ธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็ง วิจัย ต่อยอด สู่การรักษาสุดแม่นยำ

อย่างที่ทราบกันดีว่า มะเร็งร้ายยังคงรั้งสถิติโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทยติดต่อกันมาหลายปีแล้ว ด้วยเหตุนี้ ทางคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเร่งผลิตงานวิจัยเพื่อต่อยอดสู่การรักษาและวินิจฉัยโรคมะเร็งที่แม่นยำรวดเร็วมากขึ้น จึงเกิดไอเดีย ธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (Ramathibodi Comprehensive Tumor Biobank) ขึ้น

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความสำคัญของการจัดตั้งธนาคารชีวภาพว่า โรงพยาบาลรามาธิบดีมีผู้ป่วยที่มาทำการรักษาโรคมะเร็งมากถึง 3,500 รายต่อปี ซึ่งโรคมะเร็งเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างสูง บวกกับจำเป็นจะต้องใช้หลักฐานทางการแพทย์ในการรักษาที่แม่นยำเพื่อการรักษาได้อย่างตรงจุดมากที่สุด การจัดตั้งธนาคารชีวภาพครั้งนี้จึงคล้ายกับเป็นคลังรวบรวมตัวอย่างทางคลินิกที่เหลือจากขั้นตอนการรักษา ตรงนี้จะส่งผลดีในระยะยาวกับการต่อยอดสู่รูปแบบการวินิจฉัยโรคมะเร็งที่ครอบคลุมมากขึ้น

“ปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งไม่ได้ใช้เพียงการอ่านชิ้นเนื้อ หรือรักษาด้วยเคมีบำบัดอย่างเดียว แต่ยังมียาชนิดพิเศษไว้ดูความผิดปกติ หรือการกลายพันธุ์ของสารพันธุกรรมต่าง ๆ ของชิ้นเนื้อมะเร็งด้วย กระทั่งเลือดผู้ป่วยทั้งหมดก็สามารถนำมาเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจให้ยา

ตัวใหม่แก่คนไข้ได้เหมือนกัน ถ้าเราไม่มีการจัดเก็บตัวอย่างทางคลินิกเหล่านี้เลย ปัญหาที่จะเกิดตามมาก็คือ เมื่อจำเป็นจะต้องเลือกการให้ยาที่อ้างอิงกับชิ้นเนื้อของผู้ป่วยในแต่ละเคสจะไม่สามารถทำได้ทันท่วงที ฉะนั้น สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ขณะนี้จึงเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นการจัดเก็บชิ้นเนื้อและสารคัดหลั่งผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ จะช่วยให้สามารถพัฒนาการแพทย์แบบแม่นยำขึ้น นี่คือที่มาของแนวคิด”

ด้าน ผศ.ดร.พญ.ณฐินี จินาวัฒน์ ประธานหลักสูตรเวชศาสตร์ปริวรรต และหัวหน้าธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายขั้นตอนกระบวนการของโครงการว่า เริ่มแรกผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาต้องแสดงความจำนงยินยอมให้จัดเก็บชิ้นเนื้อที่เหลือจากการวินิจฉัยในแต่ละเคส จากนั้นทางโรงพยาบาลจะทำการเก็บเลือดและชิ้นเนื้อแบบแช่แข็งไว้ แล้วนำไปศึกษาต่อยอดสู่งานวิจัยในการรักษา นั่นก็คือการหาตัวบ่งชี้ชีวภาพทางโรคมะเร็งถึงขั้นที่นำไปใช้รักษาในคนไข้ได้จริง ตัวบ่งชี้

ทางชีวภาพที่ว่าจะช่วยบอกระดับการดำเนินโรคกับแพทย์ได้ว่า ผู้ป่วยมีโอกาสจะกลับมาเป็นมะเร็งมากน้อยแค่ไหน มีโอกาสหายมากเท่าไหร่ และจะช่วยให้แพทย์เลือกยาในการรักษาที่แม่นยำเหมาะสมกับผู้ป่วยได้

สำหรับการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป หรือในเฟส 2 นั้น คุณหมอบอกว่า ทางทีมงานจะนำเซลล์ที่ได้จากชิ้นเนื้อมะเร็งสดมาสร้างเป็นโมเดลสามมิติที่ชื่อว่า โมเดลออร์แกนอยด์ โมเดลเซลล์ที่ถูกสร้างเพื่อศึกษาความรุนแรงของโรค และทดสอบประสิทธิภาพตัวยาแทนตัวผู้ป่วย

ปัจจุบันมีการสร้างโมเดลออร์แกนอยด์จากเนื้อเยื่อมะเร็งหลายชนิดที่พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ ได้แก่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ เป็นต้น ซึ่งโมเดลออร์แกนอยด์มะเร็งสามมิติที่สร้างขึ้นและเก็บในธนาคารชีวภาพจะเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยรักษาผู้ป่วยมะเร็งในอนาคต