จับตา! 3 สายการบินตบเท้าขอปรับขึ้นค่าธรรมเนียมน้ำมัน 15% ดันราคาตั๋วโดยสารพุ่ง

รายงานข่าวจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า หลังจากประเทศไทยสามารถปลดธงแดงขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ได้ เริ่มมีสายการบินใหม่ๆ ทยอยยื่นเสนอขอใบอนุญาต ให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (Air Operator License หรือ เอโอแอล) มายัง กพท. ล่าสุดมีสายการบิน เที่ยวบินประจำจำนวน 2 สาย ยื่นเสนอขอเอโอแอลมายัง กพท.แล้ว ได้แก่ สายการบินไทยพลาทินัมอินเตอร์เนชั่นแนล และสายการบินวิสดอมแอร์เวย์ โดย กพท. อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดของแผนธุรกิจของ 2 บริษัท จากนั้นจะเสนอให้บอร์ด กพท.พิจารณาอนุมัติต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีสายการบินต่างชาติจากจีน และมาเลเซีย ประมาณอีก 2-3 สายการบิน สอบถามข้อมูลมายัง กพท. เพื่อเตรียมที่ยื่นขอเอโอแอลเร็วๆ นี้ด้วย

“ขณะนี้แนวโน้มการบินข้ามภาค หรือเที่ยวบินภายในระดับจังหวัดกับจังหวัดในประเทศไทย กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มเติบโต ขณะที่ค่าตั๋วโดยสารสายการบินก็ถูกลงพอๆ กับรถทัวร์ ทำให้คนหันมาเดินทางโดยเครื่องบินมากขึ้น จึงทำให้สายการบินใหม่ๆ เริ่มเข้ามายื่นขอเอโอแอลเพื่อบินข้ามภาคกันมากขึ้น เช่น สายการบินวิสดอมฯนั้นจะเน้นบินข้ามภาคระหว่างเมืองต่อเมือง”

รายงานข่าวจาก กพท. แจ้งว่า ขณะนี้สายการบินต้นทุนต่ำของไทยจำนวนไม่ต่ำกว่า 2 สายการบิน และสายการบินต่างชาติ 1 สาย คือ สายการบินออลนิปปอนแอร์เวย์ส ของญี่ปุ่น ได้ยื่นขอปรับขึ้นค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิง เฉลี่ย 15% มายัง กพท. โดยอ้างว่ามีภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่ง กพท.อยู่ระหว่างการพิจารณา หากพบว่าภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นจริงก็อาจจะอนุมัติให้ทั้ง 3 สายการบินปรับขึ้นค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิง ซึ่งผู้โดยสารจะต้องเป็นผู้รับภาระดังกล่าว โดยจะต้องจ่ายค่าบัตรโดยสารเพิ่มสูงขึ้นตามอัตราค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น คาดว่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนในช่วงต้นปี 2561

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กพท.อนุมัติให้การบินไทยปรับขึ้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวไปแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมไปเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา

Advertisment

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ กพท. เปิดเผยความคืบหน้าการการทบทวนและออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (รีเอโอซี) ว่า กพท.ได้พิจารณาออกเอโอซีเพิ่มอีก 1 ราย ได้แก่ เอเชียแอตแลนติกแอร์ไลน์ส ซึ่งถือเป็นรายที่ 14 จากทั้งหมด 21 สายการบิน โดยสายการบินที่คาดว่าจะได้รับเอโอซีในลำดับถัดไป น่าจะเป็นสยามแลนด์ ฟลายอิ้ง

ส่วนสายการบินที่เหลืออีก 6 ราย จะพยายามออกเอโอซีให้ครบตามเป้าหมายที่วางไว้ภายในเดือน ม.ค. 2561 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มี 3 สายการบิน คือ ซิตี้ แอร์เวย์, เอเชี่ยนแอร์ และนายน์ สตาร์ แอร์เวย์ส ได้ยื่นขอเอโอซีเข้ามาเพิ่มเติม

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์

Advertisment