3 อสังหาฯ จี้รัฐรีสตาร์ตครึ่งปีหลัง เลื่อนภาษีที่ดินจัดโซนนิ่งคอนโด

อสังหาฯ รีสตาร์ต

3 อสังหาฯ จี้รัฐรีสตาร์ต รับเทรนด์ฟื้นตัวครึ่งปีหลัง 2563 ย้ำเลิก LTV เลื่อนภาษีที่ดิน ขยายเพดานลดค่าโอน/จำนอง 3 ล้านให้ครอบคลุมไม่จำกัดราคา ขอจัดโซนนิ่งคอนโด 49% ปล่อยผีต่างชาติเช่า 99 ปี เพิ่มวีซ่าลองสเตย์ 10 ปี หวังแข่งกับมาเลเซีย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไตรมาส 2/63 เกมการแข่งขันยังคงเป็นภาพของการจัดโปรโมชั่นระบายสต๊อกเพื่อถือเงินสดให้มากที่สุด หลังจากผลประกอบการไตรมาสแรกติดลบทั้งรายได้และกำไร 30-40% ขณะที่ฝากความหวังไว้กับช่วงครึ่งปีหลัง2563 ที่ประเมินว่าตลาดบ้านและคอนโดมิเนียมมีโอกาสฟื้นตัวตามกำลังซื้อที่คาดว่าจะเริ่มกลับมาดีขึ้น เนื่องจากรัฐบาลไทยสามารถป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ดีจนได้รับเสียงชื่นชมจากทั่วโลก

LWS คาดฟื้นตัวครึ่งปีหลัง

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพีนี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom หรือ LWS) บริษัทด้านการวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ LPN กล่าวว่า แม้ว่าผลประกอบการไตรมาส 1/63 ของ 29 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯมีรายได้รวม 59,207.66 ล้านบาท ลดลง -30.43% กำไรสุทธิ 8,176.88 ล้านบาท ลดลง -40.68% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/62แต่มีสัญญาณที่ดีจาก 1.มีกำไรเฉลี่ย 13.81% ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น 2.หนี้สินต่อทุนต่ำกว่า 2 : 1 เท่า สะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางการเงิน รวมทั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มคลี่คลาย คาดว่าจะปลดล็อกได้ ณ สิ้นไตรมาส 2/63 จึงคาดว่าตลาดอสังหาฯจะค่อย ๆ ฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง 2563

ขอ Soft Loan อุ้มลูกค้ารายย่อย

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาวะสงครามราคาในธุรกิจอสังหาฯเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงหากดำเนินต่อเนื่องยาวนานอาจส่งผลกระทบทำให้ดีเวลอปเปอร์อาจพยุงกิจการได้เพียง 3-6 เดือน ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อให้ระบายสต๊อกสะสมออกไปให้ได้มากที่สุด

ข้อเสนอ คือ 1.ยกเลิกหรือเลื่อน LTV-loan to value ออกไปก่อน 1-2 ปี 2.เลื่อนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (property tax) จนกว่าเศรษฐกิจจะพื้นตัว 3.ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายกลาง-รายเล็ก เพื่อให้มีสภาพคล่อง 4.ขอให้รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมการซื้ออสังหาฯของลูกค้าต่างชาติมากขึ้นกว่าเดิม

สอดคล้องกับ นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ดีมานด์ซื้อบ้านแนวราบมีตลอดเวลา แต่รับผลกระทบโควิดทำให้ชะลอตัว ในขณะที่มีปัจจัยบวกจากภาวะดอกเบี้ยต่ำ สิ่งที่ต้องการเห็นคือสถาบันการเงินผ่อนปรนการพิจารณาสินเชื่อเพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อและโอนบ้านได้

มาตรการเพื่อรีสตาร์ตธุรกิจอสังหาฯ มีทั้งขอให้เลื่อนการใช้ LTV และเลื่อนการจัดเก็บ property tax รวมทั้ง soft loan ของรัฐบาลที่อยากให้พิจารณาขยายให้ครอบคลุมโพสต์ไฟแนนซ์ หรือสินเชื่อลูกค้ารายย่อยที่ต้องการซื้อบ้านในอัตราดอกเบี้ยต่ำด้วย

แนะกระตุ้นผู้ซื้อ 5-30 ล้าน

ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า ถ้ารัฐจะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้อสังหาฯในกลุ่มที่รัฐยังไม่ได้ทำเลยก็คือลูกค้าระดับกลาง-บน ข้อเสนอคือ 1.ช่วยเหลือกลุ่มผู้ซื้อราคา 5-30 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งไม่มีปัญหาถูกปฏิเสธสินเชื่อมากนัก

