นายกฯจีนตำหนิสหรัฐ-ยุโรปย้ายฐานผลิต ทำโลกแตกแยก โน้มน้าวนักลงทุนอยู่จีนต่อ

หลี่ เฉียง นายกฯจีน
หลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวในงาน Summer Davos 2023 ในนครเทียนจิน ประเทศจีน/ Photo by Tingshu Wang/ REUTERS

หลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนตำหนิการย้ายฐานผลิตของสหรัฐและยุโรปออกจากประเทศในเอเชีย (ซึ่งส่วนใหญ่คือจีน) ว่า เป็นการทำให้เรื่อง “เศรษฐกิจ” กลายเป็นเรื่อง “การเมือง” ทำให้เศรษฐกิจโลกแตกแยกเป็นเสี่ยง ๆ พร้อมโน้มน้าวนักลงทุนอยู่จีนต่อ

วันที่ 27 มิถุนายน 2566 สำนักข่าว Bloomberg รายงานจาก World Economic Forum of the New Champions หรือ “Summer Davos 2023” ที่นครเทียนจิน ประเทศจีนว่า นายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง (Li Qiang) ของจีนกล่าวสุนทรพจน์ในงานโดยเตือนรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ว่า การที่สหรัฐอเมริกาและยุโรปดำเนินกระบวนการ “de-risk” ห่วงโซ่อุปทาน หรือการย้ายการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงออกจากประเทศในเอเชียนั้น เป็นความพยายามที่จะทำให้เรื่องเศรษฐกิจกลายเป็นเรื่องการเมือง ซึ่งมีแต่จะทำให้โลกแตกแยกออกเป็นเสี่ยง ๆ 

“กำแพงที่มองไม่เห็นซึ่งสร้างขึ้นโดยบางคนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากำลังแพร่หลายและผลักดันโลกไปสู่ความแตกแยกและแม้กระทั่งการเผชิญหน้า”

“เราควรต่อต้านการนำประเด็นทางเศรษฐกิจมาเป็นประเด็นทางการเมือง และควรทำงานร่วมกันเพื่อให้อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกมีเสถียรภาพ ราบรื่น และมั่นคง” ผู้นำอันดับ 2 ของจีนกล่าว 

การแสดงความคิดเห็นของนายกรัฐมนตรีจีนมีขึ้นในขณะที่มีข่าวว่า ฝ่ายบริหารของสหรัฐอเมริกาผลักดันคำสั่งฝ่ายบริหารที่จะควบคุมและอาจตัดการลงทุนบางส่วนของสหรัฐในประเทศจีน และในขณะที่สงครามของรัสเซียในยูเครน ทำให้เกิดข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับเสถียรภาพในอนาคตของตลาดพลังงานโลก

ในการเดินทางเยือนยุโรปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อพยายามที่จะรีเซตความสัมพันธ์กับยุโรปที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่ หลี่ เฉียงก็กล่าวถึงการ “de-risk” ของสหรัฐและยุโรป ซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐบาลจีนวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเหตุให้เกิดการแบ่งแยกทางเศรษฐกิจ และเป็นอันตรายต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและการลงทุน ก่อนที่จะมาย้ำอีกครั้งบนเวที Summer Davos ในประเทศของตัวเอง 

งานประชุม Summer Davos 2023 ที่จัดขึ้นสามวันในนครเทียนจินเป็นโอกาสสำหรับจีนในการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศและรัฐบาลทั่วโลก การประชุมนี้ผู้นำทั้งจากฝั่งเศรษฐกิจและการเมืองเข้าร่วม เช่น คริส ฮิปกินส์ (Chris Hipkins) นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์, เอ็นโกซี โอคอนโจ-ไอวีเอล (Ngozi Okonjo-Iweala) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) และไฟซาล อาลีบราฮิม (Faisal Alibrahim) รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและการวางแผนของซาอุดีอาระเบีย

นอกจากประเด็นการย้ายฐานการผลิตของชาติตะวันตก และความแยกทางเศรษฐกิจแล้ว บนเวที Summer Davos 2023 หลี่ เฉียง กล่าวถึงแผนผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ซึ่งการฟื้นตัวยังไม่ดีอย่างที่คาด และมีสัญญาณเตือนมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงแนวโน้มที่ไม่สู้ดีในปีนี้ 

