พายล “พิพิธบางลำพู” สัมผัสวัฒนธรรม “ชาวบางลำพู” เสน่ห์ชวนหลงใหลสู่ปัจจุบัน

โดย กรกนก มาอินทร์ / ประชาชาติฯออนไลน์

“บางลำพู” ย่านการค้าเก่าเเก่ วัฒนธรรมของคนรุ่นก่อนที่มีมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันยังเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวมักแวะไปเยี่ยมชม ลองมาทำความรู้จักกับ “พิพิธบางลำพู” สถานที่รวบรวมเรื่องราวย่านบางลำพู เสน่ห์มากมายที่อยู่คู่ชุมชมมาอย่างช้านาน

“พิพิธบางลำพู” เริ่มต้นจากกรมธนารักษ์สร้างขึ้นในพื้นที่เดิมซึ่งเคยเป็น “โรงพิมพ์คุรุสภา” หรือ “โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช” ใกล้กับป้อมพระสุเมรุ มีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 88 ตารางวา มีอาคารปลูกสร้าง 2 หลัง ตั้งอยู่บนถนนพระสุเมรุ เขตพระนคร กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมทุกวันในเวลา 10.00-18.00 น. โดยไม่มีวันหยุด

ก่อนเราจะเข้าไปชมความงดงามเเละเรื่องราวเกี่ยวกับพิพิธบางลำพู ลองมาดูบรรยากาศรอบนอกกัน หากเดินเข้าไปในพิพิธบางลำพูจะพบกับอาคารสองหลังถูกปรับให้เป็นที่จัดเเสดงนิทรรศการเรื่องราวเกี่ยวกับบางลำพู โดยอาคารด้านหน้าที่อยู่ติดกับถนนพระสุเมรุเป็นตึกปูน รูปทรงตัวแอล สร้างจากฝีมือคนไทย ตัวตึกสีโทนขาวเด่นชัดด้วยหน้าต่างสีน้ำตาลสะดุดตามาเเต่ไกล

ส่วนอาคารที่อยู่ด้านหลังติดกับคลองบางลำพูเป็นอาคารไม้สองชั้น ซึ่งเดิมเคยใช้ประโยชน์เป็นสถานที่ฝึกสอนช่างพิมพ์แห่งแรกของประเทศไทยอีกด้วย ความพิเศษเมื่อเข้าไปเยี่ยมชมคือคลองด้านหลังที่ยังคงมีผู้คนเดินทางด้วยเรือผ่านไปมาให้ได้นั่งมอง อีกทั้งเสียงเจ้าหน้าที่คอยให้ข้อมูลยังเล่าว่า บริเวณคลองนี้เเต่ก่อนเต็มไปด้วยหิ่งห้อย พอตกกลางคืนมาคลองบางลำพูจะงดงามเต็มไปด้วยความระยิบระยับจากเเสงของพวกมันนั่นเอง

อาคารไม้หลังเเรกที่เราเข้าไปชมนั้น ส่วนเเรกเรียกว่า “สีสันบางลำพู” ที่จะบอกเล่าเรื่องราวทั่วไปสำหรับผู้ที่มาเยือน เมื่อจบเเล้วประตูจะเปิดอัตโนมัตินำเราไปสู่ “เบาะแสจากริมคลอง” เป็นการรวมเรื่องราวของผู้คนสมัยก่อนที่อาศัยอยู่ในย่านบางลำพู ทั้งชาวไทย มอญ ลาว เขมร แขกตานี และจีน โซนบอกเล่าประวัติความเป็นมาถูกฉายภาพขึ้นบนจอและพื้นผิวน้ำที่จำลองเป็นคลองบางลำพูให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนสมัยก่อน ภาพของผู้คนที่หาบของขายใกล้คลองบางลำพู คราคร่ำไปด้วยสามล้อถีบในสมัยนั้น

