มูลนิธิใบไม้ปันสุข มุ่งการศึกษา-สิ่งแวดล้อมเพื่อเยาวชน

มูลนิธิใบไม้ปันสุข

“การสร้างรากฐานการศึกษาที่ดีให้กับเยาวชน คือหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ว่าเราจะพัฒนาอะไรก็ตาม ถ้าการศึกษาเยาวชนไม่ดี อ่านออกเขียนไม่ได้ก็จะไม่ยั่งยืน”

คำกล่าวเบื้องต้นคือคำพูดของ “กลอยตา ณ ถลาง” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อความยั่งยืน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่กล่าวในงานแถลงข่าวครบรอบ 5 ปี “มูลนิธิใบไม้ปันสุข” อันเป็นแนวคิดในการก่อตั้งมูลนิธิ เพื่อดูแลเรื่องการศึกษาและสิ่งแวดล้อมกับเยาวชนไทย

5 ปีมูลนิธิใบไม้ปันสุข

“กลอยตา” กล่าวต่อว่า จากความมุ่งมั่นของบางจากในการสร้างสรรค์สังคมและสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชนและสังคมไทยมาตลอดการดำเนินธุรกิจ เมื่อปี 2560 จึงสนับสนุนทุนตั้งต้นในการก่อตั้ง “มูลนิธิใบไม้ปันสุข” เป็นจำนวนกว่า 5 ล้านบาท เพื่อดำเนินกิจกรรมส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของเยาวชน

กลอยตา ณ ถลาง
กลอยตา ณ ถลาง

ทั้งในด้านการศึกษา การพัฒนาทักษะ พร้อมสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ให้เด็กได้เรียนรู้ และลงมือทำด้วยตนเอง โดยดำเนินกิจกรรมร่วมกับสถานศึกษาในเครือข่ายเกือบ 200 แห่ง ใน 52 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งยังมอบโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่เยาวชนไปแล้วกว่า 15,000 คน

“บางจากฯให้ความสำคัญกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจมาตลอดระยะเวลาการดำเนินงานมาเป็นเวลาเกือบ 40 ปีแล้ว การก่อตั้งและดำเนินการมูลนิธิใบไม้ปันสุขถือเป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นที่จะดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือไปจากกิจการเพื่อสังคมในระดับประเทศ และกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ที่บริษัทดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

และในวันนี้ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับความยั่งยืน เรายิ่งมุ่งเน้นสร้างรากฐานของความยั่งยืน คือการพัฒนาเยาวชนทั้งในด้านการศึกษาและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Sustainable Development Goals เป้าหมายที่ 4 Quality Education อันเป็นเป้าหมายหลักเพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายอื่น ๆ”

โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 13 Climate Action ซึ่งเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกและพฤติกรรมที่ดีด้านสิ่งแวดล้อม อันสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และนโยบายชาติตามโมเดล BCG Economy โดยมีคณะกรรมการมูลนิธิเป็นผู้ให้แนวทางในการทำงาน ทั้งยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตรมากมาย

ที่สำคัญคือการได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากผู้บริหารและเพื่อนพนักงานในกลุ่มบริษัทบางจาก ทั้งในรูปแบบของคำแนะนำ การช่วยสนับสนุนโครงการต่าง ๆ หลากหลายรูปแบบ รวมถึงการสละเวลามาร่วมเป็นพี่เลี้ยงอาสาเพื่อช่วยให้คำแนะนำ และติดตามความคืบหน้าโครงการ ซึ่งเป็นไปตามวัฒนธรรมพนักงานของเรา คือเป็นคนดี มีความรู้ เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น

สร้างรากฐานการศึกษา

“กลอยตา” กล่าวอีกว่า หนึ่งในความภาคภูมิใจของบางจากฯ และมูลนิธิคือ โครงการ “อ่านเขียนเรียนสนุก” ของมูลนิธิใบไม้ปันสุข ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภูมิภาค Asia Responsible Enterprise Awards (AREA) 2021 ประเภท Investment in People ทั้งยังเข้ารอบสุดท้ายรางวัลระดับโลก S&P Global 2020 ประเภท Corporate Social Responsibility Award-Targeted

