“บัวหลวง” ผนึก “ประพันธ์สาส์น” มอบหนังสือ เสิร์ฟพร้อมอีบุ๊ก

“ผมมีโอกาสไปสัมผัสบางโรงเรียน บางพื้นที่ เช่น จ.เชียงราย ในปีที่ผ่านมาเห็นว่าหนังสือและห้องสมุดยังมีความสำคัญในพื้นที่ห่างไกลมาก ๆ เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นสายตาของเด็ก ๆ ได้เห็นหนังสือ เห็นความสนใจต่าง ๆ ของเขา ผมเชื่อว่าพวกเราหลายคนมีความรู้สึกภูมิใจที่มีส่วนช่วยสร้างเสริมประสบการณ์ต่าง ๆ ของเด็กเหล่านั้นผ่านหนังสือ”

คำพูดเบื้องต้นเป็นคำกล่าวของ “ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์” กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่กล่าวตอนหนึ่งในพิธีมอบหนังสือในโครงการ “หนังสือเพื่อชีวิต และจินตนาการ” ผนวกหนังสือเสริมประสบการณ์ชีวิต จัดโดยธนาคารกรุงเทพร่วมกับสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ณ ห้องประชุมบัวหลวง ชั้น 30 ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ถนนสีลม เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564

ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์
ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

โดยมี “ชาติศิริ โสภณพนิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในการส่งมอบป้ายสัญลักษณ์หนังสือให้กับห้องสมุดโรงเรียนจำนวน 400 แห่งมูลค่า 7 ล้านบาท ให้กับ “ดร.อัมพร พินะสา” เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อส่งต่อหนังสือไปยังโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทั้ง 400 แห่งทั่วประเทศ

ซึ่งมี “อาทร เตชะธาดา” กรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น, ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), ผู้อำนวยการและผู้บริหารโรงเรียนต่าง ๆ ในสังกัด สพฐ. จำนวน 20 คน ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี รวมทั้งมีการเชื่อมต่อระบบ Zoom ผ่านจอ LED ขนาดใหญ่ให้ผู้อำนวยการและผู้บริหารโรงเรียนต่าง ๆ 400 แห่งทั่วประเทศรับชมทางออนไลน์อีกด้วย

“ดร.ทวีลาภ” กล่าวว่า ความร่วมมือของธนาคารกรุงเทพกับสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นในโครงการมอบหนังสือคุณภาพ และการส่งเสริมจินตนาการทำติดต่อกันมาปีนี้เป็นปีที่ 12 แล้ว
ซึ่งในการคัดเลือกหนังสือเราได้หารือกับ สพฐ.ในการคัดเลือกหนังสือที่เหมาะสม ช่วยเสริมสร้างจินตนาการ ทั้งยังเป็นเรื่องน่ายินดีว่าเรากระจายหนังสือต่าง ๆ ไปในหลายพื้นที่ที่มีความขาดแคลน

“สำหรับปีนี้หนังสือที่คัดเลือกมี 3 ชุดหลัก คือ 1.นิทานสองภาษา คือ ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งตรงกับสิ่งที่เราต้องการในสมัยใหม่ ให้เด็กมีความตื่นตัวมากขึ้น รวมทั้งเรื่องปลูกฝังอุปนิสัย 2.หนังสือเพื่อชีวิตและจินตนาการ อันนี้ถือว่าสำคัญมากเพราะเรื่องของประสบการณ์ เรื่องการสร้างจินตนาการใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องปลูกฝังให้เด็กรุ่นใหม่มีเรื่องนี้เยอะขึ้น และ 3.บ้านเล็กในป่าใหญ่ หลายคนอาจตั้งคำถามว่าหนังสือชุดนี้มีนานนับสิบปีแล้ว”

“แต่เราเชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ ที่พร่ำสอน หรือส่งผ่านในรุ่นต่าง ๆ มาที่อยู่ในหนังสือนั้น มักมีเรื่องของคุณธรรม เรื่องหลักคิดต่าง ๆ สะท้อนอยู่ ตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ทั้งยังเป็นนวนิยายคลาสสิกที่เราอยากปลูกฝังเยาวชนผ่านเรื่องนี้เช่นกัน ดังนั้น ในภาพรวมแล้วหนังสือทั้ง 3 ชุดนี้เป็นการผสมผสานทั้งสมัยใหม่ จินตนาการ และหลักคิดแบบเดิมที่เชื่อว่ายังมีคุณค่าในสังคมสมัยใหม่อยู่”

