สมรรถนะชีวิตวิถีใหม่ “ราชินีบน” ปรับแพลตฟอร์มสู่ดิจิทัล

สถานการณ์โควิด-19 ในไทยเริ่มระลอก 3 เท่ากับว่าการระบาดยังคงต่อเนื่อง และอาจลากยาวไปจนถึงปี 2565 จนกว่าภาพเศรษฐกิจของไทยจะฟื้นตัว แต่กระนั้น ในภาคการศึกษากลับปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็น “ตัวช่วย” จนทลายข้อจำกัดบางอย่างลงอย่างง่ายดาย ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างสิ่งใหม่ขึ้น หรือที่เรียกว่า “นวัตกรรมการเรียนการสอน” สำหรับสังคมไทยในขณะนี้

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “ดร.พิรุณ ศิริศักดิ์” ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนราชินีบน และทีมมันสมองของโรงเรียนอีก 3 ท่านที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี จนสามารถนำมาปรับใช้กับการเรียนในห้องเรียนปกติ รวมถึงการเรียนผ่านระบบออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.พิรุณ ศิริศักดิ์
ดร.พิรุณ ศิริศักดิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนราชินีบน

ปรับวิสัยทัศน์สู้ข้อจำกัด

“โรงเรียนราชินีบนปรับตัวพลิกรูปแบบการเรียนการสอนหลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อยกระดับการเรียนการสอนไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม”

คำกล่าวเบื้องต้น “ดร.พิรุณ ศิริศักดิ์” เล่าย้อนให้ฟังถึงช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ระบาดอย่างหนักว่า โรงเรียนได้ปรับวิสัยทัศน์ใหม่ให้เป็น “สมรรถนะชีวิตวิถีใหม่ ของกุลสตรีราชินีบน 4.0” เป็นอันดับแรก ๆ เพื่อให้ภาพรวมมีเอกภาพ และทุกฝ่ายของโรงเรียนจะต้องมุ่งไปสู่ทิศทางเดียวกัน

“เดิมทีนั้นราชินีบนมีกระบวนการวิจัย และพัฒนาหลักสูตรของโรงเรียนที่เข้มแข็งอยู่แล้ว และยังสามารถพัฒนาไปตามบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของ disruptive ซึ่งมองว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกมากมาย ทั้งยังส่งผลกระทบต่อคน, ชีวิต และวิธีการดำเนินงาน แต่ปรากฏว่าเมื่อโควิด-19 ระบาดขึ้น เทคโนโลยีกลับกลายเป็นตัวช่วยที่ทำให้คนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้”

Advertisment

“ดร.พิรุณ” ขยายความคำว่า สมรรถนะชีวิตวิถีใหม่ (new normal competency) ที่ใช้เป็นตัวตั้งต้นว่า สิ่งที่นักเรียนในแบบราชินีบน “ต้องมี” คือ ความฉลาดรู้เรื่องสุขภาพ คือการเข้าใจที่เข้าถึง เข้าใจ และนำไปปฏิบัติ ชี้แนะสุขภาพของตัวเองและแนะนำผู้อื่นได้ด้วย

ส่วนความฉลาดรู้ดิจิทัล นักเรียนจะต้องใช้เทคโนโลยีเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตต่าง ๆ ได้ และนักเรียนในแบบราชินีบนต้องมีความคิดเชิงนวัตกรรม ที่ทำให้เกิดการคิดค้น และพัฒนาสิ่งใหม่เพื่อช่วยแก้ปัญหาและการนำพานักเรียนไปสู่คำว่า สมรรถนะชีวิตวิถีใหม่ได้นั้นก็คือ ต้องอาศัยครูมืออาชีพ

3 ครูมืออาชีพยุคโควิด

ตรงนี้จึงทำให้ “ครูผู้สอน” ในฐานะตัวแทนของกลุ่มคนที่ต้องปรับตัว ปรับกระบวนการเรียนการสอนมาสู่ระบบออนไลน์ จึงกลายเป็นบุคคลสำคัญ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนรู้ใหม่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในการเรียนการสอนของ “คนรุ่นใหม่” โดยตรง