แสดงถึงความสำเร็จของโครงการที่มีความโดดเด่นในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกำลังใจให้พวกเรามุ่งมั่นผลักดันโครงการดี ๆ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเยาวชนไทย

“ไม่ว่าเราจะตั้งเป้าไปสู่ Net Zero 2050 หรือ Carbon Neutral 2030 หรือเป้าหมายอะไรก็ตาม ถ้าวันนี้การศึกษาไทยยังไม่แข็งแรง ก็ไปต่อได้ยาก ฉะนั้น บางจากจึงให้ความสำคัญตั้งแต่รากฐานการพัฒนาประเทศ ซึ่งคือการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องการอ่านออกเขียนได้

หลายคนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในความเป็นจริง จากการสุ่มสำรวจเยาวชนเขตพระโขนง กรุงเทพฯ อายุระหว่าง 15-17 ปี พบข้อมูลที่น่าตกใจ ว่ามีจำนวนมากที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ อีกทั้งยังพบบางคนเหมือนจะอ่านออก แต่จริง ๆ แล้วเป็นการจำภาพ ถือเป็นเรื่องน่าห่วงอย่างมาก”

ในดวงตา ปทุมสูติ
ในดวงตา ปทุมสูติ

ขณะที่ “ในดวงตา ปทุมสูติ” นักวิชาการจากศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม ที่เดินทางเป็นวิทยากรอบรมครูทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มากว่า 10 ปี กล่าวว่า ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ สะท้อนถึงปัญหาด้านการศึกษาและสังคม

และจากการดำเนินโครงการผ่านมาทั่วประเทศ ทั้งในเมืองใหญ่และพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมีทั้งเด็กที่ใช้ภาษาถิ่น และกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายพบว่าแต่ละโรงเรียนล้วนมีทั้ง “เด็กที่อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้” และ “เด็กที่อ่านออก-แต่เขียนไม่ได้”

สาเหตุสำคัญมาจากหลักสูตรที่ขาดความยืดหยุ่น และเข้าใจบริบทอันแตกต่าง การให้ความสำคัญในวิชาภาษาไทยของผู้บริหารและครู รวมถึงประสบการณ์และทักษะการสอนภาษาไทยของครู ป.1

ดังนั้น ทุ่งสักอาศรมและมูลนิธิใบไม้ปันสุขจึงร่วมมือกันแก้ปัญหา และสร้างความยั่งยืนในการอ่านออกเขียนได้ของเด็ก ๆ โดยเริ่มจากสร้างความตระหนัก และความเข้าใจในวิถีการสอนภาษาไทยให้แก่ผู้บริหารและครู ตลอดจนลงลึกสู่กระบวนการสอนที่แม่นตรงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

ตามแนวทางบันไดทักษะ 4 ขั้น ของทุ่งสักอาศรม โดยทางมูลนิธิใบไม้ปันสุขสนับสนุนการดำเนินงาน และสื่อการสอน เพื่อให้ครูในโครงการใช้เป็นเครื่องมือในการสอนภาษาไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ทั้งป้องกันปัญหาและแก้ไขปัญหา

ทั้งยังมีการทดสอบที่ใช้วัดผลท้ายชั่วโมงที่สอนอย่างเป็นรูปธรรมด้วย แต่ในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ยิ่งมีปัญหาเรื่องการอ่านออกเขียนได้ของเด็ก ๆ เป็นอย่างมาก ส่งผลให้ต้องมีการปรับรูปแบบและเวลาในการดำเนินโครงการให้ใกล้ชิด เพื่อให้สอดคล้องกับเหตุปัจจัยมากขึ้น

ปลูกจิตสำนึกสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ในโอกาสครบรอบ 5 ปี มูลนิธิยังเปิดตัวโครงการที่ขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม โดยร่วมกับ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC และกลุ่มบริษัทบางจากจัดทำโครงการรักษ์ ปัน สุข จูเนียร์ ในการสร้างจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจพอเพียง

และสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนจากสิ่งรอบตัว ด้วย 8 สถานีการเรียนรู้ ได้แก่ สถานีธนาคารขยะ, สถานีกล่องนม-ถุงนมกู้โลก, สถานีน้ำมันพืชใช้แล้ว, สถานีใบไม้ปันสุข, สถานีเรือนวัสดุ และหลัก 3R, สถานีพอ พัก ผัก, สถานีน้ำหมักชีวภาพ และสถานีถังหมักรักษ์โลก

