รพ.กรุงเทพ จัดอบรมการปฐมพยาบาลการช่วยคลอดฉุกเฉินให้กับตำรวจจราจร

รพ.กรุงเทพ จัดอบรมการปฐมพยาบาลการช่วยคลอดฉุกเฉินให้กับตำรวจจราจร

รพ.กรุงเทพ จัดอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการช่วยคลอดฉุกเฉิน ให้กับตำรวจจราจร เพิ่มทักษะช่วยคลอดบนท้องถนนและกู้เหตุวิกฤต

โรงพยาบาลกรุงเทพ ร่วมกับ กองบังคับการตำรวจจราจร  และ จส.100 จัด “การอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการช่วยคลอดฉุกเฉิน ประจำปี 2567” ให้แก่ ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ กองบังคับการตำรวจจราจร เพื่อให้บริการประชาชนในด้านนำผู้ป่วย  ผู้บาดเจ็บ  รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอดนำส่งโรงพยาบาล รวมทั้งการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) กับผู้ประสบเหตุต่างๆ พร้อมสาธิตการใช้เครื่อง AED ในระหว่างวันที่ 20-21 พฤษภาคม 2567

นายแพทย์เอกกิตติ์ สุรการ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า โรงพยาบาลกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ มีความยินดีที่ได้จัดอบรมโครงการอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการช่วยคลอดฉุกเฉิน ให้กับตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ ซึ่งในปีนี้เป็นครั้งที่ 9 หัวข้อในการอบรมคือ การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน การช่วยเหลือฉุกเฉินเบื้องต้น การช่วยคลอดในสถานการณ์ต่างๆ รวมไปถึงการดูแลทารกแรกคลอดก่อนนำส่งโรงพยาบาล ให้แก่ ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ กองบังคับการตำรวจจราจร และอาสาสมัครจาก  จส.100 ประมาณ 200 คน ซึ่งโรงพยาบาลได้จัดการบรรยาย สาธิตและฝึกปฏิบัติโดยบุคลากรและทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ของโรงพยาบาลให้กับผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกท่าน เพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติหรือประยุกต์ใช้ได้หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นบนท้องถนน

นาวาอากาศเอก(พิเศษ)นายแพทย์ไพศาล จันทรพิทักษ์ ที่ปรึกษาผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ สายกิจกรรมพิเศษ กล่าวว่า ในปัจจุบันตำรวจจราจรนอกจากจะมีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรแล้ว ยังให้บริการประชาชนในด้านการนำผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอดนำส่งโรงพยาบาล ช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นกับผู้ประสบเหตุต่าง ๆ ก่อนถึงโรงพยาบาล เพื่อให้ทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ได้เตรียมการรักษา เมื่อถึงจุดเกิดเหตุหรือนำส่งโรงพยาบาลได้อย่างทันที โครงการนี้จะช่วยให้ตำรวจผู้เข้ารับการอบรม ได้รับความรู้และประสบการณ์เพื่อสามารถปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เมื่อพบผู้ประสบเหตุ โดยเฉพาะการดำเนินการส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องก่อนถึงมือแพทย์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุเบื้องต้น และยังเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและองค์กรต่างๆ  ในการให้ความช่วยเหลือและส่งต่อผู้ป่วย เพื่อประสานงานด้านการจราจรเมื่อมีการลำเลียงผู้ป่วยและเป็นการสนับสนุนการทำงานของภาครัฐอีกทางหนึ่งด้วย

Advertisment

นายแพทย์วีรวิชญ์ พรวัฒนไกรเลิศ สูตินรีแพทย์ ศูนย์สุขภาพสตรีกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึง การช่วยคลอดในภาวะฉุกเฉินว่า สิ่งแรกที่ผู้พบเหตุต้องทำคือ การประเมินผู้คลอดว่าใกล้คลอดหรือไม่ ด้วยคำถามเบื้องต้น เช่น เคยคลอดบุตรมาก่อนหรือไม่ เจ็บถี่เพียงไร มีน้ำเดินหรือไม่ ปวดคล้ายเบ่งถ่ายหรือไม่ หากพบอาการข้างต้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เคยคลอดบุตรมาแล้วและมีลมเบ่งเหมือนอยากถ่ายมักจะคลอดอย่างรวดเร็ว ควรเตรียมตัวช่วยคลอดในทันที การคลอดเป็นเรื่องธรรมชาติที่หากได้รับการดูแลเบื้องต้นที่ดี โอกาสเกิดปัญหากับมารดา และทารกก็น้อยลง ซึ่งอุปกรณ์ที่จำเป็นในการช่วยคลอดคือ ถุงมือปลอดเชื้อ ลูกยางแดง ผ้าสำหรับเช็ดและห่อตัวเด็ก 

