ภาคสังคม กสิกรไทย สร้างหอผู้ป่วยหัวใจ รพ.สระบุรี

กสิกรไทย

กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนทั่วโลก โดยข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติระบุว่า การเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดคร่าชีวิตผู้คนประมาณ 17.9 ล้านคน/ปี โดยปี 2562 คิดเป็น 32% ของการเสียชีวิตทั่วโลก และมากกว่า 3 ใน 4 เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง

นอกจากนั้น ข้อมูลของปีเดียวกันยังระบุว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดจำนวน 350,922 ราย (อัตราผู้ป่วย 535 คนต่อประชากรแสนคน) เสียชีวิตจำนวน 20,556 ราย (อัตราผู้ป่วย 31 คนต่อประชากรแสนคน)

ผลเช่นนี้จึงทำให้ธนาคารกสิกรไทยเดินหน้าสนับสนุนระบบการแพทย์สาธารณสุขไทย หลังจากช่วงที่ผ่านมาผนึกโรงพยาบาลรัฐ เพื่อพัฒนาระบบดิจิทัลเฮลท์แคร์ และช่วยเหลือระบบสาธารณสุขด้านอื่น ๆ รวมถึงล่าสุดยังสมทบทุนให้โรงพยาบาลสระบุรีดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย

“ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยดำเนินธุรกิจควบคู่กับการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ โดยให้ความสำคัญแก่การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยยกระดับบริการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะบริการด้านสุขภาพที่เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี

อีกทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างการเติบโตและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ธนาคารจึงเข้าร่วมพัฒนาระบบนิเวศการดูแลสุขภาพของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมบริการในโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ที่ต้องรองรับการใช้บริการของประชาชนจำนวนมาก

เครื่องมือแพทย์

ล่าสุดธนาคารกสิกรไทยสนับสนุนงบประมาณ 33.6 ล้านบาทแก่โรงพยาบาลสระบุรี เพื่อสร้างหอผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก พร้อมจัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์ รองรับการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด-ผ่าตัดลิ้นหัวใจ เพื่อให้โรงพยาบาลสระบุรี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคกลางสามารถรองรับผู้ป่วยโรคหัวใจอย่างเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“ดิฉันเล็งเห็นว่าจังหวัดสระบุรีเป็นหนึ่งในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางระหว่างภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หากมองในแง่ของระบบสาธารณสุข สามารถส่งต่อผู้ป่วยไปยังจังหวัดอื่น ๆ ได้ง่าย ซึ่งที่นี่ไม่ใช่โรงพยาบาลแห่งแรกที่ธนาคารเข้าไปสนับสนุน

เพราะที่ผ่านมาเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อดูแลผู้ป่วยหลายด้าน รวมถึงการร่วมมือกับโรงพยาบาลสระบุรี ซึ่งถือเป็นการเพิ่มโอกาสของผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาที่รวดเร็วขึ้นและสะดวกยิ่งขึ้น”

“นายแพทย์อนันต์ กมลเนตร” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรีกล่าวเสริมว่า โรงพยาบาลสระบุรีเป็นโรงพยาบาลศูนย์ระดับตติยภูมิ ขนาด 700 เตียง ในเขตสุขภาพที่ 4 สังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีศักยภาพเป็นศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะโรค ได้แก่ โรคมะเร็ง, ทารกแรกเกิด, อุบัติเหตุ, โรคหัวใจ และการปลูกถ่ายอวัยวะ

อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อนในจังหวัดสระบุรีและใกล้เคียง ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2555 โรงพยาบาลสระบุรีเริ่มพัฒนาศักยภาพเพื่อเปิดบริการศูนย์โรคหัวใจดูแลผู้ป่วยในเขตสุขภาพที่ 4 เนื่องจากสถิติพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในทุกปี

โดยมีทีมแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจที่สามารถรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะเส้นเลือดหัวใจอุดตัน ด้วยวิธีการสวนหัวใจด้วยบอลลูนเพื่อขยายหลอดเลือด โดยในปี 2561-2564 มีผู้ป่วยได้รับการสวนหัวใจประมาณ 800-1,000 รายต่อปี

แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจด้านผ่าตัดหัวใจแบบเปิด จึงทำให้มีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรอคิวการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด 60-80 รายต่อปี ระยะเวลารอคอยประมาณ 1-2 เดือน และรอคิวผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจประมาณ 40-50 รายต่อปี ระยะเวลารอคอยประมาณ 1 ปี

ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังที่กล่าวมาข้างต้น ทีมผู้บริหารของโรงพยาบาลจึงวางแผนดำเนินการมาโดยตลอด จนสามารถผ่าตัดหัวใจแบบเปิด (Opened Heart Surgery) ให้กับผู้ป่วยรายแรกสำเร็จ เมื่อเดือนมกราคม 2565

