เศรษฐกิจโลกจ่อถดถอย เมื่อไร้ปาฏิหาริย์จากจีน

เศรษฐกิจโลกจ่อถดถอย
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

เมื่อครั้งที่โลกตะวันตกประสบปัญหาทางการเงินระดับวิกฤตในปี 2008 หัวรถจักรที่ผลักดันให้เศรษฐกิจของทั้งโลกขยายตัวต่อไปได้ เปิดโอกาสให้ชาติตะวันตกมีเวลาในการจัดการ “ทำความสะอาด” บ้านของตัวเองและกลับมาฟื้นตัวได้ในไม่ช้าไม่นานคือจีน

จีนอาศัยโปรแกรมกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดมหึมาของตนทำให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเศรษฐกิจขยายตัวสูงจนสามารถชดเชยการชะลอตัวในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกได้ และในเวลาเดียวกันก็ทำให้ยักษ์ใหญ่ในเอเชียชาตินี้กลายเป็นเครื่องยนต์ที่ใหญ่ที่สุดที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้งโลกมานับตั้งแต่บัดนั้นจนกระทั่งถึงตอนนี้

ยามนี้ เมื่อเศรษฐกิจทั่วโลกตกอยู่ในสภาพโซซัดโซเซ จวนจะเข้าสู่สภาวะถดถอยอีกครั้งหนึ่ง ความคาดหวังในทำนองเดียวกันว่า เศรษฐกิจจีนจะพลิกฟื้นอย่างรวดเร็วและก้าวรุดหน้าไปเพื่อพยุงเศรษฐกิจของทั้งโลกให้เดินหน้าต่อไปได้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

แต่ในความเป็นจริง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในครั้งนี้ ไม่เพียงไม่สม่ำเสมอ ยังขาดสมดุล และเต็มไปด้วยเงื่อนปมต่าง ๆ มากมายทั้งภายในและภายนอก

หลายปัจจัยทำให้ยากอย่างยิ่งที่จีนจะสร้างปรากฏการณ์ปาฏิหาริย์ ผลักดันเศรษฐกิจของตนเองให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่ง จนสามารถเข้าอุ้มเศรษฐกิจของทั้งโลกให้รุดหน้าไปได้อีกครั้งหนึ่ง

ดัชนีชี้วัดสภาพเศรษฐกิจล่าสุดสะท้อนให้เห็นปัญหาเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน

การนำเข้าของจีนในเดือนเมษายน ลดลงอย่างฮวบฮาบถึง 7.9% ขณะที่การส่งออกก็ขยายตัวในอัตราต่ำลงอย่างชัดเจน จาก 14.8% ในเดือนมีนาคมเหลือเพียง 8.5% เท่านั้นในเดือนเมษายน

ในเดือนเดียวกัน การกู้ยืมใหม่จากธนาคารในเดือนเดียวกันยอดรวมอยู่ที่เพียง 718,800 ล้านหยวน ลดลงมาเหลือไม่ถึง 1 ใน 5 ของยอดกู้ยืมใหม่ในเดือนมีนาคมเท่านั้นเอง

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในอดีต ส่งผลให้เกิดหนี้สินมหาศาลขึ้นตามมา เมื่อเดือนมีนาคม กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนว่า เฉพาะหนี้สินของรัฐบาลระดับมณฑลของจีนในเวลานี้ ก็มีมากถึง 66 ล้านล้านหยวน

เทียบแล้วเท่ากับครึ่งหนึ่งของจีดีพีของจีนเลยทีเดียว

สตีฟ ซ่าง ผู้อำนวยการสถาบันจีน สังกัดสำนักตะวันออกและแอฟริกาศึกษา ในกรุงลอนดอน ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคงไม่ถึงกับทำให้เศรษฐกิจจีนยุบตัวครืน เพียงแต่การพลิกฟื้นกลับมาขยายตัวอย่างรวดเร็วในระดับเลขสองหลักเหมือนในทศวรรษ 2010 นั้น “เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว”

ในห้วงเวลาเดียวกัน ปัญหาในทางภูมิรัฐศาสตร์ก็เกิดขึ้นซ้ำเติมอย่างต่อเนื่อง ความพยายามวางตัวเป็นกลางและท่าทีที่เป็นมิตรต่อรัสเซียที่ส่งกองทัพมหาศาลบุกเข้ายึดครองยูเครน ก่อนลุกลามขยายตัวครอบคลุมไปถึงปัญหาไต้หวัน ยิ่งส่งผลให้เกิดท่าทีเป็นปฏิปักษ์กันมากขึ้นระหว่างจีนกับชาติตะวันตกทั้งหลาย

“พูชาน ดัตต์” ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จาก INSEAD business school ในสิงคโปร์ ชี้ว่าประเด็นไต้หวัน หากเกิดสงครามขึ้นหรือแม้แต่หากเกิดความตึงเครียดทวีมากขึ้นก็จะกลายเป็นประเด็นใหญ่โตตามมา บริษัทข้ามชาติทั้งหลายจะแห่กันอพยพออกจากจีน ตลาดที่เคยรองรับสินค้าส่งออกจากจีนก็จะปิดสนิท การแซงก์ชั่นจีนจะเกิดขึ้นตามมา

“คริสตีน ลาร์การ์ด” ประธานธนาคารกลางแห่งยุโรป ก็เตือนว่า เป็นไปได้ที่เศรษฐกิจโลกจะแตกตัวออกเป็นส่วน ๆ เป็นปฏิปักษ์ซึ่งกันและกัน ส่วนหนึ่งนำโดยจีนและอีกส่วนหนึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำ

ลาร์การ์ดเชื่อว่าหากเป็นเช่นนั้นจริง การขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกก็สุ่มเสี่ยงจะเป็นอันตรายและภาวะเงินเฟ้อก็จะยิ่งพุ่งสูงและแรงยิ่งขึ้น

อีกปัจจัยที่ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนไม่พุ่งแรงและรวดเร็วเหมือนก่อนหน้านี้นั้น เกิดจากนโยบายของจีนที่หันมาเน้นให้ความสำคัญกับการขยายตัวของเศรษฐกิจในเชิงคุณภาพ มากกว่าจะเป็นในเชิงปริมาณเหมือนที่ผ่านมา

ดัตช์เชื่อว่าจีนพยายามเปลี่ยนตัวเองจากการเป็นโรงงานผลิตสินค้าระดับโลว์เอนด์ ให้กลายเป็นผู้นำใน “อุตสาหกรรมแห่งอนาคต” อาทิ เอไอ, หุ่นยนต์หรือเซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงจุดโฟกัสทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมหนักมาเป็นการพึ่งพานวัตกรรมและการบริโภคภายในประเทศ ย่อมก่อให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจขึ้นโดยธรรมชาติ

สตีฟ ซ่าง ชี้ว่า แม้ประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจจีนให้แข็งแกร่ง สดใส เต็มไปด้วยพลวัตและนวัตกรรม แต่ในเวลาเดียวกัน สี จิ้นผิง เองก็กำหนดนโยบายที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม

เขาชี้ว่าอำนาจเบ็ดเสร็จของ สี จิ้นผิง ทำให้ยากที่องคาพยพอื่น ๆ ของรัฐบาลจะปรับตัว ปฏิรูปตามความจำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงทางเศรษฐกิจได้


เท่ากับว่า “สี จิ้นผิง” เป็นตัวการดึงเศรษฐกิจจีนให้ถอยหลังกลับอยู่บ้างนั่นเอง