นายกรัฐมนตรีจีนคาดการณ์แนวโน้มเชิงบวกสำหรับเศรษฐกิจภายในประเทศของจีน ให้ความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนว่าจีน “มีความมั่นใจอย่างเต็มที่และมีความสามารถ” ในการพัฒนาการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ และเติบโตอย่างมีคุณภาพสูงในระยะยาว และเขากล่าวว่า ประเทศจีนจะ “ออกมาตรการที่ใช้ได้จริงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น” ในการเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศและกระตุ้นพลวัตของตลาด 

หลี่ เฉียง นายกฯจีน
หลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวในงาน Summer Davos 2023 ในนครเทียนจิน ประเทศจีน/ Photo by Tingshu Wang/ REUTERS


คำมั่นสัญญาของหลี่ เฉียง ส่วนใหญ่เป็นการย้ำคำแถลงก่อนหน้านี้ของทางการจีน และให้คำตอบที่เป็นรูปธรรมเพียงเล็กน้อยแก่นักลงทุนซึ่งตื่นตัวและจับตามองอย่างมากเกี่ยวกับมาตรการสนับสนุนใหม่ ๆ จำนวนมากที่รัฐบาลจีนออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นับตั้งแต่การลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง (PBOC) เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

หลี่ เฉียง กล่าวว่า จีนกำลังจะบรรลุเป้าหมายการเติบโตของรัฐบาลที่ตั้งเป้าในปีนี้ไว้ประมาณ 5% ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ถูกมองว่าค่อนข้างอนุรักษนิยมอยู่แล้ว แม้ว่าวาณิชธนกิจรายใหญ่หลายแห่งปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนลงแล้ว แต่สถาบันเหล่านั้นก็ยังคงเห็นว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 5.5% ในปีนี้

“มีการมองโลกในแง่ดีเล็กน้อยที่เกิดขึ้นจากสุนทรพจน์ [ของนายกฯ] แต่ผมไม่คิดว่าเขาจะประกาศอะไรที่เป็นรูปธรรม” หลิง เหวย-เซิร์น (Ling Vey-Sern) กรรมการผู้จัดการของบริษัทธนาคารและบริหารความมั่งคั่ง Union Bancaire Privee แสดงความเห็นต่อการกล่าวสุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรีจีน

หลี่ เฉียง อดีตผู้บริหารนครเซี่ยงไฮ้ที่เคยประสบความสำเร็จกับการดึงเทสลาไปตั้งโรงงานในเซี่ยงไฮ้ กำลังพยายามหาทางดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าประเทศท่ามกลางความเชื่อมั่นที่ตกต่ำ

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนลดลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แม้ว่าจะเป็นบวกในไตรมาสแรกของปี 2566 นี้ แต่จากการสำรวจความเห็นผู้ประกอบการของสภาหอการค้าแห่งสหภาพยุโรป (European Union Chamber of Commerce) ที่เผยแพร่ในเดือนนี้ แสดงให้เห็นว่าบริษัทในยุโรปกล่าวว่าการทำธุรกิจในจีนยากขึ้น สะท้อนว่าการดึงนักลงทุนต่างชาติอาจไม่ง่ายนัก 

แกรี่ อึ้ง (Gary Ng) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของสถาบันการเงิน Natixis วิเคราะห์ว่า จีนค่อนข้างมั่นใจในแง่การรักษาเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งแนวทางที่ทางการจีนทำได้คือ มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมามากขึ้น และอาจมีการผ่อนคลายกฎระเบียบด้วย 

เขาบอกว่า “ยังคงต้องพิจารณาต่อไปว่านโยบายรูปแบบไหนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทต่างชาติสามารถลงทุนในจีนต่อไปได้ง่ายมากหรือน้อยเพียงใด “คำพูดเป็นปัจจัยหนึ่ง แต่เราต้องพิจารณาถึงการกระทำที่ตามมาด้วย”

ทั้งนี้ รายละเอียดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการผ่อนคลายกฎระเบียบ น่าจะมีออกมาในเดือนกรกฎาคม หลังการประชุมสำคัญของคณะกรรมการกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (โปลิตบูโร) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดในประเทศจีน นำโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง