เลาะแนวรถไฟฟ้าเชียงใหม่ ลอด “เซ็นทรัล” ทะลุ “แยกแม่เหียะ”

คอลัมน์ เวนคืนอัพเดต

เป็นอีกหนึ่งโครงการที่กำลังเป็นที่จับตาจะเกิดได้จริงหรือได้แค่ศึกษา สำหรับ “โครงการระบบขนส่งมวลชน จ.เชียงใหม่ สายสีแดง” นำร่องช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี ระยะทาง 15.8 กม. วงเงิน 27,211 ล้านบาท

ซึ่ง “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” กำลังศึกษารายละเอียดโครงการและทดสอบความสนใจจากภาคเอกชน ให้มาลงทุนรูปแบบ PPP net cost เดินรถ เก็บค่าโดยสารและซ่อมบำรุงโครงการ ระยะเวลา 30 ปี ก่อสร้าง 5 ปี เป็นโมเดลเดียวกับสายสีชมพูและสายสีเหลือง รัฐจะสนับสนุนเงินลงทุนไม่เกินค่างานโยธา 15,000-16,000 ล้านบาท ส่วนเอกชนลงทุนงานวางระบบรถไฟฟ้า (M&E) 3,334 ล้านบาท, งานระบบล้อเลื่อน 2,168 ล้านบาท

คาดตอกเข็มปี’65

ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างในเดือน มี.ค. 2565 เปิดบริการในเดือน ธ.ค. 2570 แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการได้รับอนุมัติรายงานด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) จะได้รับไฟเขียวเร็วหรือช้า

เพราะเมื่อเอกซเรย์แล้วน่าจะเป็นโจทย์หินอยู่พอสมควร เพราะมีทั้งโครงสร้างบนระดับดินและใต้ดิน โดยแนวเส้นทางเป็นโครงสร้างระดับดินเริ่มต้นจากโรงพยาบาลนครพิงค์วิ่งไปตามถนนโชตนาเลี้ยวขวาที่ทางแยกศูนย์ราชการร่วมใจ ผ่านศูนย์ราชการเลี้ยวซ้ายเข้าถนนรอบเมืองเชียงใหม่ ผ่านสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี และศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา

แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนน 1366 หนองฮ่อ-ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ ผ่านสถานีตำรวจช้างเผือก เลี้ยวขวากลับเข้าถนนโชตนา แล้วเปลี่ยนเป็นโครงสร้างใต้ดินบริเวณแยกข่วงสิงห์ ไปตามถนนช้างเผือกผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สถานีขนส่งผู้โดยสาร แห่งที่ 1 เลี้ยวขวาวิ่งไปตามถนนมณีนพรัตน์

จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าถนนบุญเรืองฤทธิ์ ผ่านโรงพยาบาลเชียงใหม่ราม โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ประตูสวนดอก โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ เลี้ยวขวาเข้าถนนมหิดลผ่านเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต เลี้ยวขวาเข้าถนนผ่านสนามบินเชียงใหม่แล้วเปลี่ยนเป็นโครงสร้างระดับดินไปตามถนนเชียงใหม่-หางดง ผ่านสำนักงานขนส่ง บิ๊กซี หางดง สิ้นสุดที่แยกแม่เหียะสมานสามัคคี

เวนคืน 4 พันล้าน ผุด 16 สถานี

รวมระยะทาง 16 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 38 นาที มี 16 สถานี ได้แก่ สถานีโรงพยาบาลนครพิงค์ ศูนย์ราชการ จ.เชียงใหม่ สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ แยกหนองฮ่อ โพธาราม ข่วงสิงห์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ขนส่งช้างเผือก มณีนพรัตน์ ประตูสวนดอก แยกหายยา แยกท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ สถานีท่าอากาศยานเชียงใหม่ บ้านใหม่สามัคคี และแม่เหียะสมานสามัคคี

ทั้งโครงการมีการเวนคืนที่ดินอยู่บริเวณจุดขึ้น-ลงสถานี จุดใหญ่อยู่ที่แยกหนองฮ่อ เวนคืน 25 ไร่ เพื่อสร้างเป็นศูนย์ซ่อมบำรุง บริเวณแยกหนองฮ่อ หรือโครงการลัดดาแลนด์เดิม ใช้เงินเวนคืน 4,400 ล้านบาท ยังมีจุดจอดแล้วจรที่สถานีโรงพยาบาลนครพิงค์ 1,600 คัน และสถานีแม่เหียะฯ 1,200 คัน

รูปแบบโครงการที่ศึกษาไว้ขณะนี้ จะเป็นรูปแบบรถไฟฟ้ารางเบา (tram) ขนาดความกว้างของราง 2.4 เมตร ผู้ลงทุนสามารถเลือกใช้ล้อยางหรือล้อเหล็กก็ได้

ค่าโดยสาร 14-30 บาท

ด้านค่าโดยสารเริ่มต้น 14 บาท จากนั้นคิดเพิ่ม กม.ละ 1 บาท สูงสุด 30 บาทตลอดสาย ในปีแรกเปิดบริการคาดการณ์ผู้โดยสารอยู่ที่ 16,487 คน/วัน และเมื่อสิ้นสุดโครงการในปี 2590 คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะอยู่ที่ 42,321 คน/วัน มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ที่ 13% ส่วนผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ค่อนข้างต่ำ

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า รถไฟฟ้าเชียงใหม่เป็น 1 ใน 5 โครงการรถไฟฟ้าภูมิภาคที่ รฟม.ได้รับนโยบายจากรัฐให้เป็นผู้ดำเนินการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาออกแบบ เตรียมการเปิดประมูล และขออนุมัติตามขั้นตอน โดยรถไฟฟ้าเชียงใหม่จะเป็นโครงการลงทุนต่อจากภูเก็ต

เอกชนไทย-ยุโรปสนใจลงทุน

“มีเอกชนจากบริษัทไทยและยุโรป ไม่ว่าฝรั่งเศส สเปน ให้ความสนใจจะเข้ามาลงทุน ตามแผนงานหลังศึกษาออกแบบเสร็จปีนี้ ในปี 2564 จะคัดเลือกเอกชนร่วม PPP เริ่มสร้างปี 2565”

ก่อนหน้านี้ รฟม.เปิดทดสอบความสนใจ มีเอกชนที่เข้าร่วม อาทิ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS), บจ.บีทีเอส อินฟราสตรัคเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์, บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM), บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น, บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง, บมจ.เนาวรัตน์ พัฒนาการ, บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บมจ.ยูนิคฯ, บมจ.ราช กรุ๊ป, บมจ.ล็อกซเล่ย์ และ บจ.ซีเมนส์ โมบิลิตี้, บจ.ทีซีซี ภูมิพัฒน์ บริษัทในเครือทีซีซี กรุ๊ปของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี และ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา ส่วนบริษัทต่างประเทศ เช่น บอมบาดิเอร์ จากแคนาดา บริษัทจากจีน เกาหลีใต้