ยอดขาย “ตั๋วหนัง” โลกชะลอตัว ผู้ชมย้ายเข้า “ออนไลน์สตรีมมิ่ง”

ปีนี้วงการภาพยนตร์โลกต้องปรับตัวอย่างหนัก หลังจากยอดขายตั๋วหนังทั่วโลกไม่โตอย่างที่คาด เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม และสื่อทางเลือกอื่น ๆ เติบโตรองรับความต้องการได้ทั่วถึงมากขึ้น

ผลสำรวจปีที่ผ่านมา จาก “โมชั่นพิคเจอร์ แอซโซซิเอชั่น แห่งสหรัฐอเมริกา” (MPAA) ระบุว่า ยอดขายตั๋วหนังทั่วโลกเติบโต 5% อยู่ที่มูลค่า 40,600 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่ตัวขับเคลื่อนยอดขายสำคัญไม่ใช่ชาวอเมริกันและแคนาดาเหมือนเดิม แต่คือ “จีนแผ่นดินใหญ่” ซึ่งตลาดเติบโตมากถึง 21% ด้วยมูลค่า 7.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมคือ “วูล์ฟ วอริเออร์ 2” ภาพยนตร์สัญชาติจีน ซึ่งทำรายได้ในประเทศมากถึง 854.2 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับ “รัสเซีย” ยอดขายตั๋วเติบโต 22% ด้วยมูลค่าตลาด 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ “บราซิล” เติบโต 15% มูลค่าตลาดอยู่ที่ 900 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ในอเมริกาและแคนาดา ยอดซื้อตั๋วหนังลดลง 2% จากปีก่อน มูลค่าตลาดอยู่ที่ 11,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะทั่วโลก(ยกเว้นอเมริกา) ยอดขายเติบโต 7% รวมมูลค่า 29,500 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปี 2017 ชาวอเมริกันและชาวแคนาเดียนเข้าโรงภาพยนตร์ลดลง โดยตั๋วหนังขายได้ทั้งหมดเพียง 1.24 พันล้านใบ ลดลง 6% จากปี 2016 และต่ำสุดตั้งแต่ปี 1995

สรุปได้ว่า ในปี 2017 โดยเฉลี่ยชาวอเมริกันและแคนาเดียนดูหนังเพียง 3.6 เรื่องเท่านั้น และเมื่อยอดขายตั๋วลดลง วงการภาพยนตร์โลกจึงต้องหาแนวทางการนำเสนอภาพยนตร์ใหม่ ๆ โดยไม่ทำหนังแนวใหม่แต่จะเน้นออกฉายภาพยนตร์ที่มั่นใจว่าจะ “ประสบความสำเร็จ” ให้มากขึ้น เช่น “แบล็ค แพนเตอร์” ที่จะออกฉายในปีนี้

นอกจากนี้พบว่าผู้ผลิตก็ทำหนังลดลง โดยในปี 2017 “ฮอลลีวูด เมเจอร์ สตูดิโอ”ส่งหนังออกฉายเพียง 130 เรื่อง ขณะที่ในปี 2015 และ 2016 ออกฉาย 147 เรื่องและ 139 เรื่องตามลำดับ

อิทธิพลสำคัญที่กระทบต่อยอดขายตั๋วโลก เป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจาก “นิว ดิจิทัล เอ็นเตอร์เทนเมนต์” หรือบรรดาวิดีโอสตรีมมิ่ง ซึ่งเข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ของผู้บริโภค ที่สามารถเลือกดูหนังออนไลน์ได้ตามใจชอบ ที่ไหนก็ได้ เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตMPAA รายงานผลสำรวจว่า ผู้ใช้งานดิจิทัลมีเดียเพิ่มขึ้น 31% โดยเฉพาะ “เน็ตฟลิกซ์” แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลก ซึ่งมีทั้งซีรีส์ภาพยนตร์ที่ผลิตเอง การ์ตูน รายการทีวี จากหลากหลายประเทศทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะสหรัฐ อังกฤษ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และอินเดีย ซึ่งในปีที่ผ่านมามูลค่ากิจการเพิ่มขึ้น 47% สู่ 22,4000 ล้านเหรียญสหรัฐ

