เรือจ้างเจอโควิด พลิกวิกฤตปั่นจักรยานพ่วงข้างขายไส้กรอกอีสาน

ในกลุ่ม KU จะฝากร้าน แหล่งรวมศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีการขายของกันคึกคัก มีการส่งต่อเรื่องราวของ “ธีรดา แก้วมณี” หรือ “อ๊อฟ” อายุ 34 ปี ครูอัตราจ้างที่ผันตัวเองมาปั่นจักรยานพ่วงข้างขายไส้กรอกอีสาน เพื่อหารายได้เสริมในช่วงที่โรงเรียนเลื่อนเปิดเทอม

“ธีรดา” ซึ่งเป็นครูอัตราจ้างที่โรงเรียนเทศบาล 1 บ้านชะอำ สอนวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา และมีรายได้พิเศษจากการสอนว่ายน้ำ เล่าว่า เป็นคนชอบกินไส้กรอกอีสานอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้เคยคิดขายไส้กรอกอีสานเป็นอาชีพเสริมหลังเลิกงาน พอมาเจอสถานการณ์โควิด จึงรีบนำแนวคิดนี้มาใช้ เพื่อให้มีรายได้

“การขายไส้กรอกอีสานน่าจะเป็นอาชีพที่ง่ายสุดแล้ว เพราะใช้อุปกรณ์ไม่มาก แค่เตาย่าง ที่แขวนไส้กรอก และพื้นที่ใส่ขิง พริก และผัก อีกนิดหน่อย หาร้านไส้กรอกคุณภาพดีมาขายคนน่าจะชอบ” ธีรดากล่าว

แต่การจะเริ่มทำร้านตามที่ฝันไว้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ “ธีรดา” แทบไม่มีทุนเลย จะพูดว่าติดลบตั้งแต่เริ่มต้นก็ไม่เกินจริงนัก

“ธีรดา” เผยว่า ด้วยความเป็นเด็ก ม.เกษตร ที่คุ้นเคยกับการขึ้นรถตะไลและการปั่นจักรยาน เลยได้ไอเดียนำรถจักรยานมาออกแบบเป็นรถขายไส้กรอก แทนที่จะใช้รถมอเตอร์ไซค์คันใหญ่มาต่อพ่วงข้าง ประกอบกับช่วงนี้ติดลบ จึงไปยืมเงินจากผู้มีพระคุณมาเป็นทุน เริ่มจากหาซื้อรถจักรยาน บอกร้านว่ามีทุนน้อยเลยได้มาในราคาถูก ส่วนการต่อพ่วงข้าง ใช้วิธีซื้อเหล็กมาหนึ่งเส้น ให้พ่อแฟนที่รับเหมาก่อสร้างมาช่วยต่อให้ ไม้ก็เก็บจากที่พ่อแฟนทำเหลือไว้มาใช้ต่อ ลูกค้าเห็นแล้วชอบเพราะรถดูกะทัดรัด

ข้อดีของการใช้รถจักรยานคือ ไม่เสียค่าน้ำมันและช่วยให้ร่างกายแข็งแรง

“ธีรดา” เล่าด้วยว่า เมื่อปีที่แล้ว ตรวจพบว่าเป็นโรคเบาหวาน บวกกับทำงานหนักไม่ได้ออกกำลังกาย พอได้มาขายไส้กรอก ต้องปั่นรถจักรยานทุกวัน รู้สึกว่าสภาพร่างกายดีขึ้น วันไหนมีออร์เดอร์จะย่างแล้วขับมอเตอร์ไซค์ไปส่งตามบ้านก่อน แล้วค่อยกลับมาเอารถจักรยาน เวลาออกไม่ตายตัว แต่ละวันจะบรรทุกไส้กรอก 10 กิโลกรัม ไปตั้งขายหน้าธนาคารกสิกรไทย สาขาชะอำ แล้วปั่นไปขายที่สำนักงานเทศบาลชะอำ จากนั้นช่วงเย็นจะปั่นเข้าตลาดชะอำ ถ้าขายไม่หมดจริง ๆ จะปั่นไปขายตามหมู่บ้านต่อ แต่ต้องดูอากาศด้วย เพราะมีโรคประจำตัว

จนถึงตอนนี้ “ธีรดา” ปั่นรถจักรยานขายไส้กรอกอีสานมาได้ 1 เดือน และได้ฝากร้านไว้ในกลุ่ม KU จะฝากร้าน ซึ่งหลังโพสต์ปรากฏว่าพี่น้องร่วมสถาบันให้การตอบรับเป็นอย่างดี มีรายได้ประมาณ 2,000 บาท

“การขายไส้กรอกอีสานเหมือนกับเราได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ได้รับความช่วยเหลือจากผู้มีพระคุณ พี่ที่มหาวิทยาลัยภาควิชาพลศึกษา ทุกคนมาร่วมกันช่วย ทุกวันนี้ยังหวังว่าวิกฤตจะดีขึ้นเรื่อย ๆ” ธีรดากล่าวทิ้งท้าย

ประชาชาติธุรกิจ นำเสนอซีรีส์ “รวมพลังสู้ โควิด-19” ภายใต้เนื้อหาที่มาจากประชาชน นักคิด นักเขียน ผู้รู้ นักธุรกิจ สตาร์ตอัพ ผู้ประกอบการทุกระดับ ที่นำเสนอแนวคิด ความรู้ และทางออกจากปัญหาไปด้วยกัน