เดินกันต่อข้ามสะพานนรรัตน์สถาน จะเจอกับห้อง “พระนครเซ็นเตอร์” ร้านค้าในสมัยก่อนเรียงรายให้เข้าชม เเต่ที่เห็นจะเตะตาจนต้องเดินเข้าไปส่องใกล้ๆ คงเป็น มุมเด็กผู้หญิงเเอบส่องดูคณะนาคารบรรเทิง เเละยังมีรูโหว่ข้างๆ ให้เราเเอบส่องดูตามอีกด้วย หากย้อนไปในสมัยก่อนการดูหนังจะมีการล้อมผ้าหรือสังกะสีสูงกันไม่ให้คนไม่ซื้อบัตรมาดูหนังได้ จึงมักเห็นเด็กๆ ปีนต้นไม้ หรือเเอบส่องตามรูโหว่ของสังกะสี

ในห้องนี้ยังเเสดงสารพัดร้านค้าสมัยก่อน ทั้งโรงภาพยนตร์ สมจริงขนาดมีเก้าอี้ไม้วางเรียงรายให้ทดลองนั่ง ติดกันเป็นมุมจอเเสดงภาพลิเกที่สามารถเข้าไปยืนหน้าจอเเล้วจะมีเซ็นเซอร์ตรวจจับ ภาพเราก็จะไปโผล่บนจอพร้อมเลือกชุดลิเกใส่ได้ เก๋ไปอีกในส่วนนี้

 

ร้านค้ามากมายติดกันเต็มไปหมดเหมือนย้อนยุคกลับไปในสมัยนั้น หันซ้ายเป็นร้านขายของชำมีน้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋ กาเเฟโบราณ เหมือนในละครที่ดูตอนเด็กๆ ด้านบนทำเป็นโรงเตี๊ยมให้เข้าพัก เยื้องกันไปหน่อยจะเจอร้านขายรองเท้าแก้วฟ้า ซึ่งได้ยินจากเจ้าหน้าที่ว่า เเต่ก่อนร้านนี้เป็นที่นิยมอย่างมาก เคียงคู่ไปกับร้านขายเครื่องสำอางตั้งโชว์ให้เราได้เเวะเก็บภาพ

อยากเข้าถึงความเป็นบางลำพูที่เเท้จริงต้องเดินให้ถึงห้องเเสดง “ย่ำตรอกบอกเรื่องเก่า” เหมือนห้องนี้จะดึงเราเข้าไปในยุคนั้น ด้วยวิถีชีวิตเเละอาชีพที่เก่าเเก่ไม่ว่าจะเป็น การแทงหยวกของชุมชนวัดใหม่อมตรส การตีทองคำเปลวและทำธงของชุมชนวัดบวรรังสี การทำข้าวต้มน้ำวุ้นและใบลานของชุมชนวัดสามพระยา

ไฮไลท์สำหรับเราคงเป็นทั้งหมดที่เดินผ่านมา เพราะเหมือนตัวเองได้ย้อนยุคเข้าไปในช่วงเวลานั้นจริงๆ หากเดินกันมานานขนาดนี้เเล้วยังไม่เคยเห็นเลยว่าต้นลำพูนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร มีเรื่องเล่าไปถึงต้นลำพูร้อยปีที่เคยอยู่ในสวนสันติชัยปราการ หากเเต่ภัยธรรมชาติก็ได้ทำลายต้นลำพูนั้นลง เนื่องจากน้ำท่วมภายในสวนเเล้วระบายน้ำออกไม่ทันเวลา เเต่ทางพิพิธบางลำพูก็ได้รังสรรค์ขึ้นมาใหม่ภายในห้อง “ถอดรหัสลับ ขุมทรัพย์บางลำพู”

ต้นลำพูขนาดไม่ใหญ่มากถูกจัดวางอยู่กลางห้อง โดยมีส่วนของลำต้นช่วงหนึ่งที่ตัดมาจากต้นลำพูอายุร้อยปีที่ยืนต้นตายตอนน้ำท่วม สำหรับเป็นที่ระลึก เเละมีการทำเลียนเเบบผลของลำพูห้อยตามกิ่งต่างๆ ผนังรอบๆ มีเเสงระยิบระยับของหิ่งห้อย ตรงกันข้ามจะมีรูวงกลมขนาดเล็กใหญ่สลับกันให้ส่องดูรายชื่อของผู้ที่มีความสำคัญต่อบางลำพู เราเองก็เเปลกใจทำไมต้องทำเป็นรูให้ส่องๆ เป็นคนๆไป ทำไมไม่เปิดโชว์เลย เจ้าหน้าที่เฉลยว่า “หากเราเปิดโชว์ คนเข้าดูจะไม่สนใจเเละเดินผ่าน เเต่ถ้าทำเป็นช่องให้ส่อง ผู้คนจะสนใจมากกว่า”

