อสังหาริมทรัพย์ ขับเคลื่อนธุรกิจ สู่องค์กร “คาร์บอนต่ำ”

เมื่อไม่นานผ่านมา องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI), สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) จัดงาน TBCSD Climate Action “ต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (Low Carbon and Sustainable Business)” ครั้งที่ 1 ในรูปแบบออนไลน์

ภายในงาน “ดร.วิจารย์ สิมาฉายา” ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) กล่าวว่าปัจจุบันองค์กรภาคธุรกิจเข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

TCMA มุ่งลดก๊าซเรือนกระจก

เบื้องต้น “ดร.วันเฉลิม ชโลธร” ประธานคณะทำงาน TCMA on Sustainability ของสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) กล่าวว่า การลดก๊าซเรือนกระจกเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของ TCMA ซึ่งเป็นความร่วมมือของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทุกรายของไทย ที่มุ่งมั่นเดินหน้าดำเนินการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และทวีความเข้มข้นมาเป็นลำดับ

โดยทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา ตัวอย่างเช่น ในระยะสั้นนี้ได้ร่วมกันขับเคลื่อน MISSION 2023 ด้วยการเร่งนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก หรือปูนลดโลกร้อนเข้าสู่การใช้งานก่อสร้างทุกประเภทแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์

“ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยลดก๊าซเรือนกระจกได้อีกอย่างน้อย 1 ล้านตันคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2023 เทียบเท่าปลูกต้นไม้กว่า 122 ล้านต้น จากนั้นจะเดินหน้ายกเลิกการผลิตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ในต้นปี ค.ศ. 2024”

Advertisment

“ออริจิ้น” โครงการสีเขียว

ขณะที่ “สมสกุล แสงสุวรรณ” ประธานเจ้าหน้าที่สายงานออกแบบผลิตภัณฑ์ บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงบทบาทของบริษัทถึงการออกแบบโครงการสีเขียว ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมว่า บริษัทให้ความสำคัญกับกระบวนการพัฒนาโครงการในทุกขั้นตอน

ตั้งแต่กระบวนการคิด การติดต่อ ลดการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง การดำเนินงานก่อสร้างโครงการ โดยเป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ด้วยการออกแบบอาคารที่ลดการใช้พลังงาน ด้วยการพึ่งพาแสง และลมจากธรรมชาติให้มากที่สุด

“ทั้งยังเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในโครงการ รวมทั้งการเก็บรักษาต้นไม้เดิมในแต่ละพื้นที่ให้คงอยู่ เพื่อให้เป็นพื้นที่สีเขียวยั่งยืน เพิ่มความใกล้ชิดในการอยู่อาศัยกับธรรมชาติ รวมถึงเลือกใช้วัสดุทดแทน เพื่อไม่ให้เกิดการทำลายธรรมชาติมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งวัสดุที่ใช้จะเป็นส่วนที่ช่วยในด้านการลดการใช้พลังงานในการส่งเสริมการประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้า เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความยั่งยืนให้กับอาคาร”

SCG โซลูชั่นเพื่อนสิ่งแวดล้อม

“ชนะ ภูมี” Cement and Green Solution Business, Vice President-Cement & Building Material, SCG กล่าวว่า ในส่วนของ SCG ได้ใช้แนวทาง ESG 4 Plus คือ 1.มุ่ง net zero 2.go green 3.lean เหลื่อมล้ำ และ 4.ร่วมมือ โดยยึดหลักความเป็นธรรมโปร่งใสมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ

Advertisment

ทั้งนี้การไปสู่เป้าหมาย net zero นวัตกรรมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ SCG จึงพัฒนานวัตกรรมโดยร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการพัฒนาโซลูชั่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้างมีนวัตกรรมการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม CPAC Green Construction เป็นต้น

“ที่สำคัญ เป้าหมาย net zero จะสำเร็จได้จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงและมี transition ที่สำคัญ ประกอบด้วย product, process, market และ policy transition ซึ่งการไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำเป็นเรื่องระยะยาว ภาครัฐและภาคเอกชนต้องทำงานร่วมกัน ดังนั้น นโยบาย แผนงานจึงต้องมีความชัดเจนและต่อเนื่อง”

ผลิตภัณฑ์สู่ความยั่งยืน

“ธนสิษฐ์ สุจริตจันทร์” South East Asia Business Excellence Director องค์กรกลุ่มบริษัท แซง-โกแบ็ง ประเทศไทย กล่าวว่า ในส่วนขององค์กรมุ่งการยกระดับผลิตภัณฑ์สู่ความยั่งยืนโดยการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ นำเสนอวิธีการประเมินเชิงปริมาณของการใช้ทรัพยากร มลพิษที่เกิดขึ้น และผลกระทบสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากการผลิต ผลิตภัณฑ์และบริการ

มุ่งนโยบาย BCG Economy

“บุปผา กวินวศิน” ผู้ช่วยผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาและบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593

ผ่านการดำเนินกิจกรรมด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy ด้วยการยกระดับมาตรฐานการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมภายใต้กรอบแนวคิดการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อเป็นผู้นำในการลดก๊าซเรือนกระจก

โดยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน การส่งเสริมการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการจัดทำมาตรการหรือสิทธิประโยชน์เพื่อสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจกรรมด้วยการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ

อันนำไปสู่การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และโรงงานอัจฉริยะเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรมนำไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืนต่อไป