“ไสหัวไป นายส่วนเกิน” ชีวิตจริงผู้ป่วยมะเร็ง สู่แรงบันดาลใจฝ่าโควิด-19

ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ Go Away Mr.Tumor

เปิดบทสัมภาษณ์กรรมการบริหาร เบนเล่ย์ฟิล์ม แห่งภาพยนตร์รักฮีลใจส่งท้ายปี “ไสหัวไป นายส่วนเกิน” ทุนสร้าง 50 ล้าน จากเรื่องราวชีวิตจริงของผู้ป่วยมะเร็ง สู่การสร้างแรงบันดาลใจในยุคโควิด-19

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (16 พ.ย. 64) เป็นวันที่ภาพยนตร์รักฮีลใจ เรื่อง “ไสหัวไป นายส่วนเกิน” จากเบนเล่ย์ฟิล์ม เข้าฉายรอบสื่อมวลชน นำแสดงโดยอนันดา เอเวอร์ริงแฮม และมิน พีชญา วัฒนามนตรี ร่วมทัพด้วยก๊วนเพื่อนสุดซี้ ซานิ-นิภาภรณ์ ฐิติธนการ หมอเจี๊ยบ-ลลนา ก้องธรนินทร์ ไต้ฝุ่น-กนกฉัตร มรรยาทอ่อน และเมโกะ-ชนนิกานต์ เนตรจุ้ย กำกับโดย สมเกียรติ วิทุรานิช ร่วมทุนสร้างอย่างยิ่งใหญ่ระหว่างไทย-จีน

จากบริษัทผลิตสื่อเกมสู่จอยักษ์

เฉลิมพล สิริโชติวงศ์ กรรมการบริหาร บริษัท เบนเล่ย์ฟิล์ม จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงที่มาของการผลิตผลงานภาพยนตร์เรื่องนี้ ว่าก่อนหน้านี้เบนเล่ย์ฟิล์ม เป็นบริษัทผลิตสื่อสำหรับเกม โดยในสายงานของมีเดียเอเยนซี่ ได้ทำส่วนของการถ่ายทำ เช่น ภาพยนตร์สั้น หรือบางทีจะทำยาวขึ้นมาเป็น Production House ของเกม โดยใช้ดาราดังมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ และนำมาเพิ่มเรื่องราวให้เกี่ยวข้องกับเกม

ก่อนหน้าที่จะมีบริษัท เบนเล่ย์ฟิล์ม มีบริษัท เบนเล่ย์ มีเดีย ที่ก่อตั้งขึ้นมาก่อนเป็นธุรกิจในวงการมีเดียเอเยนซี่ แล้วทางหุ้นส่วนจากจีน รู้สึกอยากทำตามความฝันที่จะผลิตภาพยนตร์สักเรื่องในภาวการณ์ที่ย่ำแย่

โดยตั้งเป้าว่าอยากให้เบนเล่ย์ฟิล์ม เป็นชื่อที่เมื่อได้ยินจะนึกถึงภาพยนตร์ฟีลกู๊ด ให้กำลังใจ มีแต่รอยยิ้ม จึงเป็นที่มาว่าจะลองสร้างภาพยนตร์สักเรื่อง เพราะจากประสบการณ์การทำ Production House ทำให้ทราบว่าสามารถพัฒนาไปถึงการสร้างภาพยนตร์ได้

Advertisment

โควิด ให้กำลังใจ

“จริง ๆ แล้วทำเพื่อให้คนไทยดู เพราะมองว่าคนไทยเจอปัญหาโควิด-19 หนักมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา” เฉลิมพลกล่าว

พร้อมเล่าถึงช่วงที่มีการถ่ายทำ ทางทีมงานก็โดนผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 เช่นเดียวกัน จนทำให้กองถ่ายต้องพักกลางคัน แต่เมื่อมีมาตรการยืดหยุ่นเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 โดยออกกองถ่ายในปริมาณที่เหมาะสม ใช้เวลาถ่ายทำ 3 เดือนจนถ่ายจบก่อนที่โควิดระลอกสายพันธุ์เดลต้าจะมา