การผงาดของวิดีโอสตรีมมิ่ง ทำให้ค่ายผลิตภาพยนตร์ทั่วโลกไม่ได้มองคู่แข่งในวงการเป็นคู่แข่งสำคัญอีกต่อไป เพราะปัจจุบันไม่ว่าจะ “เน็ตฟลิกซ์””ไอฟลิก” “ไพรม์วิดีโอ” จากอเมซอน

ต่างก็คือผู้เล่นคนสำคัญที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดผู้ชมอย่างไม่ต้องสงสัย

อย่างไรก็ตาม จุดหนึ่งที่น่าติดตามต่อ คือ “ตลาดจีน” ซึ่งปัจจุบันฮอลลีวูดพึ่งพาตัวเลขผู้ชมแดนมังกรอยู่ไม่น้อย แต่ขณะเดียวกันยักษ์ไอทีจีนหลายรายต่างหันมารุกตลาดวิดีโอสตรีมมิ่งอย่างเต็มตัว

โดยเฉพาะ “เทนเซนต์” เจ้าของแอปสนทนาออนไลน์ “วีแชต” ซึ่งลุยพัฒนา “เทนเซนต์ วิดีโอ” เต็มกำลัง

โดยปักหมุดว่าธุรกิจหลักของบริษัทในปี 2018 คือ “วีแชต” และ “วิดีโอสตรีมมิ่ง” เนื่องจากจีนไม่ต้อนรับสื่อจากต่างชาติเท่าไหร่ ทำให้การบุกตลาดจีน โดยบริษัทสัญชาติจีนดูจะไปได้สวยไม่น้อย คาดการณ์

จากสำนักวิจัย “IHS Markit” ระบุว่า ในปี 2020 มูลค่าตลาดวิดีโอจีนจะสูงถึง 15,200 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปี 2015 ที่มูลค่าเพียง 3,500 ล้านเหรียญ

ความน่ากลัวของ “เทนเซนต์ วิดีโอ” คือโอกาสในการดึงผู้ใช้งานจากแอปวีแชตเกือบพันล้านคน มาอยู่บนสตรีมมิ่งของตัวเองได้ ซึ่งเมื่อสิงหาคมปีก่อน เทนเซนต์วิดีโอเป็นสตรีมมิ่งอันดับ 1 ของจีนที่มีแอ็กทีฟยูสเซอร์มากถึง 457 ล้านคน

และนอกจากค่ายเทนเซนต์ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งของจีนยังมี “iQiyi” ของไป่ตู้ ที่ดึงรายการมาจากทั้งไลอ้อนเกต, พาราเมาต์ รวมถึงเน็ตฟลิกซ์ มาลงในแพลตฟอร์ม และ “Youku Tudou” จากอาลีบาบา ที่กำลังสร้างฐานผู้ใช้งานอย่างขยันขันแข็ง ผ่านผู้ใช้งานอีคอมเมิร์ซของตัวเองด้วย

  • โดยปีที่แล้ว ก็มีรายงานสำรวจว่าคนจีนเริ่มมีพฤติกรรมในการชมภาพยนตร์ “เปลี่ยนไป” ไม่ได้สนใจดูหนังแอ็กชั่น บู๊ระห่ำมากเท่าเดิม แต่เริ่มสนใจภาพยนตร์และสื่อนอกกระแสเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดหลาย ๆ เรื่อง เช่น “ทรานส์ฟอร์เมอร์ 5” แฟรนไชส์หนังที่ทำรายได้ในประเทศอื่นแทบไม่ได้เลย นอกจากในประเทศจีน แต่ตลาดจีนเองก็มียอดผู้ชมน้อยลงกว่าภาคก่อน ๆพอสมควร

หากถึงวันที่ผู้บริโภคจีนเปลี่ยนพฤติกรรมการชมภาพยนตร์ คงจะเป็น “disruptive” แห่งโลกภาพยนตร์โลกครั้งใหญ่เลยทีเดียว