กรมควบคุมโรค ประกาศความเสี่ยงแบคทีเรียกินเนื้อคน ขอแพทย์ซักประวัติ

แบคทีเรียกินเนื้อคน
ภาพจาก PIXABAY

กรมควบคุมโรค ประกาศความเสี่ยงแบคทีเรียกินเนื้อคน หลังพบสูงขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ชี้อาการเปลี่ยนแปลงเร็ว

วันที่ 2 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่ผลวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยง กรณีพบผู้ป่วยกลุ่มอาการภาวะช็อกจากการติดเชื้อ “แบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส” (Streptococcal Toxic Shock Syndrome : STSS) เพิ่มสูงขึ้นในประเทศญี่ปุ่น โดยข้อมูล ณ วันที่ 1 เมษายน 2567 ระบุว่า

ภูมิหลังและความสำคัญ

Streptococcal Toxic Shock Syndrome (STSS) เป็นภาวะติดเชื้อที่รุนแรงที่พบได้น้อยแต่เป็นอันตรายถึงชีวิต ส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus กลุ่ม A ซึ่งเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้พบได้บ่อยในลำคอและบนผิวหนังของคนเราทั่วไป และสามารถทำให้เกิดอาการคออักเสบได้ ในกรณีที่มีความรุนแรง หรือ invasive group A streptococcal disease (iGAS) เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้สามารถเข้าไปในเนื้อเยื่อส่วนลึกและปล่อยสารพิษผ่านระบบไหลเวียนเลือด

กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ จนเกิดภาวะช็อก และภาวะล้มเหลวของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายตามมา จนเสียชีวิตได้ และสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คน ผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่ และการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก ซึ่งจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเยื่อบุคอ เยื่อบุเมือกต่าง ๆ และบาดแผลบนผิวหนัง ลักษณะอาการเริ่มด้วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว และประมาณ 24 ถึง 48 ชั่วโมง จะมีอาการรุนแรงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

จากข้อมูลสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติญี่ปุ่น (National Institute of Infectious Diseases, Japan) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-17 มีนาคม 2567 ประเทศญี่ปุ่นมีรายงานพบผู้ป่วย STSS จำนวน 521 ราย ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อ Streptococcus กลุ่ม A จำนวน 335 ราย (ร้อยละ 64.3) ซึ่งสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปี

โดยมีผู้ป่วยเสียชีวิต จำนวน 77 ราย ทั้งนี้ รัฐบาลประเทศญี่ปุ่นได้ออกมาแจ้งเตือนเพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนในประเทศญี่ปุ่นเฝ้าระวังอาการและเน้นย้ำการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล อาทิ การล้างมือ การสวมใส่หน้ากาก และการดูแลทำความสะอาดบาดแผล

กรมควบคุมโรค ประกาศความเสี่ยงแบคทีเรียกินเนื้อคน