ขณะเดียวกัน ยังมีแพทย์ศัลยกรรมทรวงอกสำเร็จการศึกษากลับมาประจำการเพิ่มอีก 2 คน โรงพยาบาลจึงวางแผนขยายการให้บริการผ่าตัดหัวใจแบบเปิดให้กับผู้ป่วยที่รอคิวผ่าตัดเป็นจำนวนมาก โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากธนาคารกสิกรไทย ในการปรับปรุงพื้นที่ภายในอาคาร 100 ปีสาธารณสุขไทย ชั้น 6 เพื่อเปิดบริการหอผู้ป่วยวิกฤตสำหรับดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจ (ICU CVT) จำนวน 8 เตียง รวมทั้งจัดหาครุภัณฑ์ที่จำเป็น โดยดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2565 ที่ผ่านมา

“นายแพทย์อนันต์” กล่าวต่อว่า เมื่อโรงพยาบาลสามารถเปิดให้บริการหอผู้ป่วยวิกฤตสำหรับดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจ จะทำให้โรงพยาบาลสามารถเปิดบริการผ่าตัดหัวใจแบบเปิดตามแผนที่กำหนดไว้ ผู้ป่วยได้รับการดูแลหลังผ่าตัดตามมาตรฐาน สามารถลดระยะเวลารอคอยในผู้ป่วยโรคหัวใจที่ได้รับการรักษาเบื้องต้นที่โรงพยาบาลสระบุรี และที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

นอกจากนั้น โรงพยาบาลสระบุรียังมีห้องผู้ป่วยวิกฤตสำหรับดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจที่มีความพร้อมในด้านอุปกรณ์ ทีมแพทย์ และพยาบาลทีมสหสาขาวิชาชีพ ที่มีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยในอนาคต

เครื่องมือแพทย์

ถึงตรงนี้ “แพทย์หญิงนุชรัตน์ วัฒนาพูลทรัพย์” ศัลยแพทย์ทรวงอก โรงพยาบาลสระบุรี กล่าวว่า กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนทั่วโลก หรือคิดเป็น 31% ของการเสียชีวิตประชากรโลกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000-ปัจจุบัน สำหรับประเทศไทยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับระบบสาธารณสุขเป็นอย่างมาก มีการพัฒนาระบบสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งเป็นเขตสุขภาพ 13 เขต ในส่วนของสระบุรีอยู่ในเขตบริการสุขภาพที่ 4 บริการผู้ป่วย 7 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี, ลพบุรี, พระนครศรีอยุธยา, นครนายก, ปทุมธานี, นนทบุรี และสระบุรี เป็นต้น

“จากข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบว่ากลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด ลิ้นหัวใจรั่ว และอื่น ๆ ที่ได้รับการวินิจฉัยในโรงพยาบาลสระบุรีจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด และจำเป็นต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่น เนื่องจากขาดแคลนบุคลากร รวมถึงเครื่องมือในการผ่าตัด จนปี 2565 โรงพยาบาลเริ่มผ่าตัดหัวใจแบบเปิดเป็นครั้งแรก และดำเนินการมาต่อเนื่อง

จนทำให้จำนวนผู้ป่วยที่ต้องส่งไปรักษาที่อื่นต่อมีปริมาณลดลง ดังนั้น ตลอดปี 2565 ผ่าตัดหัวใจให้ผู้ป่วยไปแล้วทั้งสิ้น 29 ราย แต่เรามีห้องผ่าตัดเพียง 1 ห้อง ห้องไอซียูรองรับผู้ป่วยหลังผ่าตัดเพียง 2 เตียง ซึ่งไม่เพียงพอต่อการให้บริการผู้ป่วยโรคหัวใจทั้งหมด

จนกระทั่งกสิกรไทยมาสนับสนุนในการปรับปรุงพื้นที่ เพื่อสร้างหอผู้ป่วยหลังผ่าตัด 8 เตียง พร้อมจัดหาครุภัณฑ์ที่จำเป็นสำหรับการดูแลผู้ป่วย ทำให้รองรับผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น”

“ตอนนี้โรงพยาบาลสระบุรีมีแผนพัฒนาดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจให้ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งในแง่ของการจัดหาบุคลากร ส่งฝึกอบรมเพิ่มเติม จัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการผ่าตัด ฯลฯ เปิดหอผู้ป่วยเพิ่ม เปิดเคสผ่าตัดเพิ่มขึ้นในแต่ละสัปดาห์ เพื่อเป็นศูนย์หัวใจที่มีศักยภาพ บริการทันสมัยครบวงจร ลดอัตราการเจ็บป่วย เสียชีวิต ลดระยะเวลาการรอคอย และลดอัตราการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่น จนทำให้โรงพยาบาลสระบุรีมีความพร้อมในการดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นอย่างดี”