เมื่อโควิดระลอกใหม่มาจึงมีเวลาในการตัดต่อจนได้ฤกษ์ออกฉายในวันที่ 18 พฤศจิกายน ซึ่งนับเป็นความโชคดีที่นักแสดงต่าง ๆ ไม่สามารถทำงานกองถ่ายอื่น ๆ ได้ จึงมีเวลาว่างในการนัดคิวมาถ่ายภาพยนตร์เรื่องนี้ตามมาตรการควบคุมของรัฐ ซึ่งการทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น นับว่าเป็นความโชคดีในความโชคร้าย

“ฉงตุ้น-ผักกาด” สู่การสร้างแรงบันดาลใจ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงโจทย์ที่ให้กับผู้กำกับและผู้เขียนบท ว่าทำไมถึงต้องเป็นเรื่องราวของโรคร้าย การแพทย์ ในช่วงเวลานี้

Advertisment

เฉลิมพลเปิดเผยว่า เราเลือกโจทย์นี้มาจากเรื่องราวของนักเขียนการ์ตูนชาวจีน ชื่อ ฉงตุ้น จึงได้หยิบเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงสุดประทับใจนี้มาสร้างเป็นเรื่องราวของผักกาด นางเอกในเรื่อง เพราะหนังสือที่ฉงตุ้นเขียนนั้นติดยอดอันดับ 1 ในเมืองจีน แม้เป็นมะเร็งแต่เขาสร้างแรงบันดาลใจให้คนได้ยังไงบ้าง

“โจทย์แรกเลยที่หยิบให้อาจารย์สมเกียรติ คืออยากให้เขียนบทจากเรื่องจริงนี้ พออาจารย์รู้เรื่องราวก็ได้เกลาบทและปรับให้เข้ากับสังคมและบริบทของไทยได้ เรื่องของฉงตุ้นก็จะเหมือนกับในเรื่องนี้ที่ผักกาดแม้ว่าชีวิตจะย่ำแย่ แต่เขาสามารถทำอะไรให้กับคนรอบข้างได้บ้าง” เฉลิมพลบอกเล่า

ทุ่มทุนสร้าง 50 ล้าน

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีทีมงานทั้งหมดเป็นคนไทย ทุกอย่างภายในเรื่องถ่ายทำในประเทศไทย แต่เพียงแค่หยิบบทและเรื่องของฉงตุ้นมาจากจีนมาใช้

ส่วนเงินลงทุนสร้างภาพยนตร์ ส่วนใหญ่คือค่าตัวนักแสดง เพราะนักแสดงที่เลือกมาเป็นระดับแนวหน้า อีกทั้งยังมีทีมผู้ใหญ่ที่ได้มาช่วยในงานด้าน Production หากตีเป็นตัวเลขก็จะประมาณ 50 ล้านบาทสำหรับภาพยนตร์เรื่องแรก

“ถ้าถามว่าเยอะไหม จริง ๆ เรารู้สึกว่าเราอยากทำหนังสักเรื่องที่คนดูได้คิดว่ามันนานแล้วที่ไม่ได้มีหนังที่ลงทุนทำแบบนี้ แล้วเราก็ลงทุนเรื่องของการทำ CG ในเรื่องเพราะผักกาดเป็นนักทำแอนิเมชั่น ทีนี้สิ่งที่ผักกาดคิดเราก็จะเห็นฉาก ไม่ใช่แค่ในโลกความจริงแต่เป็นโลกจินตนาการ

“แล้วก็เรื่องของที่พักของผักกาดกับเพื่อน เราก็สร้างในสตูดิโอใช้เวลาประมาณเกือบ 3 วันในการสร้างขึ้นมา แม้กระทั่งรายละเอียดซองขนม เรากลัวลิขสิทธิ์จึงต้องทำใหม่ขึ้นมา โลโก้โรงพยาบาล เสื้อหมอ เราทำใหม่หมด ต้องขอบคุณผู้กำกับที่ใส่ใจทุกรายละเอียดเลยทำให้เราลงทุนตรงนี้ค่อนข้างที่จะสูง”