2.ปัจจุบันตลาดคอนโดฯมีภาวะสต๊อกท่วมตลาด จำเป็นต้องพึ่งพิงกำลังซื้อลูกค้าต่างชาติ ซึ่งมีโควตาซื้อกรรมสิทธิ์คอนโดฯได้ 49% โดยเฉพาะลูกค้าจีน ซึ่ง recovered จากโควิด บวกกับประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านสาธารณสุขที่ควบคุมการระบาดได้ดี เสนอให้ต่างชาติซื้อห้องชุด 3-5 ล้าน ขยายวีซ่าเป็น5 ปี ซื้อเกิน 5 ล้านบาทขึ้นไป ให้วีซ่า 10 ปี

“ปี 2562 ต่างชาติโอนเงินซื้ออสังหาฯไทย 9 หมื่นล้านบาท มาตรการที่จะดึงต่างชาติให้พำนัก long stay อาจกลับมาได้สักครึ่งหนึ่ง หรือ 5 หมื่นล้าน ช่วยระบายสต๊อกสะสมให้ลดลงได้”

แจกวีซ่า 10 ปีแข่งมาเลเซีย

นายธงชัย บุศราพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมและกรรมการผู้จัดการบริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าโนเบิลจัดโปรโมชั่น reset price ระหว่าง 1-7 มิถุนายน 2563 ลด 20-40%ตั้งเป้าระบายสต๊อก 1,000 ล้านบาท ผลตอบรับเพียงวันแรก 1 มิถุนายน มียอดขายถล่มทลาย 1,300 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงมีดีมานด์ซื้อที่อยู่อาศัย แต่ต้องการแรงกระตุ้นจากภาครัฐเข้ามาเสริมข้อเสนอ 1.นอกจากเลื่อนการบังคับใช้ LTV แล้ว 2.ให้ permanent VISA 10 ปี

สำหรับลูกค้าต่างชาติ ซึ่งประเทศไทยตอนนี้ outstanding มากในเรื่องการควบคุมแพร่ระบาดโควิด คนจีนกำลังซื้อสูงโดยเฉพาะฮ่องกงก็อยากออกจากประเทศเพราะความขัดแย้งทางการเมือง ประเทศไทยต้องพิจารณาเรื่องนี้เพราะกำลังตามหลังมาเลเซียที่เปิดให้คนต่างชาติที่ซื้อราคา 20 ล้านริงกิต จะได้วีซ่า 10 ปี ทำให้ตอนนี้กำลังซื้อจากฮ่องกงไหลเข้ามาเลเซียเยอะมาก

3.ขยายเวลาเช่า 30 ปี ตามหลักทฤษฎีสิทธิการเช่า หรือ leasehold ถ้าได้ยาวถึง 99 ปี จะเท่ากับการถือกรรมสิทธิ์ หรือfreehold ถ้าหากรัฐบาลไทยเปิดช่องตรงนี้จะทำให้กำลังซื้อต่างชาติให้ความสนใจซื้ออสังหาฯอย่างแน่นอน

ออริจิ้นปิ๊งไอเดียโซนนิ่ง 49%

นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า เสนอโมเดลโควตาลูกค้าต่างชาติซื้อห้องชุด 49% ปัจจุบันเป็นโควตาเฉพาะโครงการเช่น คอนโดฯ 1 โครงการมี 100 ห้อง ต่างชาติซื้อได้ 49 ห้อง ปรับนโยบายให้ทำเป็นโซนนิ่งระดับเขต เช่น เขตคลองเตย มีคอนโดฯ 500 โครงการ 10,000 ห้อง ต่างชาติซื้อรวมกันได้ 4,900 ห้อง

วิธีการให้นับโควตาเป็นภาพรวมของเขตคลองเตย ขายให้ต่างชาติได้รวมกัน 4,900 ห้อง ถัดมาเกลี่ยโควตาแต่ละโครงการ ถ้าโครงการไหนมีคนไทยซื้อเยอะ ทำให้ต่างชาติซื้อไม่ถึง 49% ก็ให้นำโควตาต่างชาติที่เหลือมาวางไว้เป็นกองกลาง จากนั้นให้คอนโดฯโครงการอื่นสามารถขายในโควตาต่างชาติที่เหลือได้

ส่วนเรื่องสิทธิการเช่า 30 ปี ข้อเสนออยากให้รัฐบาลขยายการเช่าสำหรับต่างชาติ 99 ปีขึ้นไป โดยไม่จำกัดโซนนิ่ง แต่ให้ใช้ได้ทั่วประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาในโซน EEC รัฐบาลมีการขยายสิทธิการเช่าเป็น 50 ปี แต่ไม่ได้รับความสนใจจากต่างชาติเท่าที่ควร ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจจึงจำเป็นต้องเพิ่มและขยายสิทธิประโยชน์เพื่อให้ดึงดูดกำลังซื้อต่างชาติได้อย่างแท้จริง