“ดังนั้น ในฐานะองค์กรเอกชนจึงขอเป็นแรงใจ และเป็นกำลังใจในการส่งผ่านหนังสือในปีนี้ เรายินดีที่มีส่วนช่วยผลักดันกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ แต่ความสำเร็จที่เราจะไปถึงเป้าหมายได้นั้น ผมเชื่อว่าทุกคนต้องทำด้วยกัน และคาดหวังว่าสิ่งที่เราทำร่วมกันนี้จะทำให้ทักษะการอ่านของเยาวชนรุ่นใหม่ดีขึ้น รวมทั้งยังได้กระจายหนังสือไปยังพื้นที่ห่างไกลในพื้นที่ที่หนังสือมีความหมายกับพวกเขา”

“อัมพร พินะสา” เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวเสริมว่า รู้สึกยินดีที่ธนาคารกรุงเทพ และสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เห็นความสำคัญของการอ่าน และจัดโครงการหาหนังสือดี ๆ ให้กับนักเรียนเป็นเวลาติดต่อกันถึง 12 ปีแล้ว สพฐ.ได้คัดเลือกโรงเรียน 400 แห่งที่จะได้รับหนังสือเข้าสู่ห้องสมุด

อัมพร พินะสา
อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

“โดยคัดเลือกโรงเรียนที่มีความตระหนักและสนใจ โดยเฉพาะโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ทั้งนั้น เพื่อเป็นการให้โอกาส ลดความเหลื่อมล้ำในการจัดการการศึกษาด้วย เพราะผมเป็นคนหนึ่งที่มีวันนี้ได้เพราะการอ่าน ยังจำได้ว่าเมื่อเป็นนักเรียนในชนบทสมัยประถมเรามีหนังสือเรียนเพียง 1 เล่มต่อปี ผ่านคุณครู 1 คน ต่อนักเรียน 4 ชั้น จำได้ว่าหนังสือที่เรามีวันนั้น คือ หนังสือที่รับมาจากรุ่นพี่ที่เก็บสะสมมา พอได้เรียนชั้นมัธยมจึงเกิดแรงบันดาลใจว่าโตขึ้นเราจะหนีความยากจน หนีความลำบากของชนบท ก็ได้จากการอ่าน การมีจินตนาการ”

“ผมคิดว่าการที่ผู้ใหญ่และองค์กรภาคเอกชนเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ เพราะการศึกษานอกจากจะทำให้คนมีชีวิตรอดแล้ว ยังต้องสร้างให้คนมีแรงบันดาลใจในการจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต เพื่อสร้างตนเอง สร้างครอบครัว สร้างสังคมและประเทศชาติ”

“แม้วันนี้สถิติการอ่านหนังสือของคนไทยลดลง แต่ใช้วิธีการฟังการดูจากส่วนอื่นมากขึ้น จริง ๆ แล้วถ้าได้อ่านการอ่านจะทำให้ได้เห็นทั้งแนวคิด การวิเคราะห์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์ท่านเห็นความสำคัญทรงบอกว่า การเรียนการศึกษาต้อง สุ จิ ปุ ลิ (ฟัง คิด ถาม เขียน) จึงจะเป็นต้นกำเนิดของการเรียนรู้และพัฒนาการได้อย่างแท้จริง”

“ดังนั้น วันนี้ที่ได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนทุกโรงเรียน จึงอยากส่งสัญญาณหรืออยากส่งคำปฏิญาณตนต่อธนาคารกรุงเทพกับสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นว่า วันนี้เราได้หนังสือก็เหมือนเราได้ขุมทรัพย์ เราจะส่งต่อขุมทรัพย์ที่เป็นแหล่งการเรียนรู้ครั้งนี้สู่มือนักเรียนของเราทั่วประเทศ”

