จากเศรษฐกิจพอเพียงสู่สังคมเกื้อกูล การประยุกต์ใช้สไตล์นิธิฟู้ดส์ “ถ้าเราไม่สานต่อ แล้วใครจะสานต่อ”

“เศรษฐกิจพอเพียง” แนวปรัชญาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ตั้งแต่ระดับปัจเจก ชุมชน สังคม ระดับประเทศชาติ รวมไปถึงการนำมาปรับใช้ในภาคธุรกิจอีกด้วย

“ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” พูดคุยกับ “สมิต ทวีเลิศนิธิ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตสินค้าแปรรูปจากการเกษตร อาทิ เครื่องปรุงรส เป็นบริษัทธุรกิจขนาดย่อมใน จ.เชียงใหม่ ที่เคยได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดผลงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้านธุรกิจขนาดย่อม ถึงแนวทางการนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ

“สมิต” ซึ่งเป็นผู้บริหารรุ่นที่ 2 ของนิธิฟู้ดส์ เล่าให้ฟังว่า บริษัทนิธิฟู้ดส์เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2541 มุมมองหนึ่งของการดำเนินธุรกิจตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงรุ่นนี้ คือเรื่องของกระบวนการจัดการธุรกิจที่จะทำอย่างไรให้ยั่งยืน อยู่ได้เป็นสิบปีหรือเป็นร้อยปี ไม่ล้มไปง่ายๆ ซึ่งแนวคิดที่นำมาใช้เป็นหลักในการดำเนินกิจการเพื่อความยั่งยืนนี้ ก็คือ “เศรษฐกิจพอเพียง” นั่นเอง

“ถ้าดูหลักของเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ว่าจะเป็นหลักความมีเหตุผล ความพอประมาณ ความมีภูมิคุ้มกัน และการมีความรู้และคุณธรรม ก็จะทำให้เราไม่ล้มง่าย ไม่ล้มง่ายในที่นี้หมายความว่าเราสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดี ดำเนินธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไปตามกำลังทุน”

อย่างไรก็ตาม สมิตย้ำว่า ถึงแม้จะยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินธุรกิจ แต่ไม่ได้เป็นการนำหลักการมาเป็นตัวตั้งว่าต้องทำตามนี้ แต่จะนำหลักการดังกล่าวมาเป็นตัวกรองในเรื่องการตัดสินใจ เช่น ในกระบวนการทำ มีการทำจากเล็กไปหาใหญ่หรือเปล่า มีการทดลองทำจากต้นแบบหรือไม่ แหล่งทุนนำมาจากที่ไหน ถ้าล้มเหลว จะทำให้ส่วนอื่นๆ ล้มเหลวไปด้วยหรือไม่ และมีการนำความรู้มาใช้ในการทำงานมากน้อยแต่ไหน เป็นต้น

“โครงการที่เห็นเป็นรูปธรรมจากการนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้คือการทำเครื่องเทศแปรรูป คือการนำกระเทียมมาเจียว ซึ่งเราซื้อกระเทียมมาจากผู้รวบรวมที่ขายให้เรา แล้วเราก็นำมาเจียวขายให้ลูกค้า ถึงจุดหนึ่งสังคมจะถามเราว่าเราซื้อมาจากแหล่งไหน ทำลายป่าหรือเปล่า ใช้ยาฆ่าแมลงเยอะแค่ไหน ซึ่งเราเป็นกลางน้ำ คือเป็นโรงงานแปรรูป เราไม่รู้ว่าต้นน้ำผลิตอย่างไร เราจึงค่อยปรับเปลี่ยนกระบวนการไปดูว่ากระเทียมมีการปลูกอย่างไร จึงเริ่มมีการเข้าไปพูดคุยกับเกษตรกรในเรื่องการส่งเสริมการเพาะปลูก มีการส่งเสริมความรู้ทางวิชาการ ทำการบันทึกการเพาะปลูกว่าปลูกจากที่ไหน พื้นที่ที่ปลูกไปบุกรุกป่ามาเราก็ไม่ซื้อเขา คือเราสามารถดูได้ก่อน แล้วพอเขาทำงานร่วมกับเรา เกษตรกรก็จะถามว่า แล้วเราจะซื้อจริงหรือเปล่า เราก็ต้องแสดงให้เห็นว่าเรารับซื้อจริงด้วย เป็นการพัฒนาร่วมกัน”

การเข้าไปร่วมกับชุมชนของนิธิฟู้ดส์นอกจากช่วยเกษตรกรเรียนรู้วิธีเพาะปลูกที่ไม่ใช้สารพิษ และยังเป็นตลาดให้กับเกษตรกร ซึ่ง “สมิต” ระบุว่า จริงๆ แล้วนิธิฟู้ดส์ถือเป็นกลางน้ำ การไม่สนใจต้นน้ำก็ถือเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่มุมมองหนึ่งคือเมื่อได้เริ่มเข้าไปทำแล้วและเห็นว่าเป็นประโยชน์จริง ทำให้เกษตรกรมีตลาดจริง ไม่ล้มเหลวในการเพาะปลูก เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรได้มากกว่าที่คิดไว้ ดังนั้นในเรื่องของการเติบโต ทำให้ขยายการทำงานร่วมกัน กลายเป็นสังคมของการเกื้อกูล

“สำหรับในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเป็นพ่อของปวงชนชาวไทย เป็นบุคคลต้นแบบที่คนทั้งประเทศนำไปเป็นตัวอย่าง สำหรับผม ผมคิดว่าพระองค์ทรงทำมาหลายเรื่อง ซึ่งในเรื่องของพระราชปณิธาน ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ถ้าเราไม่สานต่อ แล้วใครจะสานต่อ ถ้าเราไม่นำมาใช้ให้เป็นรูปธรรม ไม่เห็นผล แล้วใครจะทำต่อ หรือในเรื่องของเกษตรทฤษฎีใหม่ การทำเรื่องการเกษตร นิธิฟู้ดส์วันนี้เราไม่ใช่แค่โรงงานแปรรูปอาหาร แต่เราเป็นเรื่องของการเกษตรแล้ว เรามาคิดตรงนี้ได้ว่า ถ้าเราไม่เข้าไปช่วยเกษตร แล้วใครจะช่วยเกษตร ต้องรอให้ประเทศเกษตรล้มเหลวก่อนหรือ ผมว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเห็นเรื่องนี้ว่าคือรากฐานของประชาชน ดังนั้นการทำงานร่วมกับเกษตรกร ถือเป็นการถวายงานชิ้นหนึ่ง”