กฤษดา เรืองโชติวิทย์
กฤษดา เรืองโชติวิทย์

“กฤษดา เรืองโชติวิทย์” ผู้อำนวยการสำนักงาน ESG บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า โครงการรักษ์ ปัน สุข จูเนียร์ มีส่วนสำคัญขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการสร้างสังคมเศรษฐกิจหมุนเวียน เรารู้ว่าพลาสติกมีคุณสมบัติแข็งแรง ทนทาน ยืดหยุ่น และเป็นผลิตภัณฑ์ราคาถูกที่ใช้ประโยชน์หลากหลาย ดังนั้น เศรษฐกิจหมุนเวียนสามารถตอบโจทย์หลายเรื่อง

หนึ่งในนั้นคือความยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โครงการจึงมุ่งสื่อสารให้เด็กเข้าใจในเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้เด็กมีความรู้เข้าใจวัสดุศาสตร์ ว่าวัสดุทุกอย่างมีค่า ไม่ว่าจะพลาสติก กระดาษ หรือแก้ว ทำให้เด็กรู้ว่าหากเริ่มต้นแยกวัสดุถูกต้องจะสามารถสร้างคุณค่าได้

จากการสำรวจโรงเรียนพบว่ามีการดื่มนมและมีถุงนมพลาสติกจำนวนมาก โปรเจ็กต์แรกจึงให้เด็ก ๆ ใช้ไอเดีย ด้วยการเก็บถุงนมอย่างไรไม่ให้เน่า ตอนนี้รวบรวมได้จำนวนมาก และส่งรีไซเคิลเพื่อทำเก้าอี้ รวมถึงการนำเศษอาหารมาทำปุ๋ย จนเกิดนวัตกรรมแปลก ๆ มากมาย เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้วัสดุศาสตร์ ทั้งยังขยายผลไปใช้กับที่บ้าน อีกทั้งยังมีโครงการธนาคารขยะ สามารถนำวัสดุมาฝากกับโรงเรียน เก็บเป็นแต้ม เอาไปทำประโยชน์แลกสินค้าได้

ปัจจุบันสามารถขยายผลไปแล้วกว่า 18 จังหวัด มีผู้บริหาร และนักเรียนเข้าร่วมกว่า 10,635 คน โดย 7 เดือนแรก หลังดำเนินการในโรงเรียน 35 แห่ง คัดแยกขยะรีไซเคิลกว่า 6,000 กิโลกรัม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 17,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

“สำหรับเป้าหมายในอนาคตคือการส่งเสริมให้โรงเรียนรวบรวมข้อมูล และเข้าร่วมโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกขององค์การจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ซึ่งจะให้ความรู้เรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปถ่ายทอดให้แก่เยาวชนต่อไป”

ในปี 2565 มีโครงการใหม่เกิดขึ้นอีกหนึ่งโครงการ คือโครงการโซลาร์ปันสุข โดยมุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเยาวชน ผ่านการสร้างแหล่งเรียนรู้ พลังงานทดแทนในภาคเกษตรกรรม ด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ต่อยอดองค์ความรู้จากโรงเรียนสู่ชุมชน

ซึ่งมูลนิธิใบไม้ปันสุขร่วมกับมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ พันธมิตรผู้คร่ำหวอดในวงการเทคโนโลยีการศึกษา เฟ้นหาโรงเรียนที่มีผลงานด้านการเกษตรและการพัฒนาชุมชนรอบข้าง เพื่อสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาดเล็ก พร้อมถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ทางการเกษตร

โดยหวังยกระดับคุณภาพชีวิตเยาวชนและสังคมไทย เพื่อตอบโจทย์ SDGs เป้าหมายที่ 13 Climate Action และเป้าหมายที่ 7 Affordable and Clean Energy ซึ่งในปลายปี 2565 โครงการโซลาร์ปันสุขจะเริ่มอบรมให้กับนักเรียนเริ่มเรียนรู้ และเข้าใจเรื่องโซลาร์เซลล์ขั้นพื้นฐาน และจะดำเนินการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในบ้านและปลูกผักต่อไป