“ที่สำคัญ จะต้องส่งเสริมให้นักเรียนรักการอ่าน ถ้านักเรียนรักการอ่าน การเรียนรู้จะเกิดขึ้น สิ่งที่ท่านให้กับเราในวันนี้เราจะรับไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต่อยอดให้ใช้ได้นาน เกิดคุณค่า สมความตั้งใจและความปรารถนาดีของทางธนาคารกรุงเทพ และเจตนารมณ์ของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ที่ร่วมกันทำมาเป็นเวลา 12 ปี ผมจึงหวังอย่างยิ่งว่าในโอกาสข้างหน้า โรงเรียนในสังกัด สพฐ. และโรงเรียนในชนบทจะได้รับโอกาสดี ๆ อย่างนี้จากทางธนาคารกรุงเทพต่อไป”

ภายหลังเป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ “อัมพร” ให้สัมภาษณ์ถึงทิศทางของการศึกษาไทยในอนาคตว่า โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นรากฐานที่สำคัญในการที่รัฐจะต้องจัดให้กับคนไทยทุกคน สิ่งที่คาดหวังจากการศึกษาคืออยากเห็นเด็กไทยโตขึ้นมาเป็นคนที่มีสมรรถนะ ทันโลก และแข่งขันกับประชากรโลกได้แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความดีงามที่เป็นไทย ตรงนี้เป็นสิ่งท้าทายการศึกษาในอนาคต

“ดังนั้น การจะทำให้เด็กไทยเกิดอย่างนั้นได้ สิ่งแรกคือต้องให้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพให้กับเด็กและเยาวชน เครื่องมือทางการศึกษาสำคัญที่สุด คือ การอ่านออกเขียนได้ ทักษะกระบวนการคิด รวมไปถึงเรื่องทักษะในการใช้ชีวิตในสังคม”

“ห้องสมุดและหนังสือเป็นอุปกรณ์หรือสื่อการเรียนที่สำคัญ ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน ทำให้เกิดแนวความคิดผ่านการอ่าน การเรียนรู้ด้วยตนเอง เมื่อลงมือปฏิบัติก็จะเกิดทักษะ สมรรถนะที่ต้องการ เขาก็จะเลือกอาชีพเติบโตในสังคมได้ สุดท้ายแล้วการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือการเตรียมคนสู่การมีอาชีพ และมีงานทำ เป็นคนที่สมบูรณ์ในอนาคต”

“อาทร เตชะธาดา” กรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงที่โรงเรียนปิดหรือมีการเรียนการสอนทางออนไลน์ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 นอกจากหนังสือเล่มที่มอบให้กับห้องสมุดโรงเรียนแล้ว สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นยังเพิ่มช่องทางการอ่านผ่านทางออนไลน์คือ ทาง www.praphansarn.com ทั้งยังมี e-Book ชุดเดียวกับที่ได้ส่งมอบให้กับห้องสมุดโรงเรียนทั้ง 400 แห่งในปีนี้ให้อ่านฟรี โดยในเว็บไซต์จะมีการอ่านออกเสียงสำเนียงภาษาอังกฤษที่ถูกต้องจากเจ้าของภาษาด้วย

สำหรับโครงการมอบหนังสือ “หนังสือเพื่อชีวิต และจินตนาการ” สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพ จัดขึ้นเพื่อคืนประโยชน์สู่สังคม โดยเห็นว่า โรงเรียนต่าง ๆ มักได้งบประมาณจากส่วนกลางมาสร้างห้องสมุด แต่กลับไม่มีหนังสือเข้าห้องสมุด หรือมีก็เป็นหนังสือไม่มีคุณภาพ

ดังนั้น จึงเกิดโครงการนี้ขึ้นครั้งแรกในปี 2553 ทั้งในแต่ละปีจะมีการส่งมอบหนังสือเป็นชุด ๆ แตกต่างกันไป อาทิ ชุด “เงินทองของมีค่า” ระดับประถมศึกษา ชุด “พัฒนาคุณค่าชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ทั้งยังมีการจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่ครูและนักเรียนสอดรับกับหนังสือที่ส่งมอบอีกด้วย

ซึ่งไม่ธรรมดาเลย