ขั้นตอนสำคัญในการช่วยคลอดคือ การประคองศีรษะและลำตัวทารกไม่ให้ตกกระแทกพื้น  ดูดเมือกจากปากและจมูกทารกเพื่อป้องกันการสำลัก เช็ดตัวและให้ความอบอุ่นกับทารก สำหรับสายสะดือหากไม่มีอุปกรณ์ที่ปลอดเชื้อไม่ควรตัดสายสะดือ สามารถนำทารกไปตัดสายสะดือที่โรงพยาบาล ทั้ง ๆ ที่รกยังติดกับสายสะดือ ในกรณีที่สตรีตั้งครรภ์ยังไม่มีอาการที่จะคลอดเดี๋ยวนั้น หรือคาดว่าทารกจะคลอดภายในไม่เกิน 5 นาที โดยไม่มีแพทย์หรือโรงพยาบาลใกล้เคียงรองรับ ไม่ควรพยายามเคลื่อนย้ายผู้คลอด แต่ควรเตรียมตัวและอุปกรณ์ในการช่วยคลอดให้ครบ เพื่อความปลอดภัยของแม่และลูก รวมทั้งผู้ช่วยคลอด

Advertisment

นายแพทย์นพสิทธิ์ ธนะธีระพงศ์  แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ กล่าวว่า การช่วยชีวิตขี้นพื้นฐานและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำเพื่อเตรียมพร้อมในกรณีฉุกเฉิน สำหรับการปฐมพยาบาลผู้ที่หมดสติสงสัยว่ามีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนั้น จะต้องได้รับการกู้ชีพด้วยการกดหน้าอกหรือ CPR ร่วมกับการใช้ AED : Automated External Defibrillator ก่อนที่บุคลากรการแพทย์จะมาถึง ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อการรอดชีวิตของผู้ป่วย โดยการกู้ชีพนั้นทุกคนสามารถทำได้ด้วยการกดหน้าอกจำนวน 100-120 ครั้งต่อนาที และการใช้เครื่อง AED ภายในช่วงไม่กี่นาทีแรกหลังเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นนั้น จะช่วยให้โอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยมีมากขึ้น 2-3 เท่า การส่งเสริมการเรียนรู้และฝึกทักษะ CPR ให้กับตำรวจจราจร ผู้พบเห็นเหตุการณ์ หรือประชาชนทั่วไป เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นอย่างมีประสิทธิภาพได้มากขึ้น 

ภายในงานได้รับเกียรติจาก พลตำรวจตรีสุรเชษฐ์ บัณฑิตย์ ผู้บังคับการตำรวจจราจร พันตำรวจเอก   จิรกฤต จารุณภัทร รองผู้บังคับการตำรวจจราจร มาร่วมเป็นประธานเปิดงาน ดร.ประไพพัตร โขมพัตร ที่ปรึกษาประธานบริหาร สถานีวิทยุ จส.100 ในฐานะที่ จส.100 เป็นหน่วยงานที่ริเริ่มโครงการนี้ร่วมกับโรงพยาบาลกรุงเทพ มาตั้งแต่ครั้งที่ 1 จนถึงปี 2567 จัดเป็นครั้งที่ 9 เป็นหน่วยงานที่มีส่วนร่วมผลักดันและสร้างให้ประชาชนมีความรู้ในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน สามารถแจ้งเหตุเพื่อให้ผู้รับบาดเจ็บสามารถได้รับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว พร้อมนำอาสาสมัครมาเข้ารับการอบรมในครั้งนี้ 

และ ส.ต.อ.อัศวิน ยิ้มชูเดช  ผบ.หมู่ งานฯ กก.6.บก  ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ นำทีมช่วยคลอดบนรถ พร้อมด้วยเคสที่เคยได้รับการช่วยคลอดบนท้องถนน คุุณอัฑฒ์ศยาภรณ์  ศรีจันทรา(คุณแม่)  และร้อยตำรวจโทมานะ จอกโคกสูง รองสารวัตรจราจรงาน 1 กก.6 ตำรวจผู้ทำคลอด ร่วมเล่kประสบการณ์พูดคุยบนเวที