เปิดโปง “ทัวร์แช่แข็ง” “อีแอลซี” จองเที่ยวข้ามปี แท็กติกหมุนเงิน “พันล้าน”

ปิดฉากกระบวนการต้มตุ๋นขาย “ทัวร์แช่แข็ง” หรือขายทัวร์ล่วงหน้าเป็นปีของ “อีแอลซี” ไปเรียบร้อย หลังเป็นข่าวหลอกขายแพ็กเกจทัวร์ล่วงหน้า ไม่สามารถกำหนดทริปออกเดินทางตามเวลาที่สัญญาได้

“ทวีศักดิ์ พาณิชย์เจริญ” อธิบดีกรมการท่องเที่ยว ระบุว่า ได้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวของ “อีแอลซี” ไปเมื่อ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับความคุ้มครองจากการขายรายการนำเที่ยวกกับผู้ประกอบการนำเที่ยวก่อนที่วันอนุญาตจะสิ้นสุดลง ตามกฎกระทรวง ปี 2561พร้อมทั้งบังคับให้รับภาระผูกพันที่มีอยู่กับนักท่องเที่ยวตามกฎหมายให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

คาดเสียหาย 5-7 พันล้าน

แหล่งข่าวแวดวงธุรกิจท่องเที่ยววิเคราะห์ให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ฟังว่า ความเสียหายจากขบวนการของ “อีแอลซี” ครั้งนี้น่าจะสูงถึงราว 5,000-7,000 ล้านบาท หรือแทบจะสูงเป็นประวัติการณ์ของวงการธุรกิจท่องเที่ยวเมืองไทยทีเดียว เนื่องจากกลุ่มนี้เปิดตัวเข้าทำตลาดตั้งแต่ช่วงปี 2556 หรือประมาณ 5-6 ปีมาแล้ว

แม้ว่า “อีแอลซี” จะเป็นบริษัทที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว แต่รูปแบบทำธุรกิจทัวร์นั้นผิดกฎหมายและไม่ใช่ธุรกิจนำเที่ยวปกติมาตั้งแต่ต้น กล่าวคือ เป็นระบบการขายทัวร์แบบปิด สื่อสารและขายแพ็กเกจกันเฉพาะกลุ่มเท่านั้น โดยเน้นขายทัวร์คุณภาพสูง กินดี พักดี แต่ราคาต่ำสุด ๆ

“ขาย-เก็บเงิน” ล่วงหน้าข้ามปี

รูปแบบการทำธุรกิจของทัวร์กลุ่มนี้จะเน้นขายแพ็กเกจทัวร์ล่วงหน้าเป็นปี ๆ ขายตอนนี้ จ่ายเงินตอนนี้ แต่กำหนดเดินทางปีหน้า และด้วยราคาที่ต่ำจึงกลายเป็นสิ่งล่อใจให้คนแห่เข้าไปสมัครเป็นสมาชิก และเข้าคิวจองแพ็กเกจทัวร์ล่วงหน้าข้ามปีกันเป็นจำนวนมาก

Advertisment

ยกตัวอย่าง แพ็กเกจทัวร์ยุโรป 25,000-35,000 บาท แพ็กเกจทัวร์ฝรั่งเศส, อิตาลี 35,000 บาท, แพ็กเกจทัวร์สเปน-ฝรั่งเศส 30,000-40,000 บาท,แพ็กเกจทัวร์รัสเซีย 35,000 บาท เป็นต้น ซึ่งราคาดังกล่าวต่ำกว่าราคาปกติเป็นเท่าตัว

“เป็นสิ่งที่แปลกมากที่เขาสามารถคำนวณต้นทุนการออกทริปได้ล่วงหน้าเป็นปี ๆ และที่สำคัญคือยังมีคนจำนวนมากที่เชื่อว่าราคาทัวร์ที่อีแอลซีขายนั้นสามารถเดินทางได้จริง และยอมจ่ายเงินล่วงหน้านานเป็นปีด้วย”

สร้างกระแส “บอกต่อ”

แหล่งข่าวในธุรกิจท่องเที่ยวอีกรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า นอกจากจะเน้นขายแพ็กเกจทัวร์คุณภาพสูงแต่ราคาถูกเพื่อเรียกลูกค้าเข้ามาสู่ระบบสมาชิกและขายแพ็กเกจเก็บเงินล่วงหน้าเป็นปีก่อนเดินทางแล้ว อีกปรากฏการณ์ที่เห็นชัดเจนและทำให้ “อีแอลซี” สามารถบริหารความพึงพอใจและสร้างความสัมพันธ์ที่แนบแน่นจนเกิดเป็นพลังศรัทธาในตัวผู้บริหารคือ กลยุทธ์การสื่อสารแบบปากต่อปาก หรือใช้การบอกต่อจากเพื่อนสู่เพื่อน หรือใช้บุคคลที่น่าเชื่อถือมาเป็นเครื่องมือทางการตลาด

Advertisment

ทั้งนี้ คาดว่ากลุ่มสมาชิกในช่วงเริ่มต้นส่วนใหญ่เขาเลือกเฉพาะกลุ่มคนที่มีศักยภาพในการสร้างความน่าเชื่อถือ ทั้งกลุ่มคนที่มีชื่อเสียง กลุ่มคนที่มีช่องทางในการบอกต่อ เมื่อสมาชิกใหม่ที่ยังไม่เคยเดินทางมีโอกาสได้ออกทริปก็จะมีความรู้สึกเชื่อถือตามไปด้วย

