พลังรัฐ-พลังเอกชน

บทความ โดย หนุ่มเมืองจันท์
คอลัมน์ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

เคยมีคนตั้งคำถามในวงสนทนานักธุรกิจกลุ่มหนึ่งครั้งหนึ่งว่า ถ้าไทยจำเป็นต้องเลือกข้าง

เราควรเลือก “จีน” หรือ “สหรัฐอเมริกา”

คำตอบส่วนใหญ่ คือ “จีน”

มีน้อยคนที่ตอบว่า “สหรัฐอเมริกา”

อาจเป็นเพราะส่วนใหญ่เห็นว่าจีนเป็นประเทศมหาอำนาจที่อยู่ในเอเชียด้วยกัน และเป็นลูกค้ารายใหญ่ของไทย

Advertisment

ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว หรือมาลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ในเมืองไทย

รวมถึงการค้าขายออนไลน์ด้วย

เป็นเพื่อนกับจีน เราน่าจะได้ประโยชน์มากกว่าสหรัฐอเมริกา

ตอนแรกผมก็คล้อยตาม

Advertisment

แต่ทันทีที่รัสเซียตัดสินใจบุกยูเครน และสหรัฐอเมริกากับกลุ่มอียูออกมาตรการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจรัสเซียอย่างรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

ตอนแรกนึกว่าจะแซงก์ชั่นตามปกติ

แต่ถึงขั้นห้ามบินผ่าน แช่แข็งทรัพย์สินและเงินฝากของนักธุรกิจรัสเซีย รวมถึงเล่นมาตรการด้านการเงินด้วย

ขนาดสวิตเซอร์แลนด์ที่ถือว่าเป็นประเทศที่เป็นกลางไม่ยุ่งเกี่ยวกับฝ่ายใดยังเล่นด้วย ประกาศแช่แข็งเงินในบัญชีของนักธุรกิจรัสเซีย

มาตรการทั้งหมดรุนแรงระดับที่ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียดิ่งเหว “ปูติน” ต้องปิดตลาดหุ้นและตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

เป็นการโดดเดี่ยว “รัสเซีย” อย่างจริงจัง

ทางการทูต อียูก็เดินหน้าเต็มตัวกดดันประเทศต่าง ๆ ที่ทำตัวลับ ๆ ล่อ ๆ พยายามบอกว่าเป็นกลาง

กดดันจนหลายประเทศต้องยอมลงมติประณามรัสเซียในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ

รวมทั้ง “ไทย” ด้วย

เห็นการผนึกกำลังระหว่างสหรัฐอเมริกาและอียูแล้ว ต้องยอมรับว่าพลานุภาพของสหรัฐอเมริกาใหญ่จริง ๆ

โดยเฉพาะในโลกทุนนิยมอย่างวันนี้เขากำหนดเกมได้จริง

ขนาด “รัสเซีย” ที่ถือว่าเป็นมหาอำนาจประเทศหนึ่งของโลก ยังแทบเป็นง่อยเลย

ดังนั้น ถ้าคิดแบบเอาผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก เราไม่ควรเลือกข้าง “จีน” หรือ “สหรัฐอเมริกา”

ต้องพยายามรักษาความเป็นกลาง แต่ต้องมีกระดูกสันหลัง

อย่างเช่น การบุกประเทศอื่น เราต้องไม่เห็นด้วย

ไม่ใช่เดินตามนโยบาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

อะไร ๆ ก็ไม่รุ-ไม่รู้

“มหาอำนาจ” นั้นเหมือน “พระอาทิตย์”

อยู่ใกล้ไปก็ร้อน

ไกลไปก็หนาว

ต้องรักษา “ระยะเหมาะสม” ให้ได้

ลำพังแค่พระอาทิตย์ดวงเดียวก็หาระยะเหมาะสมยากแล้ว

แต่ปัจจุบันในโลกใบนี้มีพระอาทิตย์ 2 ดวง คือ สหรัฐอเมริกา และจีน

ยิ่งหาระยะเหมาะสมยากยิ่งกว่าเดิม

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นจากสงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” ครั้งนี้

คือ ความเป็นมหาอำนาจของภาคเอกชน

เพราะนอกจากรัฐบาลยูเครนจะประสานงานกับสหรัฐอเมริกาและอียู เพื่อขอความช่วยเหลือแล้ว

กระทรวงดิจิทัลของยูเครนส่งทวิตเตอร์ถึง “อีลอน มัสก์” ในวันที่ระบบการสื่อสารของประเทศถูกทำลาย ด้วยประโยคที่กินใจ

“ขณะที่คุณพยายามตั้งรกรากบนดาวอังคาร รัสเซียพยายามยึดครองยูเครน ! ขณะที่จรวดของคุณลงจอดจากอวกาศได้สำเร็จ จรวดรัสเซียโจมตีพลเรือนยูเครน ! เราขอให้คุณจัดหาสถานีสตาร์ลิงก์ให้ยูเครน”

ได้ผลมากเลยครับ “อีลอน มัสก์” ส่งสถานีสตาร์ลิงก์ให้ “ยูเครน” ทันที

นอกจากนั้นยังส่งให้ภาคเอกชนหลายรายเพื่อให้ร่วมแซงก์ชั่นรัสเซีย

ทั้งแอปเปิล-วีซ่า-มาสเตอร์การ์ด-เฟซบุ๊ก ฯลฯ

แทบทุกรายเข้าร่วมหมด

มาตรการแซงก์ชั่นของภาคเอกชนทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของคนรัสเซียมีปัญหามากขึ้น

สหรัฐต้องการกดดันให้ชาวรัสเซียออกมาประท้วง “ปูติน”

สร้างแรงกดดันในประเทศทำให้ “ปูติน” พะว้าพะวังขยับเรื่องนอกประเทศได้ยากขึ้น

สงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” ครั้งนี้ ทำให้เห็นถึงพลังภาคเอกชนที่ส่งผลสะเทือนต่อโลกได้ชัดเจนขึ้น

ผมนึกถึงคำถามหนึ่งที่เคยมีคนถาม

“ประเทศอะไรใหญ่ที่สุดในโลก”

ส่วนใหญ่จะตอบว่า “จีน”

แต่คำตอบก็คือ ประเทศเฟซบุ๊ก

ประชากรที่ใช้เฟซบุ๊กเยอะที่สุด

แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของภาคเอกชนได้เป็นอย่างดี

และวันนี้ภาพนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น