“ครูธราวัฒน์ ชาติสิทธิสิทธิ์” ผู้สอนวิชาวิทยาการคำนวณ ทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับนวัตกรรมโดยตรงบอกว่าเมื่อโควิดระบาดต้องมาศึกษาว่า นวัตกรรมการเรียนการสอนมีอะไรบ้าง จนพบว่าการสอนผ่านระบบออนไลน์ ทำให้ทั้งครู-นักเรียนได้ใช้ศักยภาพอย่างเท่าเทียมกันเพราะต้องทำให้กระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียนมีประสิทธิภาพเท่ากับการเรียนในออนไลน์ ยกตัวอย่าง การต่อวงจรไฟฟ้าและเชื่อมต่ออุปกรณ์อย่างง่าย ๆ เราก็ต้องทำให้นักเรียนเข้าใจอย่างทันที เพราะเราไม่สามารถจ้ำจี้จ้ำไชเขาเหมือนอยู่ในห้องเรียนได้

Advertisment

“ขณะเดียวกัน บางครั้งนักเรียนต้องการนำเสนอผลงานเชิงนวัตกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาภายในโรงเรียน อย่างห้องน้ำอัจฉริยะ พวกเขาก็ตั้้งสมมุติฐานขึ้นมาว่า จะลดความแออัดในห้องน้ำได้อย่างไรบ้าง ไอเดียคือต้องแสดงสถานะการใช้ห้องน้ำ คล้ายกับการทำงานของไฟจราจร ด้วยการนำวัสดุเหลือใช้มาพัฒนาเป็นที่กดเจลล้างมือ เป็นต้น”

“ผมจึงเชื่อว่าการเรียนออนไลน์ถือเป็นบันไดขั้นแรก ซึ่งทำให้เห็นข้อดี-ข้อเสียของตัวเองในเวลาสอนด้วย ขณะเดียวกันก็ทำให้เรานำกลับมาพัฒนาตัวเอง เพื่อให้กระบวนการเรียนการสอนของเรามีระบบมากขึ้น เพราะนักเรียนสามารถเรียนผ่านทั้งวิดีโอ หรือการสอนสด พูดง่าย ๆ เป็นการสอนให้นักเรียนปรับตัวปรับการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับครูทีละก้าว ๆ ในยุคโควิดด้วยเช่นกัน”

ขณะที่ “ครูลลิตา นวลสุมา” ผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์กล่าวเสริมว่า ตอนนี้ “ไอแพด” กลายเป็น “สิ่งสำคัญ” ในการจัดการเรียนการสอน โดยครูนะเขียนโปรแกรมลงในไอแพดเพื่อสอนนักเรียนเพื่อให้มีความเข้าใจมากขึ้น หลังจากนั้นจึงนำปรับมาใช้กับการเรียนการสอนผ่านวิดีโอ และ Google Meet เพราะทางโรงเรียนราชินีบนมีอุปกรณ์การสอนให้พร้อมทุกอย่าง โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ก็ใช้รูปแบบการสอนที่หลากหลายแนวทาง เพื่อให้นักเรียนเข้าใจโจทย์อย่างง่าย ๆ

“ดิฉันเชื่อว่าการสอนผ่านเทคโนโลยีทำให้นักเรียนกับครูสามารถโต้ตอบกันได้ทันที เสมือนอยู่ในห้องเรียน และเมื่อมีแอปพลิเคชั่นใหม่ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างฝึกใช้ คือ ระบบ streamyard ที่ทางฝ่ายวิชาการแนะนำว่า ระบบนี้จะทำให้นักเรียนเห็นภาพชัดเจน เทียบเคียงกับการสอนบนกระดานเลยทีเดียว เพราะฉะนั้น เทคโนโลยีจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการศึกษาในขณะนี้”