โดยพบว่าทุกครั้งที่ “อีแอลซี” สะดุด หรือไม่สามารถออกทริปเดินทางได้ตามกำหนด กลุ่มบุคคลเหล่านี้จะออกมาคอยปกป้องชื่อเสียงของบริษัท รวมถึงการเสนอตัวเป็นตัวแทนกลุ่ม เคลียร์ปัญหาที่เกิดขึ้น และจัดทริปออกโชว์ต่อเนื่อง ทำให้บริษัทนี้รอดจากการถูกเพิกถอนใบอนุญาตและยังคงสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกทัวร์มาเป็นระยะ

“ลูกทัวร์” ตกค้างนับหมื่นที่นั่ง

“ทมิตา กิติรัตน์ชัย” ในฐานะตัวแทนประสานงานกลุ่มสมาชิกลูกทัวร์ที่ต้องการเดินทางต่อกับอีแอลซี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ส่วนตัวประเมินว่าปัจจุบันสมาชิกของ “อีแอลซี” มีประมาณ 5,000-6,000 คน แต่ในจำนวนนี้มีบางคนที่ซื้อแพ็กเกจทัวร์ไว้มากกว่า 1 ทริป โดยขณะนี้ทริปเดินทางที่อยู่ระหว่างการเคลียร์ส่วนใหญ่เป็นการซื้อเมื่อปี 2561 บางส่วน และบางส่วนก็เป็นการซื้อในช่วงต้นปี 2562 แล้วและให้ข้อมูลด้วยว่า ในกลุ่มของเธอมีสมาชิกประมาณ 1,000 คน มีคนที่ซื้อตั้งแต่ปี 2561 และคนที่ซื้อในปีนี้ แต่ยังไม่เคยได้เดินทางเลยก็จะจัดคิวให้กลุ่มนี้ได้มีโอกาสได้เดินทางก่อนเป็นลำดับต้น ๆ ตอนนี้รวบรวมได้ทั้งหมดประมาณ 140 กว่าทริป และมีกำหนดเดินทางภายใน 30 พฤศจิกายนนี้ รวมทั้งหมดประมาณ 3,500 คน ซึ่งในจำนวนนี้บางคนที่ซื้อไว้ 5-6 ทริป อาจได้เดินทางมากกว่า 1 ทริป

“เท่าที่รู้ตอนนี้บริษัทอีแอลซีได้มีการขายทัวร์ล่วงหน้าก่อนที่จะมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตยาวไปถึงสิ้นปี 2563 แล้ว ซึ่งไม่รู้ว่ารวมแล้วมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน จึงคาดการณ์ว่าจำนวนทริปที่ยังตกค้างอยู่น่าจะราว 10,000 ที่นั่ง(1 คนอาจซื้อมากกว่า 1 ที่นั่ง) และยังมีทริปที่ยังไม่ถึงกำหนดการเดินทางอีกส่วนหนึ่งด้วย”

“ทมิตา” ยังบอกด้วยว่า แม้ว่าตามกฎหมายแล้วรัฐจะบังคับให้บริษัททัวร์มีภาระผูกพันต้องรับผิดชอบลูกค้าให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนนั้น ส่วนตัวยังเชื่อว่าทริปการเดินทางที่วางแผนไว้ทั้งหมดแล้วกว่า 140 ทริป ซึ่งจะจบในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ยังคงสามารถออกทริปได้ตามปกติ เนื่องจากตนมีหลักฐานการจองโรงแรม ตั๋วเครื่องบิน รวมถึงคอนแท็กต์บริษัทนำเที่ยวที่อยู่ในต่างประเทศเรียบร้อยแล้ว

จับตาผู้ร่วมขบวนการติดร่างแห 

แหล่งข่าวในกรมการท่องเที่ยวรายหนึ่งกล่าวว่า ในขบวนการจัดการปัญหาอีแอลซีที่เกิดขึ้นนั้น ขณะนี้ถือว่าจบภารกิจของกรมการท่องเที่ยวไปตั้งแต่วันประกาศเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว และได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการรับเรื่องร้องเรียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ไว้บริเวณชั้น 1 อาคาร 2 กรมการท่องเที่ยว สนามกีฬาแห่งชาติ ถนนพระราม 1 กรุงเทพฯ หลังจากนี้ต่อไปจะเข้าสู่กระบวนการสืบสวนของสำนักงานตำรวจท่องเที่ยวที่ต้องดำเนินการต่อไป อาทิ ตรวจสอบเส้นทางการเงิน, ผู้ร่วมขบวนการ บริษัทพันธมิตร ฯลฯ โดยผู้เสียหายสามารถไปฟ้องดำเนินคดีกับผู้ประกอบการทัวร์ได้ตามกระบวนการทางกฎหมาย

เพื่อที่สุดท้ายแล้ว ต้องทำให้รูปแบบการทำธุรกิจนำเที่ยวแบบนี้หมดไปจากสารบบท่องเที่ยวของไทยให้ได้..