เฉลิมพลกล่าวเพิ่มเติมว่า แต่โชคดีที่เรามีสปอนเซอร์อย่างเช่น HBO แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งภาพยนตร์ออนไลน์ ที่ได้สนใจเรื่องนี้ซึ่งถือเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก แม้ตอนนั้นจะมีเพียงเรื่องสั้นและส่วนหนึ่งของภาพยนตร์เพียงเล็กน้อย แต่แผนจะเป็นปีหน้าที่จะไปอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งยังมี ThisShop Flash และ TikTok ช่วยซัพพอร์ตหลาย ๆ อย่าง

ส่วนรายได้ที่คาดหวัง กรรมการบริหารเบนเล่ย์ฟิล์ม บอกว่า ตอนนี้เป็นช่วงที่พึ่งคลายล็อก จึงมองตามสถานการณ์จริง แต่ความฝันของเขาคืออยากให้มันไปถึงร้อยล้าน ซึ่งต้องฝากให้ตัวภาพยนตร์เป็นเครื่องพิสูจน์โดยการให้คนที่ได้ดูเรื่องนี้ออกไปพูดต่อมากกว่า

หนังรัก ฮีลใจ

เฉลิมพลกล่าวปิดท้ายไว้ว่า เราน่าจะเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ลงทุนทำ CG รวมถึงตัวนักแสดงที่ได้อนันดากับมิน ทั้งสองคนมีคุณภาพจริง ๆ อยากให้คนไทยเข้ามาดูภาพยนตร์ดี ๆ สักเรื่อง ในช่วงนี้ทุกคนเจออะไรแย่ ๆ มากันเยอะจริง ๆ

เรารู้สึกว่าคนที่มองโลกในแง่ดีในสังคมก็อาจจะไม่ได้เยอะ แต่เมื่อเราเจอใครที่เป็นแบบนี้ ในยามที่เราท้อ เศรษฐกิจไม่ดี แต่พอดูภาพยนตร์เรื่องนี้พอออกจากโรงหนังไปแล้วอยากไปบอกคนที่คุณรัก เพราะเราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น

ดังนั้นในฐานะผู้ลงทุนสร้างภาพยนตร์จึงมองว่าพอเราดูเรื่องนี้ ภาพยนตร์จะบอกว่าให้คุณไปบอกรักใครสักคนที่คุณรัก

เรื่องย่อ

ข้อมูลจาก Major Cineplex เปิดเผยว่า ไสหัวไป นายส่วนเกิน เป็นเรื่องราวของ “ผักกาด” กราฟิกดีไซเนอร์สาวกับเรื่องราวพัง ๆ ที่ดันแห่มาพร้อมกัน ในวันเกิดเบญจเพส 25 ปี ทั้งต้องออกจากงานเพราะงัดกับหัวหน้า ตามมาติด ๆ กับอาการอกหักเมื่อรู้ว่าแฟนหนุ่มนอกใจ

แล้วที่พีกสุดคือรู้ว่าตัวเองกำลังเผชิญกับโรคร้ายที่คาดไม่ถึง แต่ท่ามกลางเรื่องพัง ๆ ที่กำลังถาโถม ผักกาดกลับได้ค้นพบความรักดี ๆ ที่อยู่รายรอบตัวเธอ

ทั้งได้ใกล้ชิดกับหมอหนุ่มยิ้มยากที่เธอแอบปิ๊งอย่าง “หมอกวินทร์” (อนันดา เอเวอร์ริงแฮม) และกำลังใจจากครอบครัวและแก๊งเพื่อนซี้ที่พร้อมจะหัวเราะและร้องไห้อยู่เคียงข้างเธอเสมอ และเพราะความรักที่เธอได้รับ ผักกาดพร้อมแล้วที่จะไม่ยอมแพ้ พอกันทีกับความเศร้า ขอลุกขึ้นมาทำสิ่งดี ๆ เพื่อส่งต่อพลังบวกให้กับคนอื่นด้วยเช่นกัน

ไสหัวไป นายส่วนเกิน ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริงของ “ฉงตุ้น” นักวาดการ์ตูนสาวชาวจีนที่ป่วยเป็นมะเร็ง มุมมองการใช้รอยยิ้มเพื่อขจัดความมืดมิด ทำให้เรื่องราวชีวิตเธอโด่งดังไปทั่วเมืองจีน หมดเวลาของการจมอยู่กับเรื่องพัง ๆ