  

ทัวร์กันจบมาถึงห้องสุดท้าย “มิ่งขวัญบางลำพู” ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบางลำพูประชานาถ ศูนย์รวมจิตใจที่สมเด็จพระสังฆราชทรงประทานให้ชาวชุมชนบางลำพู ซึ่งสงกรานต์ทุกๆปี จะมีการอันเชิญลงมาให้ประชาชนละเเวกนั้นได้สรงน้ำท่านเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลอีกด้วย

ย้ายฝั่งไปศึกษาเเละเที่ยวชมกันต่อกับอาคารหลังเเรก เราหยุดเเช่เเอร์นานมาก ชั้นล่างยังเย็นขนาดนี้ ชั้นบนจะขนาดไหน ภายในอาคารหลักจะเน้นแสดงถึงบทบาท หน้าที่การทำงานของกรมธนารักษ์ ที่มีต่อสังคมผ่านห้องจัดแสดง

ห้องเเรกที่เราเจอคือ “ห้องพระคลังมหาสมบัติ” เป็นการเเสดงสถานที่ต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การดูเเลของกรมธนารักษ์ เเต่ที่เรียกความตื่นเต้นไปเต็มๆ เห็นจะเป็นห้อง “เบิกโรงกษาปณ์ ตามรอยเงินตรา” การผลิตเหรียญกษาปณ์ ขั้นตอนการผลิตเหรียญกษาปณ์ เรียกได้ว่าเด็กๆ จะต้องชอบมุมนี้ เนื่องจากเป็นการโชว์ขั้นตอนการทำผ่านตุ๊กตาที่เคลื่อนไหวอัตโนมัติ

เพลินกันไปก็เข้าสู่โหมดความรู้จากคนสมัยก่อน “เขาเก็บสมบัติกันยังไงนะ” คำตอบอยู่ในห้อง “ทรัพย์แห่งความภูมิใจ อนุรักษ์ไว้เพื่อแผ่นดิน” เจ้าหน้าที่เล่าให้ฟังว่า การจัดเก็บทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินในพระคลังมหาสมบัตินิยมเก็บไว้ในหีบไม้นั่นเอง

ยังไม่เมื่อยก็เดินกันต่อยาวๆ กับห้อง “เพื่อราษฎร์และรัฐ” เป็นห้องจัดแสดงที่ราชพัสดุ และ การประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ สิ่งที่ดึงดูดให้ก้าวเท้าเข้าไปชมเห็นจะเเป็นเเบบจำลองเมืองขนาดใหญ่ มีลูกเล่นด้วยเเสงไฟ พร้อมข้าวของจำลองมีค่าวางไว้ให้สัมผัสเเละรับชม

นับว่า “พิพิธบางลำพู” คงเป็นสถานที่ถูกใจสายท่องเที่ยวที่ชื่นชอบเรื่องราวประวัติศาสตร์ หากใครที่หลงใหลเสน่ห์ของย่านบางลำพู คงต้องเเวะไปเยี่ยมชม อ้อ! ใครที่สงสัยว่าทำไมไม่เรียก “พิพิธภัณฑ์” เจ้าหน้าที่บอกให้คลายสงสัยว่า พิพิธบางลำพูเป็นเหมือนสถานที่เเสดงนิทรรศการ โดยไม่ได้เเสดงหรือเก็บของเก่าเเก่เหมือนพิพิธภัณฑ์

ลองหาเวลาว่าง เเล้วเเวะไปเที่ยว…แค่ 1-2 ชั่วโมง เชื่อว่าหลายคนคงได้ความรู้มหาศาลจาก “พิพิธบางลำพู”