นวัตกรรมบ้านปลา “SCG” โครงการรักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที

จาก การน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางการจัดการน้ำ โดยเน้นการให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำโดยชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดความเข้าใจพื้นที่ เข้าใจวิธีการ และเกิดความยั่งยืน

โดยไล่ตั้งแต่การบริหารจัดการจากต้นน้ำคือภูเขาสูงแหล่งต้นน้ำ กลางน้ำคือ พื้นที่เกษตรกรรม และปลายน้ำคือท้องทะเล

สำหรับโครงการในพื้นที่ต้นน้ำนั้น เอสซีจีดำเนินงานไปแล้วกว่า 10 ปี โดยเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำฝายชะลอน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ ครอบคลุมทุกภูมิภาค สำหรับครั้งนี้ เมื่อต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการปลายน้ำ จึงเป็นรูปแบบที่แตกต่างออกไป เพราะมีความร่วมมือกับสำนักงานจัดการ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้านจัดทำบ้านปลา โดยคนในพื้นที่เป็นผู้ออกแบบ เพื่อนำไปวางบริเวณชายฝั่งทะเล ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที”

“ชนะภูมี” Vice President-Cement and Construction Solution Business เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง กล่าวถึงโครงการนี้ว่าการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล จ.ตรัง ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ปลายน้ำ เป็นการสานต่อโครงการ รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที ที่น้อมนำพระราชดำริการบริหารจัดการน้ำของรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางการขยายผลให้เหมาะสมตามพื้นที่

“พื้นที่ต้นน้ำเป็น ภูเขาสูง ความต้องการจึงเป็นเรื่องของการกักเก็บน้ำ สร้างความชุ่มชื้นแก่ผืนดิน ด้วยการจัดทำฝาย ขณะที่ปลายน้ำเป็นท้องทะเลเน้นเรื่องทรัพยากรทางทะเล ระบบนิเวศ และเมื่อพูดคุยกับชาวบ้านพบว่าความต้องการของเขาคือบ้านปลา ที่จะเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำต่อไป”

Advertisment

โดยชุมชนบ้านมดตะนอย ซึ่งตั้งอยู่ใน อ.กันตัง จ.ตรัง เป็นชุมชนประมงพื้นบ้านที่มีความเข้มแข็ง แต่ประสบปัญหาการทำประมงในฤดูมรสุม จึงมีการระดมความคิดเพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาให้สามารถออกหาปลาได้แม้ใน ช่วงมรสุม และเกิดความปลอดภัย โดยได้ข้อสรุปว่าเพื่อไม่ให้ต้องเผชิญกับปัญหาลมมรสุมขณะออกหาปลา คงต้องเปลี่ยนพื้นที่ทำมาหากิน โดยหันมาหาปลาบริเวณคลองลัดเจ้าไหม ซึ่งเป็นบริเวณที่เป็นคลองเชื่อมกับท้องทะเล เพราะมีป่าชายเลนช่วยกันคลื่นลม ใช้หลบภัยได้ทั้งคน และสัตว์

“เราเข้ามาสานต่อจากแนวคิดของคนในชุมชนที่เห็นพ้องกันว่าควรมีบ้านปลาเพื่อเป็น พื้นที่อนุบาลปลาเล็ก และยังเป็นแนวป้องกันการลากอวน ซึ่งจะกวาดเอาทรัพยากรสัตว์น้ำที่ยังไม่ทันโตไปจนหมด โดยเอสซีจีนำนวัตกรรมปูนทนน้ำทะเล ที่คิดค้นพัฒนาขึ้นมาใช้สร้างบ้านปลาในครั้งนี้ ซึ่งจะช่วยยืดอายุการใช้งาน เนื่องจากมีความทึบมากกว่าซีเมนต์ปกติ และทนต่อการกัดกร่อนจากสารคลอไรด์ และซัลเฟตได้ดี”

ที่สำคัญ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าการวางบ้านปลาจำนวน 100 ลูก ซึ่งพื้นที่ อ.กันตังถือเป็นจุดริเริ่มของการทำบ้านปลาในน้ำตื้นของเราเลยก็ว่าได้ ทั้งยังตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถส่งต่อองค์ความรู้เหล่านี้แก่พื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

ในส่วนของการติดตามผล “ชนะ” บอกว่า เอสซีจีจ้างภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ติดตามผลวิจัยทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศตลอด 1 ปี เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนา และขยายผลสู่พื้นที่อื่น ๆ ต่อไป เพราะนวัตกรรมบ้านปลาที่ใช้ในพื้นที่ชุมชนบ้านมดตะนอย นอกเหนือจากการใช้ซีเมนต์ทนน้ำทะเลที่มีคุณสมบัติพิเศษ ยังเป็นครั้งแรกที่เป็นการวางบ้านปลาที่ไม่ใช่ในทะเลลึก เนื่องจากความต้องการของชาวบ้านคือบ้านปลาที่อยู่ในคลอง และลำธาร

