อนุมัติเนาวรัตน์สร้างอุโมงค์รถไฟไทย-จีน

“บอร์ดรถไฟ” อนุมัติเนาวรัตน์พัฒนาการ สร้างอุโมงค์รถไฟไทย-จีนช่วง “มวกเหล็ก-ลำตะคอง” วงเงินกว่า 4.2 พันล้าน ยังไม่เคาะรูปแบบบริหารสถานีกลางบางซื่อ หวั่นไม่ทันเปิดใช้ ม.ค.ปีหน้า ร.ฟ.ท.จ่อดูแลเองงานรักษาความสะอาดและความปลอดภัย ด้าน “ศักดิ์สยาม” สั่งศึกษาข้อดี ข้อเสีย เดินรถไฟฟ้าสายสีแดงระหว่างให้บริษัทลูก เปิด PPP ให้เอกชนบริหารจัดการ

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบผลการประกวดราคาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา สัญญาที่ 3-2 งานก่อสร้างอุโมงค์ลอดภูเขาช่วงมวกเหล็ก-ลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กม. มี บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ เป็นผู้ชนะการประกวดราคาด้วยการเสนอราคาต่ำสุดที่วงเงิน 4,279 ล้านบาท

หลังจากบอร์ดเห็นชอบแล้วจะเข้าสู่ขั้นตอนการกำหนดวันลงนามในสัญญาต่อไป ทั้งนี้ การลงนามจะทำได้ก็ต่อเมื่อรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการผ่านความเห็นชอบก่อน ขณะนี้ EIA ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ (คชก.)

ส่วนข้อสรุปของการบริหารสถานีกลางบางซื่อ บอร์ดได้ให้พิจารณาใหม่ถึงรูปแบบที่เหมาะสมในการบริหารสถานี โดยฝ่ายบริหารทรัพย์สินได้เสนอรูปแบบการบริหารมาประมาณ 4-5 รูปแบบ ซึ่งได้ให้ฝ่ายบริหารทรัพย์สินทำข้อมูลเพิ่มเติมในแต่ละรูปแบบมารายงานอีกครั้ง หลังจากได้ข้อมูลแล้วจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดำเนินการร่างขอบเขตการดำเนินงาน (TOR)

“กรรมการร่าง TOR จะต้องเป็นผู้กำหนดว่าจะใช้รูปแบบไหน หากยังไม่สามารถสรุปรูปแบบการบริหารสถานีได้ทันปลายปีนี้ จะกระทบต่อกำหนดเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อในเดือน ม.ค.ปีหน้า การรถไฟฯอาจจะนำส่วนงานการรักษาความสะอาดและการรักษาความปลอดภัยมาดูแลไปพลางก่อนได้ ส่วนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เชื่อว่ายังสามารถรอได้”

สำหรับการเดินรถของสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต จะเปิดเดินรถเดือน ม.ค. 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ประชุมหาแนวทางดำเนินการ โดยให้ ร.ฟ.ท.กลับไปทำการบ้านเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียระหว่างรูปแบบการตั้งบริษัทลูกของ ร.ฟ.ท.เองขึ้นมาบริหาร กับการเปิดให้เอกชนเข้ามาบริหารในลักษณะ PPP แบบไหนจะดีกว่ากัน