พฤติกรรมติดโซเชียลมีเดีย ลดได้ด้วยปรัชญา Digital Minimalism

ในโลกยุคดิจิทัล เราสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและเชื่อมต่อกับผู้คนมากมายได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส ด้วยหลาย ๆ เหตุผลทำให้คนจำนวนมากเสพติดโซเชียลมีเดียและโทรศัพท์มือถือ ชนิดที่ว่าตื่นนอนขึ้นมาต้องหยิบโทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งแรก และหยิบจับโทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งสุดท้ายก่อนหลับตานอน

มีข้อมูลจากการสำรวจ “Global Digital 2019” จัดทำโดย We Are Social และ Hootsuite บอกว่า คนเราใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 6 ชั่วโมง 42 นาที ซึ่งคิดเป็น 28% ของเวลาที่มีในแต่ละวัน ตัวเลขมากขนาดนี้ นั่นแปลว่า เราใช้เวลาในโลกอินเทอร์เน็ตมากเกินไปแล้วใช่ไหม แล้วจะมีผลเสียอะไรเกิดขึ้นบ้างจากการที่เราเป็นมนุษย์ติดหน้าจอ?

ในหนังสือ Digital Minimalism เขียนโดยคาล นิวพอร์ต (Cal Newport) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์จากสหรัฐอเมริกา ได้พูดถึงผลเสียของการใช้เวลากับโซเชียลมีเดียและโลกอินเทอร์เน็ตมากเกินไปว่า จากการที่เขาได้พูดคุยกับคนหลายคนระหว่างที่เขาค้นคว้าเกี่ยวกับประโยชน์และภัยของชีวิตดิจิทัลในยุคปัจจุบัน แทบทุกคนที่เขาคุยด้วยเชื่อในพลังของอินเทอร์เน็ต และตระหนักว่าอินเทอร์เน็ตสามารถและควรเป็นพลังเพื่อพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น แต่ก็รู้สึกเหมือนกับว่าความสัมพันธ์กับเทคโนโลยีในแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ไม่ยั่งยืน ถ้าพวกเขาไม่เปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง พวกเขาเองนั่นแหละที่จะแหลกสลายไปเอง

คาลบอกว่า คำหนึ่งที่เขาได้ยินเป็นประจำระหว่างการพูดคุยเกี่ยวกับชีวิตดิจิทัลยุคใหม่ คือคำว่า “เหนื่อยล้า” ไม่ใช่เพราะแอปพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ใดที่แย่มาก ๆ ด้วยตัวมันเอง แต่หลายคนอธิบายว่า ปัญหาอยู่ที่ผลกระทบโดยรวมของการที่เรามีสิ่งล่อตาล่อใจจำนวนมากมายคอยรบเร้าดึงความสนใจและควบคุมอารมณ์ของเราอย่างไม่หยุดหย่อน ที่จริงแล้วแทบไม่มีใครอยากใช้เวลานาน ๆ บนโลกออนไลน์ แต่อุปกรณ์เหล่านี้มีก็มีวิธีบ่มเพาะพฤติกรรมเสพติดของผู้ใช้ได้ ความรู้สึกอยากเช็กโซเชียลมีเดียกลายเป็นตัวกระตุกต่อมความสนใจ และทำให้เวลาที่ต่อเนื่องแตกออกเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ

หนึ่งในงานวิจัยเชิงลบที่คาลนำมาพูดถึงในหนังสือชี้ให้เห็นว่า ยิ่งเราใช้งานโซเชียลมีเดียมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีเวลาสร้างปฏิสัมพันธ์ในโลกความเป็นจริงน้อยลงเท่านั้น และยิ่งทำให้คุณค่าของการมีสังคมในชีวิตจริงหายไป ซึ่งเป็นสาเหตุว่าทำไมผู้ที่ใช้งานโซเชียลมีเดียอย่างหนักมีแนวโน้มที่จะเหงาและเป็นทุกข์กว่ามาก

เมื่อรู้ถึงผลเสียไปแล้ว ลำดับถัดมา ถ้าอยากลดการใช้เวลาในโลกอินเทอร์เน็ต และลดอาการเสพติดโซเชียลมีเดียจะทำอย่างไร?