Advertisment

“รูปทรงจึงเป็นทรงกลม แบบท่อคอนกรีต ความสูงเพียง 40 x 80 ซม. มีรูโดยรอบเพื่อให้ปลาว่ายผ่าน หรือหลบหนีจากการล่าได้ รวมถึงเพื่อให้ปะการังสามารถเกาะอาศัยได้อีกด้วย โดย

น้ำหนักอยู่ที่ ประมาณ 70 กก. และหลังจากนี้ชาวบ้านสามารถหล่อ และนำไปวางตามจุดต่าง ๆ ได้เอง ดังนั้น หากพื้นที่อื่นสนใจก็สามารถนำไปใช้ หรือมาเรียนรู้ที่ชุมชนมดตะนอยได้ โดยหากคำนวณต้นทุนจะอยู่ที่ลูกละ 300 บาท อายุการใช้งานยาวนาน 20 ปี ซึ่งเอสซีจีสนับสนุนปูนซีเมนต์ในการทำบ้านปลาครั้งนี้ทั้งหมด”

“ปรีชา ชายทุย” หรือ “บังชา” ตัวแทนชาวบ้านชุมชนมดตะนอย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เล่าถึงที่มาที่ไป และปัญหาที่ชุมชนต้องประสบว่าบ้านมดตะนอยมีอาชีพทำประมง 100% ทุกปีจะประสบกับปัญหามรสุม ทำให้ชาวประมงขนาดเล็กไม่สามารถออกเรือไปยังทะเลนอกได้ ชาวบ้านจึงกระจุกตัวกันในพื้นที่ที่เป็นปากน้ำบริเวณคลองลัดเจ้าไหม ที่ปลอดภัยจากมรสุม ส่งผลให้เกิดการแออัดในการทำการประมง ทั้งยังทำให้สัตว์น้ำร่อยหรอ ไม่มีโอกาสเติบโต จึงมีความคิดที่จะอนุรักษ์ และอนุบาลสัตว์น้ำในพื้นที่ให้เติบโตขยายพันธุ์

“ที่ผ่านมา มีโครงการทดลองของนักศึกษาจาก ม.ธรรมศาสตร์เข้ามาทำบ้านปลาในพื้นที่ ซึ่งแม้จะเป็นโครงการระยะสั้น และในวงแคบ แต่กลับทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำที่เคยหายไปกลับมาอีกครั้ง เห็นได้จากปริมาณสัตว์น้ำที่สามารถจับได้ในพื้นที่เดียวกันเพิ่มขึ้นเกือบ 50% ตรงนี้ จึงทำให้ชาวบ้านตระหนักว่าการทำบ้านปลามีความสำคัญ และสามารถช่วยให้ปริมาณสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น จึงมีความคิดจัดทำบ้านปลาขึ้นมา โดยเน้นพื้นที่ส่วนที่เป็นคลอง ซึ่งมีป่าชายเลนหนาแน่น สามารถป้องกันแรงลมจากมรสุม เรือประมงขนาดเล็กออกหาปลาได้”

“เราไปดูงานที่ระยอง ซึ่งแม้จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันในด้านพื้นที่ เพราะบ้านปลาที่นั่นเป็นบ้านปลาที่วางบริเวณชายฝั่ง แต่ของเราจะเป็นบริเวณคลอง หรือ ปากน้ำ ซึ่งน้ำจะตื้นกว่า และคลื่นลมต่าง ๆ ไม่รุนแรงเท่า ซึ่งเราพยายามนำมาปรับใช้ และออกแบบให้เข้ากับพื้นที่ แน่นอนว่า

นอกจากรูปแบบแล้ว เราเรียนรู้ว่าการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติด้วยบ้านปลา แม้จะต้องอาศัยเวลา แต่ได้ผลแน่นอน

“พร้อมกันนั้น ก็มีการตั้งกฎ กติกาของหมู่บ้านขึ้นมาคือห้ามนำอวนไปล้อมบริเวณบ้านปลา เพื่อป้องกันการรุกรานพื้นที่อนุบาลสัตว์ โดยมีการแบ่งชุดทำงานเพื่อดูแลพื้นที่ดังกล่าวด้วย”

เพราะจุดสำคัญ ของการริเริ่มโครงการคือการมีส่วนร่วม หลังจากนั้นคือเรื่องของการส่งต่อความดี ซึ่งเหมือนอย่างที่เอสซีจีผุดโครงการรักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานทีครั้งนี้