ออสเตรเลีย ยกเครื่อง “โมเดลการศึกษา” เครื่องมือรุก “เอเชีย”

การยกระดับความสัมพันธ์ระหว่าง “ออสเตรเลียและอาเซียน” ถือเป็นหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลมาโดยตลอด ขณะที่ออสเตรเลียชูธงสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นสำคัญ นำไปสู่การลดช่องว่างทางการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งจะเอื้อไปสู่ประตูการค้าการลงทุนของทั้งสองฝ่าย โดยความร่วมมือด้านการศึกษา คือ จุดเริ่มต้นที่ดีในการเรียนรู้ระหว่างกัน ผ่านโครงการ แลกเปลี่ยนนักศึกษา “แผนโคลัมโบฉบับใหม่” (New Colombo Plan) ระหว่างปี 2015-2020

แม้ว่าออสเตรเลียมีการลงนามเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ที่ตั้งเป้าจะขจัดภาษีสินค้าส่งออกจากออสเตรเลียสู่ตลาดอาเซียนครอบคลุม 98% ภายในปี 2020

ขณะที่ “อาเซียน” ยังเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับนักลงทุนจากทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่รุกเข้ามามากที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้บทบาทของ “ออสเตรเลีย” อาจไม่ได้อยู่ในสปอตไลต์ของนักลงทุนดาวเด่นมากเท่าที่ควร

รายงานของ “ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส” หรือ PWC หนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีชั้นนำของโลก ในประเด็นการวิเคราะห์ถึง “สาเหตุที่ภาคธุรกิจออสเตรเลียมีบทบาทในตลาดเอเชียน้อย” โดยนาย Sung Lee ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์เอเชีย ประจำประเทศออสเตรเลีย กล่าวกับผู้สื่อข่าว

จากอาเซียน รวมถึงประเทศไทย ว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นของเจ้าของบริษัทและผู้บริหารระดับสูงของออสเตรเลียจำนวน 1,000 คน ตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ เห็นตรงกันว่า “เอเชียเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจมากที่สุดในตอนนี้ ขณะเดียวกันก็มีความท้าทายมากที่สุดเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม”

“มีความเป็นไปได้ว่าความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างเอเชียและออสเตรเลีย ส่งผลต่อบทบาทของภาคธุรกิจของออสเตรเลียในปัจจุบัน เจ้าของบริษัทและผู้บริหารระดับสูงจำนวนมากที่คิดว่า ตลาดเอเชียค่อนข้างมีความหลากหลายสูง ขณะที่กลุ่มธุรกิจจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ถือว่าวัฒนธรรมมีความคล้ายคลึงกัน จึงเอื้อต่อความสัมพันธ์ที่ดีสู่ภาคธุรกิจร่วมกันได้ง่ายกว่า” รายงานระบุ

ความสำเร็จในการเข้าถึงตลาดเอเชียของภาคธุรกิจจากประเทศยุโรปและตะวันตก กลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ออสเตรเลียปรับมุมมองต่อโอกาสในการเจาะตลาดเอเชียในทิศทางบวกมากขึ้น

ทั้งนี้ ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่โดดเด่นด้านการศึกษาของโลก ทั้งยังเป็นเป้าหมายเบอร์ต้น ๆ ของนักเรียนและนักศึกษาเอเชีย

ดังนั้น ออสเตรเลียกับอาเซียนจึงได้มีการเพิ่มความร่วมมือด้านการศึกษา  โดยระหว่างปี 2008-2017 กระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย (DFAT) ได้ให้ทุนการศึกษานักเรียนแลกเปลี่ยน 13,000 คน จาก 8 ประเทศสมาชิกอาเซียน ให้เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยของออสเตรเลีย นอกจากจะช่วยสร้างศักยภาพให้กับประเทศอินโดแปซิฟิก ขณะเดียวกัน ออสเตรเลียยังสามารถนำความรู้จากกลุ่มนักศึกษาแลกเปลี่ยนมาต่อยอดสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับความเป็นมาของคู่ค้าได้ด้วย

ขณะเดียวกัน รัฐบาลออสเตรเลียได้ขยายการสนับสนุนโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาใน “แผนโคลัมโบฉบับใหม่” (New Colombo Plan) ระยะปี 2015-2020 ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมใน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว โดยแผนดังกล่าวเป็นความคิดริเริ่มสำคัญของรัฐบาลออสเตรเลีย เพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับภูมิภาคด้วยการสนับสนุนให้นักศึกษาปริญญาตรีชาวออสเตรเลียเดินทางมาใช้ชีวิต ศึกษา และฝึกงานในภูมิภาคนี้

สำหรับ 5 ประเทศที่ได้รับความสนใจสำหรับนักศึกษาออสเตรเลียในการขอทุนโคลัมโบมากที่สุด ได้แก่ 1) อินโดนีเซีย 2) มาเลเซีย3) สิงคโปร์ 4) เวียดนาม และ 5) กัมพูชา

ขณะที่ “ประเทศไทย” รัฐบาลออสเตรเลียให้ทุนนักเรียนแลกเปลี่ยนในโคลัมโบแพลนระหว่างปี 2015-2018 ทั้งหมด 939 คน โดยปี 2017 ที่ผ่านมา มีจำนวน 148 คน และปี 2018 มีนักศึกษาทุนโคลัมโบแพลนมาประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นเป็น 432 คน เช่น กรณี “ลีอา เอ็มมานูเอล” นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ที่มาเรียนรู้เรื่องเคหะชุมชนเมือง ความหนาแน่น

และที่ว่าง ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วน “ซิสซี่ เช็น” นักศึกษาปริญญาตรีด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยแมคควอรี เตรียมมาศึกษาต่อด้านพฤติกรรมคนไทยในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่นกัน พร้อมกันนี้ นักศึกษาทั้งสองคนได้เข้าฝึกงานและอบรมกับองค์กรในประเทศไทย อาทิ มูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย องค์การนิรโทษกรรมสากล และสหประชาชาติ เป็นต้น

นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังได้ก่อตั้ง “สภาออสเตรเลีย-อาเซียน” เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะในด้านธุรกิจ การศึกษา วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม ศิลปวัฒนธรรม และการติดต่อระหว่างภาคประชาชนด้วย