จากการที่คาลศึกษาข้อมูลอย่างจริงจัง เขาค้นพบว่ามีปรัชญาหนึ่งที่น่าสนใจและตอบโจทย์สำหรับคนที่กำลังประสบปัญหานี้ เขาเรียกปรัชญานี้ว่า “ดิจิทัลมินิมัลลิสม์” (Digital Minimalism) ที่นำความเชื่อ “น้อยคือมาก” (Less can be more) มาประยุกต์กับความสัมพันธ์ระหว่างคนและเครื่องมือดิจิทัล เขาจึงรวบรวมข้อมูลและเขียนออกมาเป็นหนังสือ Digital Minimalism ที่เรานำมาอ้างอิงอยู่นี้ (แปลเป็นภาษาไทยโดย บุณยนุช ชมแป้น ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ broccoli)

วิธีการแก้ปัญหาที่คาลแนะนำคือ การใช้หลักดิจิทัลมินิมัลลิสม์ที่เรียกว่า “การสื่อสารที่ยึดบทสนทนาเป็นหัวใจ” (conversation-centric communication) โดยเน้นการปฏิสัมพันธ์รูปแบบที่เป็นวิธีดูแลความสัมพันธ์ ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบของการนัดพบเห็นหน้า การคุยผ่านวิดีโอคอลหรือโทรศัพท์ หรือรูปแบบใดก็ได้ที่เราจะสามารถจับสัญญาณแอนะล็อกที่แฝงอยู่ในบทสนทนานั้นได้ เช่น โทนเสียงหรือสีหน้า ส่วนอะไรก็ตามที่มีลักษณะเป็นข้อความหรือไม่มีปฏิสัมพันธ์ในลักษณะตอบโต้ เช่น โซเชียลมีเดีย อีเมล์ ข้อความ และการแชต ไม่จัดว่าเป็นการสนทนา (conversation) แต่นับว่าเป็นการเชื่อมต่อ (connection) เท่านั้น

ถึงแม้ว่าปรัชญานี้จะมองว่าการสื่อสารกันผ่านทางอุปกรณ์ดิจิทัลเป็นเพียงการเชื่อมต่อเท่านั้น เพราะไม่สามารถทดแทนบทสนทนากับผู้คนที่พบเจอตัวเป็น ๆ ได้ แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธการใช้เทคโนโลยีที่จะสามารถตอบโจทย์ความสะดวกรวดเร็วในชีวิตได้ เช่น การติดต่อเพื่อส่งข้อมูลที่จำเป็นอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างการส่งไฟล์ข้อมูล หรือเพื่อระบุสถานที่หรือเวลาจัดกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดบทสนทนาที่แท้จริงได้

ที่ว่ามาเป็นเพียงบางส่วนของหนังสือ Digital Minimalism เท่านั้น ในภาพรวมหนังสือเล่มนี้ยังมีเนื้อหาอัดแน่น แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ ส่วนที่ 1 หลักการพื้นฐาน (บทที่ 1-3) ที่เป็นการอธิบายเหตุผลสนับสนุนปรัชญาดิจิทัลมินิมัลลิสม์ โดยเริ่มจากการเข้าไปสำรวจอำนาจที่ทำให้ชีวิตโลกดิจิทัลของผู้คนจำนวนมากตกอยู่ในสภาวะเกินทนมากขึ้น และอธิบายปรัชญาดิจิทัลมินิมัลลิสม์อย่างละเอียด รวมถึงเหตุผลที่ทำให้คาลเชื่อว่าปรัชญานี้คือแนวทางการแก้ปัญหาที่ใช่ ส่วนที่ 2 การปฏิบัติ (บทที่ 4-7) คาลจะพาผู้อ่านไปดูแนวคิดบางอย่างที่จะช่วยให้สามารถสร้างวิถีชีวิตแบบดิจิทัลมินิมัลลิสม์ได้ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นความสำคัญของการใช้เวลาอยู่คนเดียว และความจำเป็นในการหากิจกรรมยามว่างที่มีคุณภาพสูงแทนการเสียเวลาไปกับการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลอย่างไร้สติ ฯลฯ

ถ้าใครรู้สึกว่าตัวเองติดโซเชียลมีเดีย เอาแต่ก้มหน้าก้มตามองจอ และสนใจอยากจะทำดิจิทัลดีท็อกซ์ อยากเอาตัวเองออกห่างจากโลกดิจิทัล หนังสือเล่มนี้เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ น่าจะตอบโจทย์คุณได้ดีเลย