เรียนเดี่ยวให้เหมือนเรียนกลุ่ม

ถึงตรงนี้ “ครูน้ำค้าง นงค์เยาว์” กล่าวถึง โจทย์ที่เธอได้รับว่า ในการสอนโครงงานสำหรับช่วงโควิด-19 นั้น ยอมรับว่า “โจทย์ยาก” เพราะการเรียนโครงงาน นักเรียนจะต้องทำงานเป็นกลุ่ม แต่เมื่อทำงานเป็นกลุ่มไม่ได้ ก็ต้องมาสู่โจทย์ที่ว่าทำโครงงานเดี่ยวให้เหมือนกับการทำงานกลุ่ม คือการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เช่น โปรแกรม Google Meet ที่ทั้งครู และนักเรียนเห็นหน้าเห็นตากัน ซึ่งก็เหมือนกับการเรียนในชั้นเรียนปกติ

“การเรียนโครงงานเริ่มจากการที่ครูให้โจทย์นักเรียนไปคิด แก้ปัญหาแล้วกลับมานำเสนอ สิ่งแรกที่ได้เห็นหลังจากเรียนออนไลน์ นักเรียนกล้าแสดงออกมากขึ้นในการถาม-ตอบ หรือแม้แต่ความคิดที่ครูกำหนดแค่โจทย์ แต่ไม่มีกรอบ โครงงานของนักเรียนจึงมีความหลากหลาย

ขณะเดียวกัน นักเรียนยังคิดโครงงานในแบบคิดถึงผู้อื่นด้วย เช่น ไอเดียการทำเอกสารถ่ายทอดความรู้เรื่องโควิดให้กับคนตาบอดในรูปแบบอักษรเบรลล์ ซึ่งครูเองไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น เพราะส่วนมากพวกเขาจะนึกถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ช่วยป้องกันโควิด-19”

“พูดง่าย ๆ มันว้าวที่สุด ตรงที่นักเรียนของเรานึกถึงกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่เข้าไม่ถึงข้อมูลในการดูแลตัวเองในช่วงโควิดระบาดแม้จะเป็นโครงงานแบบเดี่ยว แต่เราได้เพิ่มความร่วมมือของเพื่อนในการช่วยกันวิพากษ์เชิงบวก ไม่ใช่แค่ตำหนิเพียงอย่างเดียว จนทำให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ แทรกขึ้นมาตลอด”

ครูมืออาชีพฉบับราชินีบน

หลังจากที่ครูทั้ง 3 ท่านเล่าถึงวิธีการเรียนการสอนในช่วงที่ผ่านมาครบถ้วนแล้ว “ดร.พิรุณ” จึงชี้ให้เห็นถึง “จุดเด่น” ของ “ครูราชินีบน” ที่แตกต่างจากครูทั่วไป คือ ทีมอาจารย์เหล่านี้มีความใฝ่เรียนรู้ มีความกระตือรือร้น มีความพยายาม

ทั้งยังมีแรงบันดาลใจที่จะสอนนักเรียนอย่างเต็มความสามารถ ประกอบกับยุคโควิด-19 ถือว่ามีความ “ท้าทาย” อย่างมาก เพราะครูจะต้องเป็นมนุษย์คอนโทรล และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างชาญฉลาด ไม่ใช่แค่เพียงหยิบมาใช้เพียงอย่างเดียว

“ดร.พิรุณ” ในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการยืนยันซ้ำอีกครั้งว่า ครูทั้ง 100% ตอบโจทย์ยุคโควิด-19 อีกทั้งยังเชื่อมั่นอีกว่า “ครูทั้งประเทศ” เกิน 80% ได้ยกระดับตัวเองให้มีสกิลที่สามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้อยู่แล้ว ด้วยเหตุผลสนับสนุนที่ว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทั่วทั้งประเทศของโลกธุรกิจการสื่อสารของค่ายต่าง ๆ

“แต่กว่าราชินีบนจะมาถึงในจุดนี้ต้องผ่านกระบวนการสำคัญคือ การวิจัยและพัฒนา ประกอบกับผู้บริหารต้องมีความเข้มแข็งทางวิชาการ ต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และต้องมีเอกภาพ และไปในทิศทางเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้นการสื่อสารสำคัญที่สุด ระหว่างผู้บริหารกับครู การสื่อสารของครู และผู้ปกครอง เพราะการสอนออนไลน์จะต้องมีความร่วมมือขององค์ประกอบเหล่านี้อย่างครบถ้วน”