุนสินค้า-โก่งราคาขูดเลือดชาวบ้าน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2563 มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ ตาม พ.ร.บ.สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2497 โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธาน กลางสัปดาห์นี้บอร์ดสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ได้นัดประชุมหารือเป็นครั้งแรก เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติงาน และเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ประจำท้องที่ หรือคณะกรรมการส่วนท้องที่ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และต่างจังหวัด จากนั้นจะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งในส่วนกลาง ต่างจังหวัดออกสำรวจสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีปัญหาการกักตุนสินค้า

สาเหตุที่นำกฎหมายฉบับนี้มาปัดฝุ่นบังคับใช้ เป็นเพราะบทบัญญัติครอบคลุมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคทุกชนิด โดยไม่จำเป็นต้องประกาศรายการสินค้าที่ต้องการสำรวจการกักตุน หรือต้องการควบคุมเป็นรายการ ๆ ช่วยแก้ปัญหาในสถานฉุกเฉินวิกฤตโควิด-19 ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องแก้ดำเนินการด้วยความรวดเร็ว

สำหรับคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ประจำท้องที่ จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 77 จังหวัดเป็นประธาน กรรมการประกอบด้วยตัวแทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ฝ่ายปกครอง ตำรวจ พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด เกษตรจังหวัด นายอำเภอ ผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขตใน กทม. เป็นต้น เป้าหมายหลักคือการป้องกันแก้ไขปัญหาการกักตุนสินค้า หรือมีสินค้าไว้ในการครอบครองเกินปริมาณที่จำเป็นสำหรับการใช้จ่ายส่วนตัว และไม่นำออกจำหน่ายตามวิถีทางการค้าปกติ เป็นการเตรียมการล่วงหน้าป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเครื่องอุปโภคบริโภค รวมทั้งสินค้าที่มีความจำเป็นขาดตลาด และราคาแพงเกินความเป็นจริง

เครื่องโภคภัณฑ์ภายใต้กฎหมายดังกล่าว ครอบคลุมตั้งแต่สินค้าอุปโภคบริโภคทุกชนิดทั้งสำหรับการบริโภคและใช้สอย รวมถึงสินค้าจำเป็นในขณะนี้ อาทิ หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ ฯลฯ และสินค้าอื่นที่บอร์ดจะกำหนดในกฎกระทรวงเพิ่มเติม ทั้งนี้ หลังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่วนท้องที่ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ รองรับพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ทั่วประเทศเป็นเขตสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา การดำเนินการตาม พ.ร.บ.สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ จะสำรวจการกักตุนได้ตั้งแต่โรงงานผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ ห้างร้าน ลงลึกถึงระดับโชวห่วยในหมู่บ้าน ชุมชน เป็นการเสริมให้การบังคับใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. ๒๕๔๒ ของกระทรวงพาณิชย์ มีประสิทธิภาพประสิทธิผลเพิ่มขึ้น

Advertisment

เนื่องจากกฎหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในเขตสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์มีอำนาจครอบคลุมกว้างขวาง คือ 1.มีหนังสือสอบถามหรือสั่งการให้บุคคลที่เกี่ยวข้องชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโภคภัณฑ์ 2.ประกาศให้เจ้าของ ผู้ครอบครองโภคภัณฑ์แจ้งปริมาณ สถานที่เก็บ ห้ามยักย้ายหรือแปรสภาพ 2.เข้าไปในสถานที่หรือเคหสถาน เพื่อตรวจสอบเอกสารหลักฐาน 4.สั่งให้เจ้าของ ผู้ครอบครองโภคภัณฑ์ขายโภคภัณฑ์ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคณะกรรมการ หรือสั่งให้ยึด และบังคับซื้อโภคภัณฑ์ ตามวิธีการ ราคา และปริมาณที่คณะกรรมการกำหนด หากฝ่าฝืนมีโทษทั้งปรับ จำคุก หรือทั้งปรับทั้งจำคุก