จับตา “สายเหยี่ยว” มะกัน บุกถกปมการค้าถึงจีน

บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็น “พี่เบิ้ม” ในบรรดาสายเหยี่ยวด้านการค้าเท่าที่มีอยู่ในฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ 3 คน ประกอบด้วย โรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา, แลร์รี คัดโลว์ประธานสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ และ ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาด้านการค้าประจำทำเนียบประธานาธิบดี มีกำหนดจะเดินทางไปจีน โดยมี สตีฟ มนูชิน รัฐมนตรีคลัง เป็นหัวหน้าคณะ เพื่อเจรจาปัญหาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนในระหว่างวันที่ 3 และ 4 พฤษภาคมนี้

คณะตัวแทนของสหรัฐมีกำหนดจะพบหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนหลายคน รวมทั้งผู้นำสูงสุดของจีนในเวลานี้อย่างประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และรองประธานาธิบดี หวัง ฉีซาน อีกด้วย

นักสังเกตการณ์บางรายบอกว่า หากพิจารณาจากกำหนดการบังคับใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐแล้ว ถือได้ว่าการเดินทางไปเจรจาการค้าของคณะผู้แทนสหรัฐในครั้งนี้ อาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่ทั้งสองฝ่ายจะหาทางออกเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิด “สงครามการค้า” ขึ้นก็เป็นได้

มาตรการตั้งกำแพงภาษีสำหรับสินค้าจากจีนระลอกแรกของสหรัฐรวมมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ กำลังอยู่ระหว่างกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจนถึงวันที่ 11 พฤษภาคมนี้ และกำหนดให้องค์กรธุรกิจแสดงความคิดเห็นในวันที่ 15 พฤษภาคม โดยโฆษกของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐระบุว่า มาตรการดังกล่าวสามารถบังคับใช้ได้ในทันทีที่ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น

หลังจากนั้นก็อาจมีระลอกหลังตามมาอีก คราวนี้รวมมูลค่าสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์มีการตั้งข้อสังเกตกันด้วยว่า แม้ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา จีนจะแสดงท่าทีผ่อนปรนออกมาในหลายเรื่องที่เกี่ยวกับการตั้งกำแพงภาษี เรื่องการขาดดุลการค้า และเรื่องข้อจำกัดในการเข้าถึงตลาดจีน โดยเชื่อว่าจะทำให้ผู้นำสหรัฐพอใจ สามารถนำมาใช้เป็นข้ออ้างในทางการเมืองและเลิกรา “สงครามการค้า” ที่ฮึ่ม ๆ เข้าใส่กันมาตลอดปัญหาก็คือ นักสังเกตการณ์ชี้ว่า สิ่งที่จีนพยายามอ่อนข้อให้นั้นเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของปัญหาใหญ่ที่เป็นปัญหาในเชิงระบบ และเชื่อว่าฝ่ายสหรัฐเองก็คงตระหนักดีว่า นั่นไม่ใช่สิ่งที่เรียกร้อง และการยินยอมแลกเรื่องเหล่านี้กับการปล่อยให้จีนหลุดจากแรงกดดันออกจะเป็นเรื่องไม่คุ้มค่า โดยเฉพาะหากคำนึงถึงสถานการณ์ในระยะยาว

เจ้าหน้าที่ระดับสูงในทำเนียบขาว เปิดเผยกับวอชิงตันโพสต์ไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า ทรัมป์ยังคงยืนกรานคงเป้าหมายระยะยาวของตนเอาไว้ต่อไป

นั่นหมายความว่าการเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้คงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ และคงไม่มีฝ่ายใดยินยอมอ่อนข้อรามือกันแน่นอน

เนื่องจาก เชื่อกันว่าเป้าหมายใหญ่ของสหรัฐในครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การขจัดการเข้ามาสนับสนุนภาคเอกชนโดยภาครัฐของจีน ซึ่งส่งผลให้เกิดความได้เปรียบทั้งในด้านการลงทุน,

ก่อให้เกิดพันธะทางการค้าระหว่างประเทศแบบที่ไม่กังวลถึงกฎระเบียบใด ๆ, การไม่ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล ขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ทำให้เกิดการบังคับให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี, มีการละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงความพยายามที่จะมีอิทธิพลครอบงำภาคเทคโนโลยีในอนาคตอย่างไม่เป็นธรรม ด้วยการใช้งบประมาณของทางการสนับสนุนบริษัทธุรกิจ ภายใต้ข้ออ้างว่าเป็น “เนชั่นแนล แชมเปี้ยน” ทำให้ได้เปรียบในการแข่งขันถู ซินฉวน ผู้อำนวยการสถาบันดับเบิลยูทีโอศึกษา ในสังกัดมหาวิทยาลัยเศรษฐกิจและธุรกิจนานาชาติของจีน ให้ความเห็นไว้คล้ายคลึงกันว่า ความกังวลของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่การได้เห็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วของจีน เช่นเดียวกับการอุดหนุนจากรัฐบาลจีนที่ส่งผลให้บริษัทจีนมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น

“สหรัฐอเมริกาต้องการรักษาความได้เปรียบทางเทคโนโลยีเหนือจีนเอาไว้ แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องการได้ประโยชน์จากพัฒนาการของจีนพร้อมกันไปด้วย”

ถู ซินฉวน จึงยังมองไม่เห็นว่าการเผชิญหน้าทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาจะพบทางออกได้ในระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ ดีเร็ก เอ็ม. ซิสเซอร์ส นักวิชาการประจำสถาบันอเมริกันเอ็นเทอร์ไพรส์ ในวอชิงตัน ที่ไม่เชื่อว่าทางการจีนจะตกลงดำเนินการอะไรจริง ๆ จัง ๆ ตามความต้องการของสหรัฐอเมริกา จากการพบหารือกันในปักกิ่งครั้งนี้

ซิสเซอร์สชี้ว่า สิ่งที่สหรัฐอเมริกาต้องการนั้น จะได้รับการตอบสนองก็ต่อเมื่อจีนยินยอมรื้อนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมของตนใหม่ทั้งหมด ซึ่งไม่เชื่อว่าทางการปักกิ่งจะยินดีทำในเวลานี้

นักสังเกตการณ์ทั่วไปเห็นตรงกันว่า จีนจะยังคงไม่ยอมปฏิรูประบบของตนตามความต้องการของสหรัฐอเมริกาจนกว่ามาตรการของสหรัฐอเมริกาสามารถสร้างความเจ็บปวดให้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจจีนได้ และจะสร้างความเจ็บปวดให้กับจีนได้ก็ต้องยืดอกรับผลกระทบที่เจ็บปวดต่อเศรษฐกิจอเมริกันที่เกิดขึ้นควบคู่กันไปอย่างแน่นอนด้วย

คำถามสำคัญก็คือ โดนัลด์ ทรัมป์ กับทีมงานสายเหยี่ยวของตน พร้อมแล้วที่จะรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นนี้แล้วหรือไม่

เพราะนั่นหมายถึงว่า การเจรจาที่จะเกิดขึ้นในกรุงปักกิ่งหนนี้จะยังไม่มีความตกลงใด ๆ เกิดขึ้น และความตึงเครียดทางการค้าระหว่างยักษ์เศรษฐกิจ 2 ประเทศก็จะทวีความรุนแรงขึ้นถึงขีดสุดอีกครั้งหนึ่ง