โลกกังวล “ตลาดเกิดใหม่” เจอพิษดอลล์แข็ง-ยีลด์บอนด์พุ่ง

REUTERS/Thomas White/Illustration/File Photo

เงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นและผลตอบแทน (ยีลด์) พันธบัตรของสหรัฐที่พุ่งขึ้นทะลุ 3% ไปอยู่ที่ 3.09% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งสูงสุดในรอบ 7 ปี กำลังสร้างความกังวลให้กับตลาดทั่วโลกเพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบด้านลบต่อตลาดเกิดใหม่ (emerging markets หรือ EM) เนื่องจากจะมีปัญหาในการชำระหนี้ในรูปดอลลาร์ที่ได้กู้ยืมมา เพราะหมายถึงว่าต้นทุนการชำระหนี้จะสูงขึ้น อีกทั้งต้นทุนการกู้ยืมภายหน้าก็จะสูงขึ้นด้วย

ยีลด์พันธบัตรสหรัฐที่สูงขึ้น ส่งสัญญาณว่าตลาดคาดหมายว่าธนาคารกลางสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ประมาณการไว้เดิม ซึ่งเป็นผลให้ค่าเงินในตลาดเกิดใหม่อ่อนตัวลง และนั่นกดดันให้เงินลงทุนไหลออกจากตลาดหุ้น EM เช่นกัน โดยวันอังคารที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมาดัชนี MSCI ของอัตราแลกเปลี่ยนตลาดเกิดใหม่อ่อนลง 1.07% มากที่สุดนับจากกลางปี 2559 รวมแล้วจนถึงไตรมาสนี้ลดลงไปแล้ว 2.83%

ขณะที่ดัชนี MSCI ของตลาดหุ้น EM ลดลงเกือบ 50% มากกว่าตลาดหุ้นทั่วโลกนับจากเดือนมกราคมปีนี้ นอกจากนี้พันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นของตลาดเกิดใหม่ก็อยู่ในภาวะย่ำแย่สุดในรอบ 2 เดือน นับจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ

ที่ผ่านมาความคึกคักของตลาดเกิดใหม่เป็นผลสืบเนื่องจากสหรัฐได้กดดอกเบี้ยไว้ต่ำมากเป็นเวลาหลายปีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้มีการนำเงินดอลลาร์ไปแสวงหาผลตอบแทนนอกประเทศที่สูงกว่า รวมทั้งจูงใจให้มีการนำเงินเข้าไปลงทุนทั้งในตลาดหุ้นสหรัฐและนอกประเทศ ซึ่งตามข้อมูลของบลูมเบิร์ก อานิสงส์ดังกล่าวทำให้ประเทศตลาดเกิดใหม่ 12 ประเทศ (ไม่รวมจีน) มีทุนสำรองระหว่างประเทศเกิน 3.2 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายนปีนี้ พุ่งขึ้นจากปี 2552 ที่มีไม่ถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์

ตามข้อมูลของ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (ไอไอเอฟ) ชี้ว่า ปีที่แล้วประเทศตลาดเกิดใหม่มีหนี้รวมกัน 63.4 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่มีเพียง 21 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเมื่อเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นก็น่ากังวลเพราะต้นทุนดอกเบี้ยในการชำระหนี้จะสูงขึ้น

ทั้งนี้ไอเอเอฟระบุว่า ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ต้องการเงินทุนสูงมากในขณะนี้ก็คือตุรกี อาร์เจนตินา แอฟริกาใต้ ยูเครน และอินเดีย ซึ่งการที่ดอกเบี้ยสหรัฐอยู่ในขาขึ้นจะทำให้ประเทศเหล่านี้มีต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น ขณะที่ประเทศฮังการี เกาหลีใต้ ไทย โปแลนด์ และสาธารณรัฐเช็ก มีมูลค่าสินทรัพย์ตึงตัวมากที่สุด

นักกลยุทธ์ด้านดอกเบี้ยของบีเอ็มโอ แคปิตอล มาร์เก็ต ระบุว่า ช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ตลาดพุ่งความสนใจไปที่การเพิ่มขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐ ซึ่งผ่านระดับจิตวิทยาคือ 3% ไปแล้ว และเชื่อว่าระดับต่อไปของยีลด์พันธบัตรดังกล่าวจะขยับไปอยู่ที่ 3.21% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปี 2554 และนั่นจะเป็นปัจจัยทางเทคนิคที่จะทำให้เกิดการเทขายทางด้านบรรดาผู้จัดการกองทุนต่าง ๆ ซึ่งสำรวจโดยแบงก์ออฟอเมริกา เมอร์ลิน ลินช์ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เราจะยืนดูอยู่ข้าง ๆ และรอให้แรงขายบรรเทาลงก่อนจึงจะเข้าซื้อ ตอนนี้จุดยืนของตลาดมองว่ายีลด์พันธบัตรจะสูงขึ้นอีก ดังนั้นสิ่งที่ตลาดเงินนิยมทำกันมากในตอนนี้ก็คือขาย”

ที่ผ่านมาการคงดอกเบี้ยต่ำของสหรัฐ มีจุดประสงค์เพื่อบังคับให้นักลงทุนไม่เก็บเงินสด แต่ให้นำไปลงทุนในตลาดหุ้น พันธบัตรและสินทรัพย์การเงินอื่น ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งได้ผลเพราะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวขึ้นมาในระดับน่าพอใจในปัจจุบัน จึงถึงเวลาขึ้นดอกเบี้ยดังที่เฟดได้ปรับขึ้นมาเป็นระยะ และสะท้อนออกมาทางยีลด์พันธบัตรที่สูงขึ้น โดยล่าสุดนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 1 ทศวรรษที่ยีลด์พันธบัตรอายุ 3 ปีสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเงินปันผลหุ้นในดัชนีเอสแอนด์พี 500

กล่าวคือ หุ้นในดัชนีเอสแอนด์พี 500 ให้เงินปันผล 1.89% ต่ำกว่ายีลด์พันธบัตรอายุ 3 ปีประมาณ 0.01%